พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 121-125

                                                            หน้าที่ ๑๒๑

ของสิ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น, ต้องอาบัติทุกกฏ. ในเวลาที่แลกแล้ว คือของๆ ตนไปอยู่ในมือของ
คนอื่น และเปลี่ยนแล้ว คือของๆ คนอื่นมาอยู่ในมือของตน, เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของ
จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละของสิ่งนั้น อย่างนี้:-
                                                                วิธีเสียสละ
                                                เสียสละแก่สงฆ์
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า
นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
                ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ. ของสิ่งนี้ของ
ข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนของที่
เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ,
เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุ
มีชื่อนี้.
                                                เสียสละแก่คณะ
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่
พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
                ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ. ของสิ่งนี้ของ
ข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนของที่
เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ,
เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน
ทั้งหลายพึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.


                                                            หน้าที่ ๑๒๒

                                                เสียสละแก่บุคคล
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า
                ท่าน ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ. ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็น
ของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น  พึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เสียสละ
ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้ของสิ่งนี้แก่ท่าน ดังนี้.
                                                                บทภาชนีย์
                                                ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
                [๑๑๕] แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าแลกเปลี่ยน, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าแลกเปลี่ยน, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน, ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๑๑๖] ภิกษุถามราคา ๑, ภิกษุบอกแก่กัปปิยการกว่า ของสิ่งนี้ของเรามีอยู่ แต่เรา
ต้องการของสิ่งนี้และของสิ่งนี้ ดังนี้ ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้อง
อาบัติแล.
                                                โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
                                                นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๒ จบ.
                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๑๒๓

                                                หัวข้อประจำเรื่อง
                ๑. โกสิยสิกขาบท                  ว่าด้วยการทำสันถัตเจือด้วยไหม
                ๒. สุทธกาฬกสิกขาบท            ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน
                ๓. เทฺวภาคสิกขาบท             ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน
                ๔. ฉัพพัสสสิกขาบท                             ว่าด้วยการทำทรงสันถัตไว้ให้ได้ ๖ ฝน
                ๕. นิสีทนสันถตสิกขาบท           ว่าด้วยการทำสันถัตสำหรับนั่ง
                ๖. เอฬกโลมสิกขาบท            ว่าด้วยการรับขนเจียม
                ๗. เอฬกโลมโธวาปนสิกขาบท        ว่าด้วยการซักขนเจียม
                ๘. รูปิยอุคคหสิกขาบท            ว่าด้วยการรับทองเงิน
                ๙. รูปิยสํโวหารสิกขาบท          ว่าด้วยการซื้อขายด้วยรูปิยะ มีประการต่างๆ
                ๑๐. กยวิกยสิกขาบท             ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๑๒๔

                                                นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๓
                                                ๓. ปัตตวรรคสิกขาบทที่ ๑
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๑๑๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก
ชาวบ้านพากันเที่ยวชมวิหาร เห็นแล้วพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก ท่านจักทำการขายบาตร หรือจักตั้งร้านขาย
ภาชนะดินเผา.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้
มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์ จึงได้ทรงอติเรกบาตรเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค.
                                                ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ
ทรงอติเรกบาตร จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น
ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอจึงได้ทรง
อติเรกบาตรเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็น
ไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวก
ที่เลื่อมใสแล้ว.


                                                            หน้าที่ ๑๒๕

                                                ทรงบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ
เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ
คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม
แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ
บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่
ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ-
สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๔๐. ๑. อนึ่ง ภิกษุใด ทรงอติเรกบาตร, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                __________________
                                                                พระอนุบัญญัติ
                                                เรื่องพระอานนท์
                [๑๑๘] ก็โดยสมัยนั้นแล อติเรกบาตรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์มีอยู่ และท่าน
ประสงค์จะถวายบาตรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร, แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต. ท่านพระ-
อานนท์จึงมีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกบาตร

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘