พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 091-095

                                                            หน้าที่ ๙๑

                พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียง
หรือใต้ตั่ง แล้วเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
                เมื่อเก็บจีวร เอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้ว
ทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วจึงเก็บจีวร
                เมื่ออันเตวาสิกลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า
ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย.
                ถ้าอันเตวาสิกใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงให้ ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นให้
ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนให้.
                ถ้าอันเตวาสิกประสงค์จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟไป
ให้ตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงให้จุณ ให้ดิน
                ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้า
ทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่พึงห้ามกันอาสนะภิกษุใหม่ พึง
ทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกในเรือนไฟ
                เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง ออกจาก
เรือนไฟ
                พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกแม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้วพึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้
แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวของอันเตวาสิก พึงให้ผ้านุ่ง พึงให้ผ้าสังฆาฏิ พึงถือตั่ง
สำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้
พึงถามอันเตวาสิกด้วยน้ำฉัน.
                อันเตวาสิกอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย
เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตรจีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงขนผ้าปูนั่ง
และผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
                เตียงตั่งอาจารย์พึงยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู
ขนออกให้เรียบร้อย แล้วตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เขียงรองเตียง กระโถน พนักอิง
พึงขนออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้นพึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกวางไว้ ณ ที่
ควรส่วนข้างหนึ่ง.


                                                            หน้าที่ ๙๒

                ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง พึง
เช็ดเสีย ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน พื้นเขาทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย
ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสีย ระวังอย่าให้วิหารฟุ้งด้วยธุลี พึงกวาดหยากเยื่อ
ทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ เคาะ ปัดเสีย ขนกลับปูไว้ตามเดิม
เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด ขัด เช็ด เสีย ขนกลับตั้งไว้ที่เดิม เตียงตั่งพึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะเสีย
ยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับไปให้ดีๆ แล้วตั้งไว้
ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงผึ่งแดด ทำให้สะอาด ตบเสีย แล้วนำกลับวางปูไว้
ตามเดิมกระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด เช็ด ถูเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม
                พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำ
ใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงวางบาตรบนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
                เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียงแล้ว
ทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วจึงเก็บจีวร.
                ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก  ถ้าพัดมา
แต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก  ถ้าพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าฤดูหนาวพึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน.
                ถ้าบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎี รก พึงปัดกวาดเสีย ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้
ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำไว้ในหม้อชำระ.
                ถ้าความกระสันบังเกิดแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงช่วยระงับ หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย
ระงับ หรือพึงทำธรรมีกถาแก่อันเตวาสิกนั้น ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่อันเตวาสิก อาจารย์
พึงบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงทำธรรมีกถาแก่อันเตวาสิกนั้น ถ้าความ
เห็นผิดบังเกิดแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำ
ธรรมีกถาแก่อันเตวาสิกนั้น. ถ้าอันเตวาสิกต้องอาบัติหนัก ควรปริวาส อาจารย์พึงทำความ
ขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อันเตวาสิก ถ้าอันเตวาสิกควร
ชักเข้าหาอาบัติเดิม อาจารย์พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอันเตวาสิก
เข้าหาอาบัติเดิม ถ้าอันเตวาสิกควรมานัต อาจารย์พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ


                                                            หน้าที่ ๙๓

สงฆ์พึงให้มานัตแก่อันเตวาสิก ถ้าอันเตวาสิกควรอัพภาน อาจารย์พึงทำความขวนขวายว่า
ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอันเตวาสิก.
                ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะทำกรรมแก่อันเตวาสิก คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม อาจารย์พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อันเตวาสิก หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา หรืออันเตวาสิกนั้น
ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม
แล้ว อาจารย์พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบ พึง
หายเย่อหยิ่ง พึงประพฤติแก้ตัว สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย.
                ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องซัก อาจารย์พึงบอกว่า เธอพึงซักอย่างนี้ หรือพึงทำความ
ขวนขวายว่า  ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอันเตวาสิก ถ้าจีวรของอันเตวาสิก
จะต้องทำ อาจารย์พึงบอกว่า เธอพึงทำอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
ใครๆ พึงทำจีวรของอันเตวาสิก ถ้าน้ำย้อมของอันเตวาสิกจะต้องต้ม อาจารย์พึงบอกว่า เธอ
พึงต้มอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
อันเตวาสิก ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องย้อม อาจารย์พึงบอกว่า เธอพึงย้อมอย่างนี้ หรือพึง
ทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอันเตวาสิก เมื่อย้อมจีวร
พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย.
ถ้าอันเตวาสิกอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าจะหาย.
                                                                อันเตวาสิกวัตร จบ
                                                                ______________


                                                            หน้าที่ ๙๔

                                                                ว่าด้วยการประณาม
                [๙๕] ก็โดยสมัยนั้นแล อันเตวาสิกทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลาย. ภิกษุ
ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันเตวาสิกจะไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                พวกอันเตวาสิกยังไม่ประพฤติชอบตามเดิม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามอันเตวาสิกผู้ไม่
ประพฤติชอบ.
                                                                วิธีประณาม
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกอย่างนี้ว่า ฉันประณามเธอ เธออย่าง
เข้ามา ณ ที่นี้ เธอจงขนบาตรจีวรของเธอออกไปเสีย หรือพึงประณามว่า เธอไม่ต้องอุปฐากฉัน
ดังนี้ ก็ได้ อาจารย์ย่อมยังอันเตวาสิกให้รู้ด้วยกายก็ได้ ให้รู้ด้วยวาจาก็ได้ ให้รู้ด้วยทั้งกายและ
วาจาก็ได้ อันเตวาสิกชื่อว่าเป็นอันถูกประณามแล้ว ถ้ามิให้รู้ด้วยกาย มิให้รู้ด้วยวาจา มิให้รู้
ด้วยทั้งกายและวาจา อันเตวาสิกไม่ชื่อว่าถูกประณาม.
                สมัยต่อมา พวกอันเตวาสิกถูกประณามแล้ว ไม่ขอให้อาจารย์อดโทษ. ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้อันเตวาสิกขอให้อาจารย์อดโทษ. พวกอันเตวาสิกไม่ยอมขอให้อาจารย์อดโทษอย่างเดิม. ภิกษุ
ทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันเตวาสิกถูกประณามแล้ว จะไม่ขอให้อาจารย์อดโทษไม่ได้ รูปใดไม่ขอให้อาจารย์อดโทษ
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                สมัยต่อมา อาจารย์ทั้งหลายอันเหล่าอันเตวาสิกขอให้อดโทษอยู่ ก็ไม่ยอมอดโทษ.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้อาจารย์อดโทษ.
                อาจารย์ทั้งหลายยังไม่ยอมอดโทษอย่างเดิม. พวกอันเตวาสิกหลีกไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง
ไปเข้ารีดเดียรถีย์เสียบ้าง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์อันพวกอันเตวาสิกขอให้อดโทษอยู่ จะไม่ยอมอดโทษไม่ได้
รูปใดไม่ยอมอดโทษ ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๙๕

                สมัยต่อมา อาจารย์ทั้งหลายประณามอันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณามอันเตวาสิก
ผู้ประพฤติมิชอบ. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ อาจารย์ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้อง
อาบัติทุกกฏ. แต่อันเตวาสิกผู้ประพฤติมิชอบ อาจารย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                องค์แห่งการประณาม
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
                                ๑. หาความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์มิได้
                                ๒. หาความเลื่อมใสอย่างยิ่งมิได้
                                ๓. หาความละอายอย่างยิ่งมิได้
                                ๔. หาความเคารพอย่างยิ่งมิได้ และ
                                ๕. หาความหวังดีต่ออย่างยิ่งมิได้
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
                                ๑. มีความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์
                                ๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง
                                ๓. มีความละอายอย่างยิ่ง
                                ๔. มีความเคารพอย่างยิ่ง และ
                                ๕. มีความหวังดีต่ออย่างยิ่ง
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรประณาม คือ
                                ๑. หาความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์มิได้
                                ๒. หาความเลื่อมใสอย่างยิ่งมิได้
                                ๓. หาความละอายอย่างยิ่งมิได้
                                ๔. หาความเคารพอย่างยิ่งมิได้ และ
                                ๕. หาความหวังดีต่ออย่างยิ่งมิได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘