พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 151-155

                                                            หน้าที่ ๑๕๑

                                                                ทรงห้ามให้นิสสัยแก่อลัชชี
                [๑๓๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ให้นิสสัยแก่ภิกษุพวกอลัชชี. ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงให้นิสสัยแก่ภิกษุพวกอลัชชี รูปใดให้ต้องอาบัติทุกกฏ.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัยภิกษุพวกอลัชชี. ไม่ช้าไม่นานเท่าไรนัก แม้พวกเธอ
ก็กลายเป็นพวกอลัชชี เป็นภิกษุเลวทราม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอยู่อาศัยภิกษุ
พวกอลัชชี รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ไม่พึงให้
นิสสัยแก่ภิกษุพวกอลัชชี และไม่พึงอยู่อาศัยภิกษุพวกอลัชชี ทำอย่างไรหนอพวกเราจึงจะรู้ว่า
เป็นภิกษุลัชชี หรืออลัชชี แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส
อนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รอ ๔-๕ วัน พอจะสืบสวนรู้ว่า
ภิกษุผู้ให้นิสสัยเป็นสภาคกัน.
                                                                ภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
                [๑๓๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปโกศลชนบท. คราวนั้นเธอได้
มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ ดังนี้ ก็เรามีหน้าที่
ต้องถือนิสสัยแต่จำต้องเดินทางไกล จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอแล. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เดินทางไกล เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.
                [๑๓๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปโกศลชนบท. เธอทั้งสองพักอยู่
ณ อาวาสแห่งหนึ่ง. ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งอาพาธ จึงรูปที่อาพาธนั้นได้มีความดำริว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ ก็เรามีหน้าที่ต้องถือนิสัย แต่กำลัง


                                                            หน้าที่ ๑๕๒

อาพาธ จะพึงปฏิบัติอย่างใดหนอแล. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธ
เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.
                ครั้งนั้น ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้นได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ
จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ ก็เรามีหน้าที่ต้องถือนิสสัย แต่ภิกษุรูปนี้ยังอาพาธ เราจะพึงปฏิบัติ
อย่างไรหนอแล. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส
อนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้พยาบาลไข้ เมื่อไม่ได้ผู้ให้
นิสสัยถูกภิกษุอาพาธขอร้อง ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.
                ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอยู่วัดป่า และเธอก็มีความผาสุกในเสนาสนะนั้น.
คราวนั้นเธอได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า  ภิกษุจะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้
ก็เรามีหน้าที่ต้องถือนิสสัย แต่ยังอยู่วัดป่า และเราก็มีความผาสุกในเสนาสนะนี้ จะพึงปฏิบัติ
อย่างไรหนอแล. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาต
แก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร กำหนดการอยู่เป็น
ผาสุก เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ไม่ต้องถือนิสสัย ด้วยผูกใจว่า เมื่อใดมีภิกษุผู้ให้นิสสัยที่สมควร
มาอยู่ จักอาศัยภิกษุนั้นอยู่.
                                                                อุปสมบทกรรม
                                                                สวดอุปสัมปทาเปกขะระบุโคตร
                [๑๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมีอุปสัมปทาเปกขะ และท่านส่งทูตไป
ในสำนักท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์จงมาสวดอุปสัมปทาเปกขะนี้. ท่านพระอานนท์ตอบไป
อย่างนี้ว่า เกล้ากระผม ไม่สามารถจะระบุนามของพระเถระได้ เพราะพระเถระเป็นที่เคารพของ
เกล้ากระผม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาต
แก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดระบุโคตรได้.


                                                            หน้าที่ ๑๕๓

                                                                อุปสมบทคู่
                [๑๔๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมีอุปสัมปทาเปกขะอยู่ ๒ คน. เธอ
ทั้งสองแก่งแย่งกันว่า เราจักอุปสมบทก่อน เราจักอุปสมบทก่อน. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ทำอุปสัมปทาเปกขะ ๒ รูปในอนุสาวนาเดียวกัน.
                                                                อุปสมบทคราวละ ๓ คน
                สมัยต่อมา พระเถระหลายรูปต่างมีอุปสัมปทาเปกขะหลายคนด้วยกัน. พวกเธอต่างแก่ง
แย่งกันว่า เราจักอุปสมบทก่อน เราจักอุปสมบทก่อน. พระเถระทั้งหลายจึงตัดสินว่า เอาเถอะ
พวกเราจะทำอุปสัมปทาเปกขะทุกคนในอนุสาวนาเดียวกัน. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ทำอุปสัมปทาเปกขะ ในอนุสาวนาเดียวกันคราวละ ๒ รูป ๓ รูป แต่การสวดนั้นแล ต้องมี
อุปัชฌาย์รูปเดียวกัน จะมีอุปัชฌาย์ต่างกันไม่ได้เป็นอันขาด.
                                                                นับอายุ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์
                                                                พระกุมารกัสสปเป็นตัวอย่าง
                [๑๔๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปมีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้
อุปสมบท. ต่อมาท่านได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า บุคคลมีอายุหย่อน
๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท จะเป็นอัน
อุปสมบทหรือไม่หนอ. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณ
ดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละเป็นความเกิดของสัตว์นั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์.


                                                            หน้าที่ ๑๕๔

                                                สวดถามอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อ
                [๑๔๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกกุลบุตรที่อุปสมบทแล้วปรากฏเป็นโรคเรื้อนก็มี เป็นฝี
ก็มี เป็นโรคกลากก็มี เป็นโรคมองคร่อก็มี เป็นโรคลมบ้าหมูก็มี. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบท ถามอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถามอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้:-
                                                                อันตรายิกธรรม
                อาพาธเห็นปานนี้ของเจ้ามีหรือ? คือ โรคเรื้อน ฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู?
เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เป็นชายหรือ เป็นไทหรือ ไม่มีหนี้สินหรือ มิใช่ราชภัฏหรือ มารดา
บิดาอนุญาตแล้วหรือ มีปีครบ ๒๐ แล้วหรือ บาตรจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร
อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร?
                                                สอนซ้อมก่อนถามอันตรายิกธรรม
                ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายถามอันตรายิกธรรมกะพวกอุปสัมปทาเปกขะ ที่ยังมิได้
สอนซ้อม.  พวกอุปสัมปทาเปกขะย่อมสะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจจะตอบได้. ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอนซ้อมก่อน แล้วจึงถามอันตรายิกธรรมทีหลัง.
                ภิกษุทั้งหลายสอนซ้อมในท่ามกลางสงฆ์นั้นนั่นแหละ. พวกอุปสัมปทาเปกขะย่อมสะทก
สะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบได้เหมือนอย่างเดิม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สอนซ้อม ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสอนซ้อมอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้:-
                                                                คำบอกบาตรจีวร
                พึงให้อุปสัมปทาเปกขะถืออุปัชฌาย์ก่อน ครั้นแล้วพึงบอกบาตรจีวรว่า นี้บาตรของเจ้า
นี้ผ้าทาบของเจ้า นี้ผ้าห่มของเจ้า นี้ผ้านุ่งของเจ้า เจ้าจงไปยืน ณ โอกาสโน้น.


                                                            หน้าที่ ๑๕๕

                ภิกษุทั้งหลายที่เขลา  ไม่ฉลาด ย่อมสอนซ้อม เหล่าอุปสัมปทาเปกขะที่ถูกสอนซ้อมไม่ดี
ย่อมสะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบได้. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เขลา  ไม่ฉลาด ไม่พึง
สอนซ้อม รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด
ผู้สามารถ สอนซ้อม.
                บรรดาภิกษุผู้ที่ยังไม่ได้รับสมมติ ย่อมสอนซ้อม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ยังไม่ได้
รับสมมติ  ไม่พึงสอนซ้อม รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุที่ได้รับสมมติแล้วสอนซ้อม.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติ ดังต่อไปนี้:-
                                                                วิธีสมมติภิกษุเป็นผู้สอนซ้อม
                ตนเองพึงสมมติตนก็ได้ หรือภิกษุรูปอื่น พึงสมมติภิกษุอื่นก็ได้.
                อย่างไรเล่า ตนเองพึงสมมติตนเอง? คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์
ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้.
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว  ข้าพเจ้าพึงสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้.
                อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตนเอง.
                อย่างไรเล่า ภิกษุรูปอื่น พึงสมมติภิกษุรูปอื่น? คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าความ
พร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ท่านผู้มีชื่อนี้พึงสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้.
                อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุรูปอื่นสมมติภิกษุรูปอื่น.
                ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้น พึงเข้าไปหาอุปสัมปทาเปกขะ แล้วกล่าวอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                คำสอนซ้อมอันตรายิกธรรม
                แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เมื่อท่านถามในท่ามกลางสงฆ์
ถึงสิ่งอันเกิดแล้ว มีอยู่ พึงบอกว่า ไม่มี พึงบอกว่าไม่มี เจ้าอย่าสะทกสะท้านแล้วแล เจ้าอย่า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘