พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 136-140

                                                            หน้าที่ ๑๓๖

                บทว่า เปลือยกายอาบน้ำ คือ ไม่นุ่งผ้า หรือไม่ห่มผ้าอาบน้ำ เป็นทุกกฏในประโยค
อาบเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                อนาปัตติวาร
                [๒๒๒] มีจีวรถูกโจรชิงไป หรือจีวรหาย ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
                                นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                _______________


                                                            หน้าที่ ๑๓๗

                                นัคควรรค สิกขาบทที่ ๒
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
                [๒๒๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนแก่
ภิกษุณีทั้งหลายแล้ว. ภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนแล้ว
จึงใช้ผ้าอาบน้ำไม่มีประมาณเลื้อยข้างหน้าบ้าง เลื้อยข้างหลังบ้าง เที่ยวไป.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณี
เหล่าฉัพพัคคีย์ จึงได้ใช้ผ้าอาบน้ำไม่มีประมาณเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีเหล่า
ฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบน้ำไม่มีประมาณ จริงหรือ?.
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จึงได้ใช้
ผ้าอาบน้ำไม่มีประมาณเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๗๗.๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้จะให้ทำผ้าอาบน้ำ พึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้
ประมาณในคำนั้น โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณ
นั้น เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย.
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๒๒๔] ที่ชื่อว่า ผ้าอาบน้ำ ได้แก่ ผ้าสำหรับนุ่งอาบน้ำ.


                                                            หน้าที่ ๑๓๘

                บทว่า ผู้จะให้ทำ อธิบายว่า ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ต้องทำให้ได้ประมาณ ประมาณ
ในคำนั้นดังนี้ คือ โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี
ให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นทุกกฏในประโยค ได้มาพึงตัดเสีย แล้วแสดงอาบัติปาจิตตีย์.
                                บทภาชนีย์
                                จตุกกะปาจิตตีย์
                [๒๒๕] ผ้าอาบน้ำที่ตนทำค้างไว้ ตนทำต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ผ้าอาบน้ำที่ตนทำค้างไว้ ให้ผู้อื่นทำต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำค้างไว้ ใช้ผู้อื่นทำต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                ทุกะทุกกฏ
                ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ได้ผ้าอาบน้ำที่คนอื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                อนาปัตติวาร
                [๒๒๖] ทำให้ได้ประมาณ ๑ ทำหย่อนกว่าประมาณ ๑ ได้ผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำไว้เกิน
ประมาณ ตัดให้ได้ประมาณแล้วใช้สอย ๑ ทำเป็นเพดาน ผ้าลาดพื้น ม่าน ฟูก หรือหมอน ๑
วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                นัคควรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ.
                                ____________


                                                            หน้าที่ ๑๓๙

                                นัคควรรค สิกขาบทที่ ๓
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
                [๒๒๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเอาผ้าสำหรับทำจีวร ซึ่งมีราคา
มากมาทำจีวร เย็บจีวรให้เสียไป ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีรูปนั้นว่า แม่เจ้า ผ้า
สำหรับทำจีวรของท่านผืนนี้เนื้อดี แต่ทำจีวรไม่ดี เย็บไม่สวย.
                ภิกษุณีรูปนั้นถามว่า แม่เจ้า ดิฉันจักเลาะออก ท่านจักเย็บให้หรือ?
                ภิกษุณีถุลลนันทาตอบว่า จ้ะ ดิฉันจักเย็บให้.
                ครั้นแล้วภิกษุณีรูปนั้นได้เลาะจีวรนั้นให้แก่ภิกษุณีถุลลนันทา. ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า
ดิฉันจักเย็บให้ ดิฉันจักเย็บให้ แล้วไม่เย็บ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บ ดังนั้นภิกษุณีรูปนั้นจึงแจ้ง
เรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาให้เลาะจีวรของภิกษุณีแล้ว จึงไม่เย็บให้ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บให้เล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทา
ให้เลาะจีวรของภิกษุณีแล้วไม่เย็บให้ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บให้จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาให้เลาะ
จีวรของภิกษุณีแล้ว จึงได้ไม่เย็บให้ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บให้เล่า การกระทำของนางนั่น ไม่
เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้.
                                พระบัญญัติ
                ๗๘. ๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งจีวรของภิกษุณีแล้ว เธอไม่มี
อันตรายในภายหลัง ไม่เย็บ ไม่ทำการขวนขวายเพื่อให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.


                                                            หน้าที่ ๑๔๐

                                สิกขาบทวิภังค์
                [๒๒๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ของภิกษุณี ได้แก่ ภิกษุณีรูปอื่น.
                ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่จีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง.
                บทว่า เลาะ คือ เลาะด้วยตนเอง.
                บทว่า ให้เลาะ คือ ให้ผู้อื่นเลาะ.
                คำว่า เธอไม่มีอันตรายในภายหลัง คือ ในเมื่ออันตรายไม่มี.
                บทว่า ไม่เย็บ คือไม่เย็บด้วยตนเอง.
                บทว่า ไม่ทำการขวนขวายเพื่อให้เย็บ คือ ไม่บังคับผู้อื่น.
                คำว่า พ้น ๔-๕ วันไป คือเก็บไว้ได้ ๔-๕ วัน พอทอดธุระว่าจักไม่เย็บ จักไม่ทำความ
ขวนขวายเพื่อให้เย็บ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                บทภาชนีย์
                                ติกะปาจิตตีย์
                [๒๒๙] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าอุปสัมบัน เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดีซึ่งจีวร แล้วเธอ
ไม่มีอันตรายในภายหลัง ไม่เย็บ ไม่ขวนขวายให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุณีสงสัย เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งจีวร แล้วเธอไม่มีอันตรายในภาย
หลัง ไม่เย็บ ไม่ขวนขวายให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าอนุปสัมบัน เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งจีวรแล้วเธอไม่มี
อันตรายในภายหลัง ไม่เย็บ ไม่ขวนขวายให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไปต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                ปัญจกะทุกกฏ
                เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งบริขารอย่างอื่น แล้วเธอไม่มีอันตรายในภายหลังไม่เย็บ ไม่
ขวนขวายให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป ต้องอาบัติทุกกฏ.
                เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งจีวรก็ดี บริขารอย่างอื่นก็ดี ของอนุปสัมบันแล้วเธอไม่มี
อันตรายในภายหลัง ไม่เย็บ ไม่ขวนขวายให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป ต้องอาบัติทุกกฏ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘