พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 126-130

                                                            หน้าที่ ๑๒๖

                พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในปัจจุสสมัยแห่งราตรี ทรงได้ยินเสียงเด็ก ครั้นแล้ว
ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ นั่นเสียงเด็ก หรือ?
                จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายรู้อยู่
ให้บุคคลผู้มีอายุหย่อน ๒๐ ปี อุปสมบท จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษพวกนั้นรู้อยู่
จึงได้ให้บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี อุปสมบทเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี
เป็นผู้ไม่อดทนต่อเย็น ร้อน หิว ระหาย เป็นผู้มีปกติไม่อดกลั้นต่อสัมผัส แห่งเหลือบ
ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน ต่อคลองแห่งถ้อยคำที่เขากล่าวร้าย อันมาแล้วไม่ดี ต่อทุกขเวทนา
ทางกายที่เกิดขึ้นแล้วอันกล้าแข็งกล้า เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อันอาจนำชีวิต
เสียได้ ส่วนบุคคลมีอายุ ๒๐ ปี ย่อมเป็นผู้อดทนต่อเย็น ร้อน หิว ระหาย เป็นผู้มีปกติ
อดกลั้นต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน ต่อคลองแห่งถ้อยคำที่เขากล่าวร้าย
อันมาแล้วไม่ดี ต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้นแล้ว อันกล้าแข็งเผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่
ชอบใจ อันอาจนำชีวิตเสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใส
แล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงให้
บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปีอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องปรับตามธรรม.
                                                                เรื่องตายเพราะอหิวาตกโรค
                                                                กำหนดอายุผู้บวชเป็นสามเณร
                [๑๑๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลหนึ่งได้ตายลง เพราะอหิวาตกโรค. ตระกูลนั้น
เหลืออยู่แต่พ่อกับลูก. คนทั้งสองนั้นบวชในสำนักภิกษุแล้ว เที่ยวบิณฑบาตด้วยกัน. ครั้นเมื่อ
เขาถวายภิกษาแก่ภิกษุผู้เป็นบิดา สามเณรน้อยก็ได้วิ่งเข้าไปพูดว่า พ่อจ๋า ขอจงให้แก่หนูบ้าง
พ่อจ๋า ขอจงให้แก่หนูบ้าง.


                                                            หน้าที่ ๑๒๗

                ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้
มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สามเณรน้อยรูปนี้ชะรอยเกิดแต่ภิกษุณี. ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชน
พวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เด็กชายมีอายุหย่อน ๑๕ ปี
ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                เด็กชายตระกูลอุปัฏฐากบรรพชา
                [๑๑๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอานนท์มีศรัทธาเลื่อมใส ได้
ตายลงเพราะอหิวาตกโรค. เหลืออยู่แต่เด็กชายสองคน. เด็กชายทั้งสองเห็นภิกษุทั้งหลาย จึงวิ่ง
เข้าไปหาด้วยกิริยาที่คุ้นเคยแต่ก่อนมา. ภิกษุทั้งหลายไล่ไปเสีย. เด็กชายทั้งสองนั้นเมื่อถูกภิกษุ
ทั้งหลายไล่ก็ร้องไห้ จึงท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ มิให้บวช
เด็กชายมีอายุหย่อน ๑๕ ปี ก็เด็กชายทั้งสองคนนี้มีอายุหย่อน ๑๕ ปี ด้วยวิธีอะไรหนอ เด็กชาย
สองคนนี้จึงจะไม่เสื่อมเสีย ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ เด็กชายสองคนนั้นอาจไล่กาได้ไหม?
                ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า อาจ พระพุทธเจ้าข้า.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บวชเด็กชาย
มีอายุหย่อน ๑๕ ปี แต่สามารถไล่กาได้.
                                                เรื่องสามเณรของท่านพระอุปนันท์
                [๑๑๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระอุปนันทศากยบุตรมีสามเณรอยู่ ๒ รูป คือสามเณร
กัณฏกะ ๑ สามเณรมหกะ ๑. เธอทั้งสองประทุษร้ายกันและกัน. ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนสามเณรทั้งสองจึงได้ประพฤติอนาจารเห็นปานนั้นเล่า แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียว ไม่พึงให้
สามเณร ๒ รูปอุปัฏฐาก รูปใดให้อุปัฏฐาก ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๑๒๘

                                                                เรื่องถือนิสสัย
                [๑๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์นั้นแล ตลอด
ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน. คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ทิศทั้งหลาย
คับแคบมืดมนแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่พระสมณะพวกนี้
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้
มีพระภาค
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ เธอจงไป
ไขดาล บอกภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จ
จาริกทักขิณาคิรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา.
                ท่านพระอานนท์รับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว ไขดาลแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายในบริเวณ
วิหารว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคิรีชนบท ท่านผู้ใด
มีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา.
                ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส อานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ภิกษุ
ถือนิสสัยอยู่ตลอด ๑๐ พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสสัย พวกผมจักต้องไปใน
ทักขิณาคิรีนั้น จักต้องถือนิสสัยด้วย จักพักอยู่เพียงเล็กน้อยก็ต้องกลับมาอีก และจักต้องกลับ
ถือนิสสัยอีก ถ้าพระอาจารย์ พระอุปัชฌาย์ ของพวกผมไป แม้พวกผมก็จักไป หากท่านไม่ไป
แม้พวกผมก็จักไม่ไป อาวุโส อานนท์ ความที่พวกผมมีใจเบาจักปรากฏ.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกทักขิณาคิรีชนบท กับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย.
ครั้นพระองค์เสด็จอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมาสู่พระนคร
ราชคฤห์อีกตามเดิม และพระองค์ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า ดูกรอานนท์ ตถาคต
จาริกทักขิณาคิรีชนบท กับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย เพราะเหตุไร? จึงท่านพระอานนท์กราบทูล
ความเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
                                                                พระพุทธานุญาตให้ถือนิสสัย
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้ฉลาด ผู้สามารถ ถือนิสสัยอยู่ ๕ พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ถือนิสสัยอยู่ตลอดชีวิต.


                                                            หน้าที่ ๑๒๙

                                                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
                [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ คือ
                                ๑. ไม่ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๒. ไม่ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๓. ไม่ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๔. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ และ
                                ๕. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้.
                                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่ คือ
                                ๑. ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๒. ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๓. ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ
                                ๔. ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ และ
                                ๕. ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.
                                                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ คือ
                                ๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
                                ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
                                ๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
                                ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน และ
                                ๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้.


                                                            หน้าที่ ๑๓๐

                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่ คือ
                                ๑. เป็นผู้มีศรัทธา
                                ๒. เป็นผู้มีหิริ
                                ๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
                                ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร และ
                                ๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.
                                                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้ คือ
                                ๑. เป็นผู้วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล
                                ๒. เป็นผู้วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร
                                ๓. เป็นผู้วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง
                                ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย และ
                                ๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสสัยอยู่ไม่ได้.
                                                องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่ คือ
                                ๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล
                                ๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร
                                ๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง
                                ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก และ
                                ๕. เป็นผู้มีปัญญา
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘