พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 111-115

                                                            หน้าที่ ๑๑๑

                                ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
                [๑๘๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถาน
ที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์มีมหรสพบน
ยอดภูเขา เหล่าภิกษุณีฉัพพัคคีย์ได้พากันไปดูมหรสพบนยอดภูเขา พวกชาวบ้านพากันเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้พากันไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การ
ประโคมดนตรีบ้าง เหมือนสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า ...
                ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้น พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดา
ที่เป็นผู้มักน้อย  ...  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้พากันไปดูการ
ฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรีบ้างเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีฉัพพัคคีย์
พากันไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรีบ้าง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้พากัน
ไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรีบ้างเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๖๕. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไปดูการฟ้อนรำก็ดี การขับร้องก็ดี การประโคม
ดนตรีก็ดี เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๘๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...


                                                            หน้าที่ ๑๑๒

                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า การฟ้อนรำ ได้แก่ การฟ้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง.
                ที่ชื่อว่า การขับร้อง ได้แก่ เพลงขับอย่างใดอย่างหนึ่ง.
                ที่ชื่อว่า การประโคมดนตรี ได้แก่ เครื่องดีดสีตีเป่าอย่างใดอย่างหนึ่ง.
                ภิกษุณีเดินไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฏ. ยืนอยู่ ณ ที่ใด ยังแลเห็นหรือได้ยิน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์. พ้นสายตาไปแล้ว กลับแลดูหรือฟังอีก ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุณีเดินไปเพื่อจะดูเครื่องมหรสพเฉพาะอย่างๆ ต้องอาบัติทุกกฏ. ยืนอยู่ ณ ที่ใด
ยังแลเห็นหรือได้ยิน ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์. พ้นสายตาไปแล้ว กลับแลดูหรือฟังอีก ก็ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                อนาปัตติวาร
                [๑๘๔] ยืนอยู่ในอารามแลเห็นหรือได้ยิน ๑ เขาฟ้อนรำขับร้อง หรือประโคมผ่านมายัง
สถานที่ภิกษุณียืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ ๑ เดินสวนทางไป แลเห็นหรือได้ยิน ๑ เมื่อมีกิจ
จำเป็นเดินผ่านไปแลเห็นหรือได้ยิน ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑ จบ.
                                _______________


                                                            หน้าที่ ๑๑๓

                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๒
                                อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑
                เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททากาปิลานีเถรี
                [๑๘๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ญาติผู้ชายของภิกษุณี อันเตวาสินีแห่งพระภัททา
กาปิลานีเถรี ได้จากบ้านไปสู่พระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ฝ่ายภิกษุณีนั้นกับญาติผู้ชาย
นั้นหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมบ้าง เจรจาร่วมบ้าง ในเวลาค่ำมืด ไม่มีแสงสว่าง.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีจึง
ได้ยืนร่วมบ้าง เจรจาร่วมบ้าง กับบุรุษในเวลาค่ำมืด ที่ไม่มีแสงสว่าง หนึ่งต่อหนึ่งเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีกับบุรุษ
หนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมบ้าง เจรจาร่วมบ้าง ในเวลาค่ำมืด ที่ไม่มีแสงสว่าง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีกับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง
จึงได้ยืนร่วมบ้าง เจรจาร่วมบ้าง ในเวลาค่ำมืด ที่ไม่มีแสงสว่างเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๖๖. ๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี ในเวลา
ค่ำมืด ไม่มีประทีป เป็นปาจิตตีย์.
                เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททากาปิลานีเถรี จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๘๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.


                                                            หน้าที่ ๑๑๔

                บทว่า ในเวลาค่ำมืด ได้แก่ เวลาพระอาทิตย์ตกดินแล้ว.
                บทว่า ไม่มีประทีป คือ ไม่มีแสงสว่าง.
                ที่ชื่อว่า บุรุษ ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย มิใช่ยักษ์ผู้ชาย มิใช่เปรตผู้ชาย มิใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ เป็นบุคคลผู้รู้ความ เป็นผู้สามารถจะยืนร่วม เจรจาร่วมได้.
                บทว่า กับ คือ ด้วยกัน.
                บทว่า หนึ่งต่อหนึ่ง คือ บุรุษหนึ่ง และภิกษุณีรูปหนึ่ง.
                บทว่า ยืนร่วมก็ดี คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนของบุรุษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บทว่า เจรจาร่วมก็ดี คือ เจรจาอยู่ในช่วงแขนของบุรุษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
                ยืนร่วม หรือเจรจาร่วม พ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ยืนร่วมหรือเจรจาร่วม กับยักษ์ผู้ชาย เปรตผู้ชาย บัณเฑาะก์หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี
ร่างกายคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                อนาปัตติวาร
                [๑๘๗] มีสตรีผู้รู้ความคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๑ ไม่เพ่งที่ลับยืนร่วมหรือเจรจาร่วม ๑
ส่งใจไปอื่น ยืนร่วมหรือเจรจาร่วม ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                ________________


                                                            หน้าที่ ๑๑๕

                                อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๒
                เรื่องภิกษุณีอันเตวาสีนีของพระภัททากาปิลานีเถรี
                [๑๘๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามอนาถ
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ญาติผู้ชายของภิกษุณีอันเตวาสินีแห่งภัททากาปิลานีเถรี
ได้จากบ้านไปสู่พระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ฝ่ายภิกษุณีนั้นทราบแล้วว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงห้ามการยืนร่วม เจรจาร่วม กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ในเวลาค่ำมืด ไม่มีประทีป จึงยืนร่วมบ้าง
เจรจาร่วมบ้าง กับบุรุษผู้นั้นและหนึ่งต่อหนึ่ง ในสถานที่กำบัง.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีจึงได้
ยืนร่วมบ้าง เจรจาร่วมบ้าง กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ในสถานที่กำบังเล่า.
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณียืนร่วมบ้าง
เจรจาร่วมบ้าง กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ในสถานที่กำบัง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงได้ยืนร่วมบ้าง
เจรจาร่วมบ้าง กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ในสถานที่กำบังเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ
เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๖๗. ๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี ในสถาน
ที่กำบัง เป็นปาจิตตีย์.
                เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททากาปิลานีเถรี จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๘๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้. ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘