พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 101-105

                                                            หน้าที่ ๑๐๑

มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดแก่โรชะมัลลกษัตริย์ ณ สถานที่
ประทับนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว
ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ได้หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้องอาจไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อย่ารับของ
คนอื่น.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ แม้อริยบุคคลผู้ได้เห็นธรรมแล้วด้วยญาณของ
พระเสขะ ด้วยทัสสนะของพระเสขะเหมือนอย่างท่าน ก็คงมีความปรารภอย่างนี้ว่า โอ
พระคุณเจ้าทั้งหลายคงกรุณารับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของพวกเรา
เท่านั้น คงไม่รับของผู้อื่นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจักรับปัจจัยของท่านด้วย
ของคนอื่นด้วย.
                ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่นครกุสินารา
ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ไม่ได้ลำดับที่จะถวายภัตตาหารจึงได้ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดู
โรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ครั้นแล้วทรงตรวจดูในโรงอาหาร
ไม่ทอดพระเนตรเห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเสด็จเข้าไปหา
ท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้ทูลหารือว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าไม่ได้ลำดับที่จะ
ถวายภัตตาหาร ณ สถานที่แห่งนี้ ได้มีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใด
ไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ท่านพระอานนท์เจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นเมื่อตรวจดู
โรงอาหาร ไม่ได้เห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ หากข้าพเจ้าพึง
ตกแต่งผักสดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงรับของข้าพเจ้าหรือไม่
เจ้าข้า?
                ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้นอาตมาจะทูลถามพระผู้มีพระภาคดู
แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.


                                                            หน้าที่ ๑๐๒

                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้นจงให้เขาตกแต่งเถิด.
                ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้น ท่านจงตกแต่งถวาย.
                โรชะมัลลกษัตริย์ จึงสั่งให้ตกแต่งผักสด และของขบเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นอันมาก
โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคพลางกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรด
รับผักสด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ ถ้าเช่นนั้น จงถวายภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย
รังเกียจ ไม่รับประเคน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด.
ขณะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยผักสด และของ
ขบฉันที่ทำด้วยแป้งมากมาย ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนยังพระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์แล้ว
ทรงนำพระหัตถ์จากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว ได้ประทับเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ทรงชี้แจงให้โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
                                                พระพุทธานุญาตผักและแป้ง
                ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาแล้ว ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิด
และของขบฉันที่ทำด้วยแป้งทุกชนิด.
                                                                เรื่องวุฑฒบรรพชิต
                [๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครกุสินาราตามพระพุทธาภิรมย์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินทางอาตุมานครพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น
มีภิกษุบวชภายแก่รูปหนึ่ง เคยเป็นช่างกัลบก อาศัยอยู่ในอาตุมานคร เธอมีบุตรชายสองคน
เป็นเด็กพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี ขยันแข็งแรง มีฝีมือยอดเยี่ยมในการช่างกัลบกของตน
ดีเท่าอาจารย์ เธอได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์อันนั้นแก่บุตรทั้งสองนั้นว่า พ่อ
ทั้งหลายข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ


                                                            หน้าที่ ๑๐๓

,๒๕๐ ไปเถิด พ่อทั้งสอง จงถือเครื่องมือตัดผม และโกนผม กับทะนานและถุง เที่ยวไปตัด
และโกนผม ตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง
พ่อจักทำยาคูที่ดื่มได้ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จมาถึงแล้ว.
                บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติเช่นนั้น แล้วถือเครื่องมือตัดผม
โกนผมกับทะนานและถุง เที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง
ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ชาวบ้านเห็นเด็กสองคนนั้นพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี แม้ผู้ที่
ไม่ประสงค์จะให้ตัดและโกนผม ก็ให้ตัดให้โกนผม ถึงให้ตัดให้โกนผมแล้ว ก็ให้ค่าแรงมาก
เป็นอันว่าเด็กทั้งสองคนนั้นเก็บรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง
ได้เป็นอันมาก.
                ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ เสด็จถึงอาตุมานครแล้ว ทราบว่าพระองค์
ประทับอยู่ที่ภูสาคารเขตอาตุมานครนั้น จึงพระขรัวตานั้น สั่งให้คนตกแต่งข้าวยาคูเป็นอันมาก
โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค
จงโปรดรับข้าวยาคูของข้าพระพุทธเจ้า.
                                                                พุทธประเพณี
                พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี
ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม
สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย
ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอบถาม
ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่าง ๑ จักทรงบัญญัติสิกขาบท
แก่พระสาวกทั้งหลายอย่าง ๑.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระขรัวตานั้นว่า ดูกรภิกษุ ข้าวยาคูนี้เธอได้มา
จากไหน พระขรัวตาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ.
                                ห้ามภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกเก็บรักษามีดโกน
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม
ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอบวชแล้วจึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอัน
ไม่ควรเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ....


                                                            หน้าที่ ๑๐๔

ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักจูงทายก
ในสิ่งอันไม่ควร รูปใดชักจูง ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบก ไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผม
ไว้สำหรับตัว รูปใดเก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                พระพุทธานุญาตผลไม้
                [๙๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาตุมานครตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ
พุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์
ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น เวลานั้น
ของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก จึงภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ของขบฉันคือ
ผลไม้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด.
                                                                พืชของสงฆ์และของบุคคล
                [๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พืชของสงฆ์เขาเพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคล
เขาเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่
ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่ง
แล้วบริโภค.
                                                พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
                [๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า
สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค.
                                                วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ
                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้:-
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่
ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย


                                                            หน้าที่ ๑๐๕

                ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร
ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย
                ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่
ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย
                ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่ง
ที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
                                                พระพุทธานุญาตกาลิกระคน
                [๙๓] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควร
หรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับยาว-
กาลิกควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคน
กับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัส ว่าดังนี้:-
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล
ไม่ควรในวิกาล
                ๒. สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล
                ๓. ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล
                ๔. สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้ว
ไม่ควร.
                ๕. ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร.
                ๖. ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วัน
แล้วไม่ควร.
                                                                เภสัชชขันธกะ ที่ ๖ จบ.
                                                ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘