พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 156-160

                                                            หน้าที่ ๑๕๖

ได้เป็นผู้เก้อแล้วแล ภิกษุทั้งหลายจักถามเจ้าอย่างนี้ อาพาธเห็นปานนี้ของเจ้ามีหรือ? คือ
โรคเรื้อน ฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู? เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เป็นชายหรือ เป็นไทหรือ
ไม่มีหนี้สินหรือ มิใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ มีปีครบ ๒๐ แล้วหรือ บาตร
จีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร?
                ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาด้วยกัน แต่ทั้งสองไม่พึงเดินมาพร้อมกัน
คือ ภิกษุผู้สอนซ้อมต้องมาก่อน แล้วประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                คำเรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้ามา
                ท่านเจ้าข้า  ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้.
ข้าพเจ้าสอนซ้อมเขาแล้ว. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. ขอผู้มีชื่อนี้พึงมา.
                พึงเรียกอุปสัมปทาเปกขะว่า เจ้าจงมา.
                พึงให้อุปสัมปทาเปกขะนั้นห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง
ให้ประคองอัญชลีแล้ว พึงให้ขออุปสมบทดังนี้:-
                                                                คำขออุปสมบท
                ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์  เจ้าข้า ขอสงฆ์โปรดยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด  เจ้าข้า.
                ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่สอง เจ้าข้า ขอสงฆ์โปรดยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
เจ้าข้า.
                ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่สาม เจ้าข้า ขอสงฆ์โปรดยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
เจ้าข้า.
                                                คำสมมติตนเพื่อถามอันตรายิกธรรม
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า  ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้.
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. ข้าพเจ้าจะพึงถามอันตรายิกธรรมต่อผู้มีชื่อนี้ ดังนี้:-
                                                                คำถามอันตรายิกธรรม
                แน่ะ ผู้มีชื่อนี้  เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เราจะถามสิ่งที่เกิดแล้ว มีอยู่
พึงบอกว่ามี ไม่มี พึงบอกว่าไม่มี อาพาธเห็นปานนี้ของเจ้ามีหรือ? คือ โรคเรื้อน ฝี โรคกลาก


                                                            หน้าที่ ๑๕๗

โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู? เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เป็นชายหรือ เป็นไทหรือ ไม่มีหนี้สินหรือ
มิใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ มีปีครบ ๒๐ แล้วหรือ บาตรจีวรของเจ้ามี
ครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร?
                                                                กรรมวาจาอุปสมบท
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย. บาตรจีวรของเขาครบแล้ว. ผู้มีชื่อนี้ขอ
อุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว.
สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย. บาตรจีวรของเขาครบแล้ว. ผู้มีชื่อนี้
ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌายะ. การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย. บาตรจีวร
ของเขาครบแล้ว. ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. สงฆ์อุปสมบท
ผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ
ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย. บาตรจีวร
ของเขาครบแล้ว. ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. สงฆ์อุปสมบท


                                                            หน้าที่ ๑๕๘

ผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ. การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ
ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
   ผู้มีชื่อนี้สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                                                อุปสมบทกรรม จบ.
                                                                ______________
                                                                พระพุทธานุญาตให้บอกนิสสัย ๔
                [๑๔๓] ทันใดนั้นแหละ พึงวัดเงา พึงบอกประมาณแห่งฤดู พึงบอกส่วนแห่งวัน
พึงบอกสังคีติ พึงบอกนิสสัย ๔ ว่าดังนี้:-
                ๑. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะ
ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ คือภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตาม
สลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท.
                ๒. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ
คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าแกมกัน.
                ๓. บรรพชาอาศัยโคนต้นไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต.
อติเรกลาภ คือวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ.
                ๔. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ
คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.
                                                                นิสสัย ๔ จบ.
                                                                อกรณียกิจ ๔
                [๑๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุรูปหนึ่งแล้ว ทิ้งไว้แต่ลำพังแล้ว
หลีกไป. เธอเดินมาทีหลังแต่รูปเดียว ได้พบภรรยาเก่าเข้า ณ ระหว่างทาง. นางได้ถามว่า
เวลานี้ท่านบวชแล้วหรือ?


                                                            หน้าที่ ๑๕๙

                ภิกษุนั้นตอบว่า จ้ะ ฉันบวชแล้ว.
                นางจึงพูดชวนว่า เมถุนธรรมพวกบรรพชิตหาได้ยาก นิมนต์ท่านมาเสพเมถุนธรรม.
                ภิกษุนั้นได้เสพเมถุนธรรมในนางแล้ว ได้ไปถึงทีหลังช้าไป. ภิกษุทั้งหลายถามว่า
อาวุโส ท่านมัวทำอะไรชักช้าเช่นนี้.? เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายจึง
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                พระพุทธานุญาตให้บอกอกรณียกิจ ๔
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้
อุปสมบทแล้วให้ภิกษุอยู่เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจ ๔ ดังต่อไปนี้:-
                ๑. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย.
ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนบุรุษ
ถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจจะมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน  เสพเมถุนธรรมแล้ว
ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.
                ๒. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย โดยที่
สุดหมายเอาถึงเส้นหญ้า. ภิกษุใดถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี
ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกิดบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร.
เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้วไม่อาจจะเป็นของเขียวสด. ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอา
ของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่ง
ก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.
                ๓. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึง
มดดำมดแดง. ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก
ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว
เป็นของกลับต่อกันไม่ได้. ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ไม่เป็นสมณะ
ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.
                ๔. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่สุดว่า เรายินดียิ่ง
ในเรือนว่างเปล่า. ภิกษุใดมีความปรารถนาลามก  อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวด


                                                            หน้าที่ ๑๖๐

อุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่จริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี
มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วน
แล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ภิกษุก็เหมือนกัน มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำ
แล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย
พระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.
                                                                อกรณียกิจ ๔ จบ.
                                                เรื่องภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสียเป็นต้น
                [๑๔๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ยกเสีย ฐานไม่เห็นอาบัติ ได้สึกแล้ว.
เขากลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงวิธีปฏิบัติ ดังนี้:-
                                                                วิธีปฏิบัติในภิกษุผู้ถูกยกเสีย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ สึกไป.
เธอกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. พึงสอบถามเขาเช่นนี้ว่า เจ้าจักเห็นอาบัตินั้นหรือ?
ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักเห็นขอรับ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ
ไม่พึงให้บรรพชา. ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า เจ้าจักเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า
กระผมจักเห็นขอรับ พึงให้อุปสมบท, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ ไม่พึงให้อุปสมบท.
ครั้นให้อุปสมบทแล้ว พึงถามว่า ท่านจักเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักเห็น
ขอรับ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่. ครั้นเรียก
เข้าหมู่แล้ว พึงถามว่า ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเห็น การเห็นได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี
หากไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงยกเสียอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่เป็นอาบัติในเพราะสมโภค
และอยู่ร่วมกัน.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ยอมทำคืนอาบัติ
สึกไป. เธอกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. พึงสอบถามเขาเช่นนี้ว่า เจ้าจักทำคืนอาบัติ
นั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักทำคืนขอรับ  พึงให้บรรพชา, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่
ทำคืน ไม่พึงให้บรรพชา. ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ?

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘