พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 131-135

                                                            หน้าที่ ๑๓๑

โมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้ไม่รู้จักประมาณ ขอบาตรเขามาไว้เป็นอันมากเล่า? การกระทำของภิกษุ
โมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือความเลื่อมใส
ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของพวกโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อ
ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อม-
ใสแล้ว.
                                                ทรงห้ามขอบาตร
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น โดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ
เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ
คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ-
เพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่
ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรขอบาตร, ภิกษุใดขอ, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล บาตรของภิกษุรูปหนึ่งแตก. ภิกษุนั้นรังเกียจว่า การขอบาตร
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแล้ว จึงไม่ขอบาตรเขาเที่ยวรับบิณฑบาตด้วยมือทั้งสอง. ชาวบ้าน
พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้เที่ยวรับ
บิณฑบาตด้วยมือทั้งสอง เหมือนพวกเดียรถีย์เล่า?.
                ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่, จึงกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ทรงอนุญาตให้ขอบาตร
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มี
บาตรหายหรือมีบาตรแตก ขอบาตรเขาได้.ฯ
                [๑๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้มีบาตรหายหรือมีบาตรแตก ขอบาตรเขาได้, แม้พวกเธอมีบาตรแตกเพียงเล็กน้อย ทะลุเพียง
เล็กน้อย กะเทาะเพียงเล็กน้อย มีรอยขีดเพียงเล็กน้อย ก็ไม่รู้จักประมาณ, ขอบาตรเขามาไว้
เป็นอันมาก.


                                                            หน้าที่ ๑๓๒

                คราวนั้น นายช่างหม้อผู้นั้นมัวทำบาตรเป็นอันมากถวายแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่อย่างนั้น ไม่
สามารถจะทำของสำหรับขายอย่างอื่นได้, แม้ตนเองก็ไม่พอครองชีพ, แม้บุตรภรรยาของเขาก็
ลำบาก. ชาวบ้านพากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาดุจก่อนนั้นว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระ-
ศากยบุตรจึงได้ไม่รู้จักประมาณ ขอบาตรเขามามากมายเล่า? นายช่างหม้อผู้นี้มัวทำบาตรเป็น
อันมากถวายพระสมณะเหล่านี้อยู่ จึงไม่สามารถจะทำของสำหรับขายอย่างอื่นได้ แม้ตนเองก็ไม่
พอครองชีพ, แม้บุตรภรรยาของเขาก็ลำบาก.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย
สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขาบท ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า
ไฉนพระฉัพพัคคีย์แม้มีบาตรแตกเพียงเล็กน้อย ทะลุเพียงเล็กน้อย กะเทาะเพียงเล็กน้อย มีรอย
ขีดเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้รู้จักประมาณ ขอบาตรเขามาไว้เป็นอันมากเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอมี
บาตรแตกเพียงเล็กน้อย ทะลุเพียงเล็กน้อย กะเทาะเพียงเล็กน้อย มีรอยขีดเพียงเล็กน้อย ก็
ไม่รู้จักประมาณ ขอบาตรเขามาไว้เป็นอันมาก จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น
ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอแม้มีบาตร
แตกเพียงเล็กน้อย ทะลุเพียงเล็กน้อย กะเทาะเพียงเล็กน้อย มีรอยขีดเพียงเล็กน้อย จึงได้ไม่
รู้จักประมาณ ขอบาตรเขามาไว้เป็นอันมากเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ
เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้
การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความ
เป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
                                                ทรงบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์ โดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ
เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ


                                                            หน้าที่ ๑๓๓

คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ
ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่
เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ
บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่
ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ-
สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๔๑. ๒. อนึ่ง ภิกษุใด มีบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายบาตรใหม่อื่น, เป็น
นิสสัคคิยปาจิตตีย์. ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นในภิกษุบริษัท; บาตรใบสุดแห่งภิกษุ
บริษัทนั้น, พึงมอบให้แก่ภิกษุนั้นสั่งว่า ภิกษุ นี้บาตรของท่าน พึงทรงไว้กว่าจะแตก;
นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.ฯ
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๓๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด
เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด.
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกษุ. ชื่อว่า


                                                            หน้าที่ ๑๓๔

ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้
เจริญ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ. ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกัน
อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บาตรที่ชื่อว่า มีแผลหย่อนห้า คือ ไม่มีแผล มี ๑ แผล มี ๒ แผล มี ๓ แผล หรือ
มี ๔ แผล.
                บาตรที่ชื่อว่า ไม่มีแผล ได้แก่บาตรที่มีรอยร้าวยาวไม่ถึงสององคุลี.
                บาตรที่ชื่อว่า มีแผล ได้แก่บาตรที่มีรอยร้าวยาวถึงสององคุลี.
                บาตรที่ชื่อว่า ใหม่ ตรัสหมายถึงบาตรที่ขอเขามา.
                บทว่า ให้จ่าย คือ ขอเขา เป็นทุกกฏในประโยคที่ขอ, เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้บาตรมา,
จำต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์.
                ภิกษุทุกรูปพึงถือบาตรที่อธิษฐานแล้วไปประชุม อย่าอธิษฐานบาตรเลวด้วยหมายจะได้
บาตรที่มีราคามาก, ถ้าอธิษฐานบาตรเลว ด้วยหมายจะได้บาตรที่มีราคามาก, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละบาตรนั้น อย่างนี้:-
                                                วิธีเสียสละบาตร
                [๑๓๒] ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่
พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:-
                ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ ข้าพเจ้ามีบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายมาแล้วเป็น
ของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์.
                ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ. สงฆ์พึงสมมติ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร.
                                                องค์ ๕ ของภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร
                องค์ ๕ นั้น คือ ๑ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ, ๒ ไม่ถึงความลำเอียง
เพราะเกลียดชัง, ๓ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย, ๔ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว; และ ๕
รู้จักว่าทำอย่างไร เป็นอันเปลี่ยนหรือไม่เป็นอันเปลี่ยน.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตรนั้น อย่างนี้:-


                                                            หน้าที่ ๑๓๕

                                                วิธีสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร
                พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์
ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                คำสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึง
สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร, นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร.
การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                ภิกษุมีชื่อนี้สงฆ์สมมติให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตรแล้ว, ชอบแก่สงฆ์. เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงให้เปลี่ยนบาตร พึงกราบเรียนพระเถระว่า ท่านเจ้าข้า ขอ-
พระเถระจงเปลี่ยนบาตร. ถ้าพระเถระเปลี่ยน, พึงถวายบาตรพระเถระให้พระทุติยเถระเปลี่ยน
อันภิกษุจะไม่เปลี่ยน เพราะความสงสารภิกษุนั้นไม่ได้. ภิกษุใดไม่ยอมเปลี่ยน, ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่พึงให้ภิกษุผู้ไม่มีบาตรเปลี่ยน, พึงให้เปลี่ยนเลื่อนลงมาโดยอุบายนี้แลตลอดถึงพระสังฆนวกะ.
ก็แลบาตรใดเป็นใบสุดท้ายแห่งภิกษุบริษัทนั้น, พึงมอบบาตรนั้น แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัตินิสสัคคิย-
ปาจิตตีย์นั้นด้วยสั่งกำชับว่า ดูกรภิกษุ นี้บาตรของเธอ, พึงใช้ไปกว่าจะแตก ดังนี้; ภิกษุนั้น
อย่าเก็บบาตรใบนั้นไว้ในที่อันไม่ควร, อย่าใช้โดยอาการอันไม่ควร, อย่าทอดธุระว่าบาตรใบนี้จะ
เป็นอย่างไรก็ตาม คือ จะหายก็ช่าง จะฉิบหายก็ช่าง จะแตกก็ช่าง, ถ้าเก็บไว้ในที่ๆ ไม่ควรก็ดี,
ใช้อย่างที่เขาไม่ใช้กันก็ดี, ปล่อยทิ้งเสียก็ดี, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                บทว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกยิ่งในเรื่องนั้น.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                บาตรไม่มีแผล
                [๑๓๓] ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรที่ไม่มีแผล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรที่มีแผล ๑ แห่ง, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘