พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 111-115

                                                            หน้าที่ ๑๑๑

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.
                                                                กัณหปักษ์ ๖
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
                                ๑. ไม่อาจฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาอันเป็นอภิสมาจาร
                                ๒. ไม่อาจแนะนำในสิกขา อันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
                                ๓. ไม่อาจแนะนำในธรรมอันยิ่งขึ้นไป
                                ๔. ไม่อาจแนะนำในวินัยอันยิ่งขึ้นไป
                                ๕. ไม่อาจเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม และ
                                ๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสสัย
ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.
                                                                ศุกลปักษ์ ๖
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงให้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
                                ๑. อาจฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาอันเป็นอภิสมาจาร
                                ๒. อาจแนะนำในสิกขา อันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
                                ๓. อาจแนะนำในธรรมอันยิ่งขึ้นไป
                                ๔. อาจแนะนำในวินัยอันยิ่งขึ้นไป
                                ๕. อาจเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม และ
                                ๖. มีพรรษาได้ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึง
ให้สามเณรอุปัฏฐาก.


                                                            หน้าที่ ๑๑๒

                                                                กัณหปักษ์ ๗
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
                                ๑. ไม่รู้จักอาบัติ
                                ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
                                ๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา
                                ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
                                ๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองไม่ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกไม่ได้ด้วยดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยไม่เรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ และ
                                ๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสสัย
ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.
                                                                ศุกลปักษ์ ๗
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงให้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
                                ๑. รู้จักอาบัติ
                                ๒. รู้จักอนาบัติ
                                ๓. รู้จักอาบัติเบา
                                ๔. รู้จักอาบัติหนัก
                                ๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัย
เรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ และ
                                ๖. มีพรรษาได้ ๑๐ หรือพรรษาเกิน ๑๐
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึง
ให้สามเณรอุปัฏฐาก.
                องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ให้อุปสมบท ๑๖ หมวด ๑- จบ
#๑ ตามบาลีนับได้ ๑๔ หมวด


                                                            หน้าที่ ๑๑๓

                                                                ติตถิยปริวาส
                [๑๐๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่
โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม. เธอกลับมา
ขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้
มีพระภาคตรัสว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดย
ชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม มาแล้ว ไม่พึง
อุปสมบทให้ แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้
ปริวาส ๔ เดือนแก่เธอ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ติดถิยปริวาสอย่างนี้:-
                                                                วิธีให้ติตถิยปริวาส
                ชั้นต้นพึงให้กุลบุตรที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ
ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลีสั่งว่า จงว่า
อย่างนี้ แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้:-
                                                                ไตรสรณคมน์
                                พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
                                ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง
                                สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
                                ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง
                                ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง


                                                            หน้าที่ ๑๑๔

                                ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง
                                ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม
                                ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม
                                ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
                                ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า
กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอติตถิยปริวาสอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                คำขอติตถิยปริวาส
                ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้น ขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์.
                พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม.
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาให้ติตถิยปริวาส
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว
สงฆ์พึงให้ปริวาส ๔ เดือน แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. นี่เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. สงฆ์ให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้
ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. การให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบ
แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
                ปริวาส ๔ เดือน สงฆ์ให้แล้ว แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบแก่สงฆ์
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.


                                                            หน้าที่ ๑๑๕

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี อย่างนี้ และ
เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้.
                                                                ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้
สงฆ์ยินดี?
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านเช้า
เกินไป กลับสายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี.
                ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิง
แพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร หรือมี
ภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี.
                ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน
เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา
สอดส่อง ในการนั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัดการ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
                ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่สนใจ
ในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้
ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี.
                ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตนหลีกมาจาก
สำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ
และความยึดถือ ของครูคนนั้น ยังโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติพระพุทธเจ้า
พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์
แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ
และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า
พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดีแห่ง
กุลบุตรผู้เคยเป็นเดียรถีย์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘