พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 136-140

                                                            หน้าที่ ๑๓๖

                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น
เธอจงให้ราหุลกุมารบวช.
                ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ราหุลกุมารทรงผนวชอย่างไร พระพุทธ-
เจ้าข้า?
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตร
เป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์.
                                                                วิธีให้บรรพชา
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบวชอย่างนี้:-
                ชั้นต้น พึงให้โกนผมและหนวด แล้วให้ครองผ้าย้อมฝาด ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้
กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลี แล้วสั่งว่า จงว่าอย่างนี้ แล้วสอนให้
ว่าสรณคมน์ดังนี้:-
                                                                ไตรสรณคมน์
                                พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
                                ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง
                                สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
                                ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
                                ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
                                ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒


                                                            หน้าที่ ๑๓๗

                                ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
                                ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
                                ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์นี้.
                คราวนั้น ท่านพระสารีบุตร ให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว.
                                                พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลขอพระพร
                ต่อมา พระเจ้าสุทโธทนศากยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท้าวเธอประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลขอพระพรต่อพระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่าง
หนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า ดูกรพระองค์ผู้โคตมะ ตถาคตทั้งหลาย มีพรล่วงเลย
เสียแล้ว
                สุท. หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. พระองค์โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด โคตมะ.
                สุท. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อ
พ่อนันทะบวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลบรรพชา ทุกข์ยิ่งมากล้น พระพุทธเจ้าข้า ความรัก
บุตรย่อมตัดผิว ครั้นแล้ว ตัดหนัง ตัดเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก แล้วตั้งอยู่จรดเยื่อในกระดูก
หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาต
พระพุทธเจ้าข้า.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าสุทโธทนศากยะทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทาน
ทรงอาจหาญ ทรงร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระเจ้าสุทโธทนศากยะ อันพระผู้มีพระภาคทรง


                                                            หน้าที่ ๑๓๘

ชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพระที่ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ.
                ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่
พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ
จาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว. ทราบว่า
พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น
                                                เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรมากรูปได้
                [๑๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลอุปฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนัก
ท่านพระสารีบุตร ด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้. ทีนั้น ท่านพระสารีบุตร
ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็
เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด
ผู้สามารถรูปเดียว รับสามเณรสองรูปไว้อุปัฏฐากได้ ก็หรือเธออาจจะโอวาท อนุศาสน์สามเณร
มีจำนวนเท่าใดก็ให้รับไว้อุปัฏฐาก มีจำนวนเท่านั้น.
                                                                สิกขาบทของสามเณร
                [๑๒๐] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลาย ได้มีความดำริว่า สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไร
หนอแล และพวกเราจะต้องศึกษาในอะไร. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐
แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ
                ๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป
                ๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้
                ๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
                ๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ


                                                            หน้าที่ ๑๓๙

                ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
                ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
                ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก
                ๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่ง
การแต่งตัว
                ๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่
                ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ นี้ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณร
ทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นี้.
                                                                เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร
                [๑๒๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกสามเณรไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ
ประพฤติไม่เหมาะสม ในภิกษุทั้งหลายอยู่. ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพวกสามเณรจึงได้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เหมาะสมในภิกษุ
ทั้งหลายอยู่เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม
แก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
                ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
                ๒. พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
                ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
                ๔. ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
                ๕. ยุยงภิกษุต่อภิกษุให้แตกกัน
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความดำริว่า จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอแล แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามปราม.


                                                            หน้าที่ ๑๔๐

                ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆารามทุกแห่งแก่พวกสามเณร.
สามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีดเดียรถีย์บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลงทัณฑกรรม
คือห้ามสังฆารามทุกแห่ง รูปใดลงต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม
คือ ห้ามเฉพาะสถานที่ที่สามเณรจะอยู่หรือจะเข้าไปได้.
                ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามอาหารซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปาก
แก่พวกสามเณร. คนทั้งหลายทำปานะคือยาคูบ้าง สังฆภัตรบ้าง จึงกล่าวนิมนต์พวกสามเณร
อย่างนี้ว่า นิมนต์ท่านทั้งหลายมาดื่มยาคู นิมนต์ท่านทั้งหลายมาฉันภัตตาหาร. พวกสามเณรจึง
กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรม
คือห้ามไว้.
                ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จึงได้
ห้ามอาหาร ซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปากแก่พวกสามเณรเล่า. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลง
ทัณฑกรรมคือห้ามอาหารที่จะกลืนเข้าไปทางช่องปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร จบ.
                                                เรื่องกักกันสามเณรต้องขออนุญาตก่อน
                [๑๒๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่อาปุจฉาพระอุปัชฌาย์ก่อน แล้วทำการ
กักกันสามเณรทั้งหลายไว้. พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเที่ยวตามหาด้วยนึกสงสัยว่า ทำไมหนอ
สามเณรของพวกเราจึงหายไป.
                ภิกษุทั้งหลายได้แจ้งให้ทราบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์ได้กักกันไว้.
                พระอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงไม่
อาปุจฉาพวกเราก่อน แล้วทำการกักกันสามเณรของพวกเราเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่อาปุจฉาอุปัชฌาย์
ก่อนแล้ว ไม่พึงทำการกักกันสามเณรไว้ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘