พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 116-120

                                                            หน้าที่ ๑๑๖

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้
สงฆ์ยินดี. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว ไม่พึง
อุปสมบทให้.
                                                                ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี?
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้าน
ไม่เช้าเกินไป กลับไม่สายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี.
                ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มี
หญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร
ไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี.
                ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา
สอดส่องในการนั้น อาจทำได้ อาจจัดการได้ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
                ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้สนใจ
ในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า
เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี.
                ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตนหลีกมาจาก
สำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ
และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อเขากล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม
หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด
เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ
ของครูคนนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม
หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่ง
กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์.


                                                            หน้าที่ ๑๑๗

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์
ยินดี. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว พึงอุปสมบทให้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เปลือยกายมา ต้องแสวงหาจีวร
ซึ่งมีอุปัชฌายะเป็นเจ้าของ ถ้ายังมิได้ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์ เพื่อปลงผม.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชฏิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาส
แก่พวกเธอ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้น เป็นกรรมวาที
กิริยวาที.
                ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มา เธอมาแล้วพึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้
ปริวาสแก่เธอ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราให้บริหารข้อนี้เป็นส่วนพิเศษเฉพาะหมู่ญาติ.
                                                                อัญญติถิยปุพพกถา จบ
                                                                ภาณวารที่ ๗ จบ
                                                                ________________
                                                                อันตรายิกธรรม
                                                                โรค ๕ ชนิด
                [๑๐๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ในมคธชนบทเกิดโรคระบาดขึ้น ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑
โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑ โรคลมบ้าหมู ๑ ประชาชนอันโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้ว
ได้เข้าไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณา
ช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วย.
                ชี. เจ้าทั้งหลาย ฉันน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ฉันต้องถวายอภิบาลพระเจ้า
พิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ฉันไม่
สามารถจะช่วยรักษาได้.
                ป. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดยกให้ท่าน และพวกข้าพเจ้ายอมเป็นทาสของท่าน
ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วย.


                                                            หน้าที่ ๑๑๘

                ชี. เจ้าทั้งหลาย ฉันน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ฉันต้องถวายอภิบาลพระเจ้า
พิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ฉันไม่สามารถ
จะช่วยรักษาได้.
                จึงประชาชนพวกนั้นได้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุข
มีความประพฤติสบาย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้ากระไร พวกเราพึงบวช
ในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ในที่นั้น ภิกษุทั้งหลายจักพยาบาล และหมอชีวก
โกมารภัจจ์จักรักษา. ต่อมา พวกเขาพากันเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา. ภิกษุทั้งหลาย
ให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท แล้วต้องพยาบาล และหมอชีวกโกมารภัจจ์ต้องรักษาพวกเขา.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพยาบาลภิกษุอาพาธมากรูป ย่อมเป็นผู้มากด้วยการขอร้อง
มากด้วยการขออยู่ว่า ขอจงให้อาหารสำหรับภิกษุอาพาธ ขอจงให้อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาล
ภิกษุอาพาธ ขอจงให้เภสัชสำหรับภิกษุผู้อาพาธ. แม้หมอชีวกโกมารภัจจ์มัวรักษาภิกษุอาพาธ
มากรูป ได้ปฏิบัติราชการบางอย่างบกพร่อง. บุรุษแม้คนหนึ่ง ถูกโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้ว
ก็เข้าไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แล้วกราบเรียนว่า ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณา
ช่วยรักษากระผมด้วย.
                ชี. เจ้า ข้าน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ต้องถวายอภิบาลพระเจ้าพิมพิสาร
จอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ข้าไม่สามารถจะช่วย
รักษาได้.
                บุรุษ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดยกให้ท่าน และกระผมยอมเป็นทาสของท่าน
ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษากระผมด้วย.
                ชี. เจ้า ข้าน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ต้องถวายอภิบาลพระเจ้าพิมพิสาร
จอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ข้าไม่สามารถ
จะช่วยรักษาได้.
                จึงบุรุษนั้นได้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุข มีความ
ประพฤติสบาย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้ากระไร เราพึงบวชในสำนัก
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ในที่นั้น ภิกษุทั้งหลายจักพยาบาล และหมอชีวกโกมารภัจจ์
จักรักษา เราหายโรคแล้วจักสึก จึงบุรุษนั้นเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา. ภิกษุทั้งหลาย


                                                            หน้าที่ ๑๑๙

ให้บุรุษนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้วต้องพยาบาล และหมอชีวกโกมารภัจจ์ต้องรักษาภิกษุนั้น. ภิกษุ
นั้นหายโรคแล้วสึก.
                หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เห็นบุรุษนั้นสึกแล้ว จึงได้ไต่ถามบุรุษนั้นว่า เจ้าบวชในสำนัก
ภิกษุมิใช่หรือ?
                บุรุษ. ใช่แล้วขอรับ ท่านอาจารย์.
                ชี. เจ้าได้ทำพฤติการณ์เช่นนั้น เพื่อประสงค์อะไร?
                จึงบุรุษนั้น ได้เรียนเรื่องนั้นให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ทราบ.
                หมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงได้
ให้กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้วบวชเล่า. ครั้นแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงยังกุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิด
กระทบเข้าแล้ว ให้บวช.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้
สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วกลับไป.
                                                                ทรงห้ามบวชคนเป็นโรคติดต่อ
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิด กระทบ
เข้าแล้ว ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                เรื่องราชภัฏบวช
                [๑๐๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองปลายเขตแดนของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
เกิดจลาจล. ครั้งนั้น ท้าวเธอจึงมีพระบรมราชโองการสั่งพวกมหาอำมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกองว่า
ดูกรพนาย ท่านทั้งหลายจงไปปรับปรุงเมืองปลายเขตแดนให้เรียบร้อย. พวกมหาอำมาตย์ผู้เป็น
แม่ทัพนายกองกราบทูลรับสนองพระบรมราชโองการพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า ขอ
เดชะ พระพุทธเจ้าข้า. ครั้งนั้น เหล่าทหารบรรดาที่มีชื่อเสียง ได้มีความปริวิตกว่า พวกเรา


                                                            หน้าที่ ๑๒๐

พอใจในการรบ พากันไปทำบาปกรรม และประสพกรรมมิใช่บุญมาก ด้วยวิธีอย่างไรหนอ
พวกเราพึงงดเว้นจากบาปกรรม แลทำแต่ความดี ดังนี้ และได้มีความปริวิตกต่อไปว่า พระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์
กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าแลพวกเราจะพึงบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตร ด้วยวิธีอย่างนี้ พวกเราก็จะพึงเว้นจากบาปกรรม และทำแต่ความดี ดังนี้
จึงพากันเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา. ภิกษุทั้งหลายให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบทแล้ว.
                พวกมหาอำมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกองถามพวกราชภัฏว่า แน่ะพนาย ทหารผู้มีชื่อนี้
และมีชื่อนี้ หายไปไหน?
                พวกราชภัฏเรียนว่า นาย ทหารผู้มีชื่อนี้และมีชื่อนี้ บวชในสำนักภิกษุแล้ว ขอรับนาย.
                พวกมหาอำมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกอง จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนเหล่า-
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ให้ราชภัฏบวชเล่า แล้วกราบบังคมทูลความเรื่องนั้น
แด่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช.
                จึงท้าวเธอได้ตรัสถามมหาอำมาตย์ผู้พิพากษาว่า ดูกรพนาย ภิกษุรูปใดให้ราชภัฏบวช
ภิกษุรูปนั้นจะต้องโทษสถานไร?
                คณะมหาอำมาตย์ผู้พิพากษากราบทูลว่า ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม
พระอุปัชฌายะต้องถูกตัดศีรษะ พระอนุสาวนาจารย์ต้องถูกดึงลิ้นออกมา พระคณะปูรกะต้องถูก
หักซี่โครงแถบหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า
                จึงท้าวเธอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับ
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้า
ข้า พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย ที่ไม่มีศรัทธา ไม่ทรงเลื่อมใสจะพึงเบียดเบียนภิกษุทั้งหลาย แม้
ด้วยกรณีเพียงเล็กน้อย หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้เป็นเจ้า
ทั้งหลายไม่พึงให้ราชภัฏบวช. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา-
มาคธราชทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทาน ทรงอาจหาญ ทรงร่าเริงด้วยธรรมีกถา. ครั้นท้าวเธออัน
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้ทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทาน ทรงอาจหาญ ทรงร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้ว เสด็จลุกจากพระที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘