พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 091-095

                                                            หน้าที่ ๙๑

                จึงเมณฑกะคหบดีสั่งบุตรว่า ถ้าเช่นนั้น พ่อจงแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า
                ขณะนั้น บุตรของท่านเมณฑกะคหบดีถือถุงจุเงินพันหนึ่ง ถุงเดียวเท่านั้น แล้วได้แจก
เบี้ยหวัดกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า เงินนั้นมิได้หมดสิ้นไป ตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา
                ท่านมหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของบุตรท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ขอชมอิทธานุภาพของสะใภ้ท่าน
                เมณฑกะคหบดีสั่งสะใภ้ทันทีว่า ถ้าเช่นนั้น แม่จงแจกข้าวกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า
                ขณะนั้น สะใภ้ของเมณฑกะคหบดีได้นั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น
แล้วได้แจกข้าวกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไป
จากที่
                มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของสะใภ้ท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ขอชมอิทธานุภาพของทาสท่าน
                เมณ. อิทธานุภาพของทาสข้าเจ้า ท่านต้องชมที่นา ขอรับ.
                ม. ไม่ต้องละท่านคหบดี แม้อิทธานุภาพของทาสท่าน ก็เป็นอันข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ครั้นเสร็จราชการนั้นแล้ว ท่านมหาอำมาตย์นั้นพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า ก็เดินทางกลับพระนคร
ราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ.
                [๘๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว
เสด็จจาริกทางพระนครภัททิยะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จจาริก
โดยลำดับ ได้เสด็จถึงพระนครภัททิยะแล้วทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขต
พระนครภัททิยะนั้น.
                                                                                พระพุทธคุณ
                เมณฑกะคหบดีได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรง
ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงพระนครภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนคร
ภัททิยะ ก็พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ
เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา


                                                            หน้าที่ ๙๒

ของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอน
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์
บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี
                หลังจากนั้น เมณฑกะคหบดีให้จัดแจงยวดยานที่งามๆ แล้วขึ้นสู่ยวดยานที่งามๆ มี
ยวดยานที่งามๆ หลายคันแล่นออกจากพระนครภัททิยะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค.
                พวกเดียรถีย์เป็นอันมาก ได้เห็นเมณฑกะคหบดีกำลังมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้
ทักถามเมณฑกะคหบดีว่า ท่านคหบดี ท่านจะไปที่ไหน?
                เมณ. ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าพระสมณะโคดม เจ้าข้า.
                ด. คหบดี ก็ท่านเป็นกิริยวาท จะไปเฝ้าสมณะโคดมผู้เป็นอกิริยวาททำไม เพราะ
พระสมณะโคดมเป็นอกิริยวาท แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
                ลำดับนั้น เมณฑกะคหบดีคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น เดียรถีย์พวกนี้จึงพากันริษยา แล้วไปด้วย
ยวดยานตลอดภูมิภาคที่ยวดยานจะไปได้ ลงจากยวดยานแล้ว เดินเข้าไปในพุทธสำนัก ถวาย
บังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
                                                                ทรงแสดงธรรมโปรด
                พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพพิกถาแก่เมณฑกะคหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่าน
เมณฑกะคหบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว
จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านเมณฑกะ-
คหบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับ
เป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น.


                                                            หน้าที่ ๙๓

                                                                แสดงตนเป็นอุบาสก
                ครั้นเมณฑกะคหบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรม
แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้อง
เชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์
แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรง
ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทาง
แก่คนหลงทางหรือส่งประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้า
นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธ-
เจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมกับ
ภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ
ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
ครั้นเมณฑกะคหบดีทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมทำ
ประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้
เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว.
                ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนิน
เข้าไปทางนิเวศน์ของเมณฑกะคหบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์
                ขณะนั้น ภรรยา บุตร สะใภ้ และทาส ของเมณฑกะคหบดีได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เขาทั้งหลาย
คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ชนเหล่านั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน
มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า
ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่เขาทั้งหลาย ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี


                                                            หน้าที่ ๙๔

ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น.
                ครั้นชนเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยแล้ว ถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรม
โดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า คนมีจักษุจะเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
                ครั้นเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร
อันประณีต ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้าม
ภัตรแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลปวารณาแด่พระผู้มีพระภาคว่า ตราบใดที่
พระองค์ยังประทับอยู่ ณ พระนครภัททิยะ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป.
                                                เมณฑกคหบดีอังคาสพระสงฆ์
                [๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว
ไม่ได้ทรงลาเมณฑกะคหบดี เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จพระ
พุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป จึงสั่ง
ทาสและกรรมกรว่า พนายทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสาร
บ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ และคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัว
มาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ณ สถานที่ๆ เราได้พบ


                                                            หน้าที่ ๙๕

พระผู้มีพระภาค ครั้นเมณฑกะคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร จึงเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า พระพุทธเจ้าข้า
ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า
เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดย
ดุษณีภาพ ครั้นเมณฑกะคหบดี ทราบการทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง
ถวายบังคมทำประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้น
แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว.
                ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ-
ดำเนินเข้าสถานที่อังคาสของเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเมณฑกะคหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนว่า พนายทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
จงช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ เราจักเลี้ยงพระด้วยน้ำนมสด
อันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ครั้นแล้วได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย-
โภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตรแล้ว ภิกษุ
ทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
จงรับประเคนฉันเถิด.
                เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร
อันประณีต และด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำ
พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทาง
กันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระ
วโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                เมณฑกานุญาต
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป หลังจากนั้นพระองค์ทรงทำธรรมีกถา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘