พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 151-155

                                                            หน้าที่ ๑๕๑

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากัมพล.
                                                พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร ๖ ชนิด
                [๑๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรทั้งเนื้อดีและเลวเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย
ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า จีวรชนิดไรหนอแล พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดไรไม่ทรงอนุญาต
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือจีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วย
ขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยของเจือกัน ๑
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่ยินดีคหบดีจีวรนั้นพากันรังเกียจ ไม่ยินดีผ้าบังสุกุลด้วยคิดว่า
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ อย่าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี-
พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวร
ยินดีผ้าบังสุกุลได้ แต่เราสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองนั้น.
                                                                เรื่องขอส่วนแบ่ง
                [๑๔๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เดินทางไกลไปในโกศลชนบท
บางพวกแวะเข้าสุสาน เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุล บางพวกไม่รอคอย บรรดาภิกษุที่แวะเข้าสุสาน
เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุลนั้น ต่างก็ได้ผ้าบังสุกุล พวกที่ไม่รอคอยนั้นพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย
ขอท่านจงให้ส่วนแบ่งแก่พวกข้าพเจ้าบ้าง ภิกษุพวกนั้นพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เราไม่ให้
ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน เพราะเหตุไร พวกท่านจึงไม่รอคอยเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่
ปรารถนา ไม่ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุพวกที่ไม่รอคอย.
                สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เดินทางไกลไปในโกศลชนบท บางพวกแวะเข้าสุสาน
เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุล บางพวกรอคอยอยู่ บรรดาพวกที่แวะเข้าสุสานเพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุลนั้น
ต่างก็ได้ผ้าบังสุกุล พวกภิกษุที่รอคอยอยู่นั้น พูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้
ส่วนแบ่งแก่พวกข้าพเจ้าบ้าง ภิกษุพวกนั้นพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้
ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน เพราะเหตุไร พวกท่านจึงไม่แวะเข้าไปเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่


                                                            หน้าที่ ๑๕๒

พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้ไม่ปรารถนา ก็ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุพวกที่รอคอย.
                สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เดินทางไกลไปในโกศลชนบท บางพวกแวะเข้า
สุสานก่อน เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุล บางพวกแวะเข้าทีหลัง บรรดาภิกษุที่แวะเข้าสุสานก่อน
เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุลนั้น ต่างก็ได้ผ้าบังสุกุล พวกภิกษุที่แวะเข้าทีหลังไม่ได้จึงพูดอย่างนี้ว่า
อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ส่วนแบ่งแก่พวกข้าพเจ้าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า
พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน เพราะเหตุไร พวกท่านจึงแวะเข้าไปทีหลังเล่า แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ปรารถนาไม่ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุพวกที่แวะเข้าไปทีหลัง.
                สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เดินทางไกลไปในโกศลชนบท ภิกษุเหล่านั้นแวะเข้า
สุสาน เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุลพร้อมกัน บางพวกได้ผ้าบังสุกุลบางพวกไม่ได้ พวกที่ไม่ได้พูด
อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ส่วนแบ่งแก่พวกข้าพเจ้าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นตอบ
อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวกท่านจึงหาไม่ได้
เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาก็ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุทั้งหลายที่แวะเข้าไปพร้อมกัน.
                สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เดินทางไกลไปในโกศลชนบท ภิกษุเหล่านั้น
นัดแนะกันแล้วแวะเข้าสุสาน เพื่อแสวงหาผ้าบังสุกุล บางพวกได้ผ้าบังสุกุล บางพวกไม่ได้
พวกที่ไม่ได้พูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ส่วนแบ่งแก่พวกข้าพเจ้าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวกท่าน
จึงหาไม่ได้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาก็ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุพวกที่นัดแนะ
กันไว้แล้วแวะเข้าไป.
                                                องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รับจีวร
                [๑๔๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนถือจีวรมาสู่อาราม พวกเขาหาภิกษุเจ้าหน้าที่รับ
ไม่ได้จึงนำกลับไป จีวรเกิดขึ้นน้อย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี-
พระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร คือ


                                                            หน้าที่ ๑๕๓

                ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
                ๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
                ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
                ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
                ๕. รู้จักจีวรจำนวนที่รับไว้ และยังมิได้รับ
                                                                                วิธีสมมติ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้.
                สงฆ์พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร นี้เป็นญัตติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร
การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                                องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้เก็บจีวร
                [๑๔๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร รับจีวรแล้วทิ้งไว้ใน
ที่นั้นแหละ แล้วหลีกไป จีวรเสียหาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร คือ:-


                                                            หน้าที่ ๑๕๔

                ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
                ๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
                ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
                ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
                ๕. รู้จักจีวรจำนวนที่เก็บไว้ และยังมิได้เก็บ
                                                                                วิธีสมมติ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้.
                สงฆ์พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                                                พระพุทธานุญาตเรือนคลัง
                [๑๔๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ได้เก็บจีวรไว้ในมณฑป
บ้าง ที่โคนไม้บ้าง ที่ชายคาบ้าง ที่กลางแจ้งบ้าง จีวรถูกหนูกัดบ้าง ถูกปลวกกินบ้าง ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติ วิหาร เพิง เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำหมายให้เป็นเรือนคลัง.


                                                            หน้าที่ ๑๕๕

                                                                                วิธีสมมติ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง การ
สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่
ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
                สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็นเรือนคลังแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                                องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง
                [๑๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรในเรือนคลังของสงฆ์ ไม่มีคนเฝ้า ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง คือ:-
                ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
                ๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
                ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
                ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
                ๕. รู้จักจีวรจำนวนที่รักษา และยังมิได้รักษา
                                                                                วิธีสมมติ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้
                สงฆ์พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘