พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 141-145

                                                            หน้าที่ ๑๔๑

อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรม
ในวันที่ ๗ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมีพระบรมราช
โองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อได้รักษาเศรษฐีคหบดี
                ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า
พ่อนายชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี
                ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะ แล้วไปหาเศรษฐี
คหบดี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีคหบดีแล้ว ได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า ท่านคหบดี
ถ้าฉันรักษาท่านหายโรค จะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง?
                ศ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาส
ของท่าน
                ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
                ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
                ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
                ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้
                ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลกหนังศีรษะ
เปิดรอยประสานกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า
ท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง พวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า
เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมอง
ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์
ตัวใหญ่นี้ ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า
เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมอง
ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์
ตัวเล็กนี้ ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ดังนี้ แล้วปิดแนวประสานกระโหลกศีรษะ
เย็บหนังศีรษะแล้วได้ทายาสมานแผล


                                                            หน้าที่ ๑๔๒

                ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์
ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือน
ได้ดังนี้ มิใช่หรือ?
                ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน
ข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนเถิด
                ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์
ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
ดังนี้มิใช่หรือ?
                ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน
ข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด
                ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์
ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้
ดังนี้ มิใช่หรือไม่?
                ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงาย
ตลอด ๗ เดือนได้
                ชี. ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนเท่านั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อน
แล้วว่า เศรษฐีคหบดีจักหายโรคในสามสัปดาห์ ลุกขึ้นเถิด ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้
จะได้รางวัลอะไรแก่ฉัน
                ศ. ท่านอาจารย์ ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน
                ชี. อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็
ไม่ต้องยอมเป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัวแสนกษาปณ์ ให้ฉัน
แสนกษาปณ์ก็พอแล้ว


                                                            หน้าที่ ๑๔๓

                ครั้นเศรษฐีคหบดีหายป่วย ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าอยู่หัว แสนกษาปณ์ ได้ให้
แก่ชีวกโกมารภัจจ์ แสนกษาปณ์.
                                                เรื่องบุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้
                [๑๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีผู้เล่นกีฬาหกคะเมน ได้ป่วย
เป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระ
และปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด
เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้งนั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสีได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า
บุตรของเราได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย
อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก บุตรของเรานั้นจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด
เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ถ้ากระไร เราพึงไปพระนครราชคฤห์แล้วทูลขอ
นายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา ต่อแต่นั้นเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์
แล้ว เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะฯ บุตรของ
ข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย
อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ
มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลี-
พระบาทจงมีพระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตรของข้าพระพุทธเจ้า
                ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า
ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตรของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี
                ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะฯ แล้วไปพระนคร
พาราณสี เข้าไปหาเศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีบุตรชาว
พระนครพาราณสี เชิญประชาชนให้ออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตรไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่
ข้างหน้า ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกแสดงแก่ภรรยาว่า เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ
ข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามีเธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออก
ไม่สะดวก เพราะโรคนี้ สามีเธอนี้จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ
มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นดังนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับดังเดิม แล้วเย็บ
หนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี ได้หายโรคแล้ว


                                                            หน้าที่ ๑๔๔

                ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสีคิดว่า บุตรของเราหายโรคพ้นอันตรายแล้ว จึงให้
รางวัลแก่ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์นั้น
เดินทางกลับมาสู่พระนครราชคฤห์ตามเดิม.
                                เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง
                [๑๓๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรโรคผอมเหลือง
นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน มารักษา ก็ไม่อาจทำให้โรคหาย ได้ขนเงินไป
เป็นอันมาก ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์น ไปในพระราชสำนักพระเจ้า
พิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทาน
พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษาหม่อมฉัน จึงพระเจ้าพิมพิสาร
จอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี
รักษาพระเจ้าปัชโชต
                ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าไปใน
พระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของพระเจ้าปัชโชต แล้วได้
กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น
                พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเรา
ให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน
สำหรับฉัน
                ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวร
เช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี
กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้ แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มีสี กลิ่น รส
เหมือนน้ำฝาด ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อย
จักทำให้เรอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไร
เราพึงทูลลาไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้
แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะ ฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นนายแพทย์ จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่ว
เวลาครู่หนึ่งเช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานพระบรมราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมี
พระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการ


                                                            หน้าที่ ๑๔๕

ไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการ
ไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น จึงพระเจ้าปัชโชตได้มี
พระราชดำรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวกกราบทูลขอ
บรมราชานุญาตไว้ทุกประการ
                ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์
จึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถวายเนยใสนั้นแด่พระเจ้าปัชโชตด้วยกราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาทจงเสวยน้ำฝาด ครั้นให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใสแล้วก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนคร
ไปโดยช้างพังภัททวดี ขณะเดียวกันนั้น เนยใสที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น
จึงพระเจ้าปัชโชตได้รับสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่ม
เนยใส พวกเจ้าจงค้นจับหมอชีวกมาเร็วไว
                พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวดีแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า
                ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทาง
ได้วันละ ๖๐ โยชน์ จึงพระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนายกากะ เจ้าจงไปเชิญ
หมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่า
หมอเหล่านี้แลมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุอะไรๆ ของเขา
                ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินไปทันชีวกโกมารภัจจ์ ผู้กำลังรับประทานอาหารมื้อเช้า
ในระหว่างทางเขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัว
รับสั่งให้เชิญท่านกลับไป
                ชี. พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านรับประทาน
อาหารด้วยกันเถิด
                ก. ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนายกากะ ขึ้นชื่อว่า
หมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไร ของเขา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘