พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 091-095

                                                            หน้าที่ ๙๑

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๓๗. ๒. อนึ่ง ภิกษุณีผู้จะให้เขาจ่ายผ้าห่มเบา พึงให้จ่ายได้เพียงราคา ๒ กังสะ
กึ่งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้จ่ายยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๔๓] ที่ชื่อว่า ผ้าห่มเบา ได้แก่ ผ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง สำหรับห่มในฤดูร้อน.
                บทว่า ผู้จะให้จ่าย คือ ผู้จะขอ.
                บทว่า พึงให้จ่ายได้เพียงราคา ๒ กังสะกึ่งเป็นอย่างยิ่ง คือ พึงให้จ่ายผ้ามีราคาเพียง
๑๐ กหาปณะได้.
                คำว่า ถ้าให้จ่ายยิ่งกว่านั้น ความว่า ขอผ้ามีราคาเกินกว่านั้น เป็นทุกกฏในประโยค
เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้ผ้ามา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือภิกษุณีรูปหนึ่ง.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลผ้าเป็นนิสสัคคีย์นั้น อันภิกษุณีพึงเสียสละอย่างนี้.
                                วิธีเสียสละ
                                เสียสละแก่สงฆ์
                ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ...  แม่เจ้า ผ้าห่มเบาผืนนี้ของข้าพเจ้ามีราคาสูงเกิน ๒ กังสะกึ่ง
ขอได้มา เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าห่มเบาผืนนี้แก่สงฆ์ ...  สงฆ์พึงให้ผ้าห่มเบาผืนนี้แก่
ภิกษุณีมีชื่อนี้ ดังนี้.
                                เสียสละแก่คณะ
                ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ...  แม่เจ้าทั้งหลายพึงให้ผ้าห่มเบาผืนนี้แก่ภิกษุณี
มีชื่อนี้ ดังนี้.
                                เสียสละแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
                ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ...  ข้าพเจ้าให้ผ้าห่มเบาผืนนี้แก่แม่เจ้า ดังนี้.


                                                            หน้าที่ ๙๒

                                บทภาชนีย์
                                ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
                [๑๔๔] ผ้าห่มเบามีราคาเกิน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ขอได้มา เป็นนิสสัคคีย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ผ้าห่มเบามีราคาเกิน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสงสัย ขอได้มา เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ผ้าห่มเบามีราคาเกิน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อน ขอได้มา เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                                ทุกะทุกกฏ
                ผ้าห่มเบามีราคาหย่อน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ผ้าห่มเบามีราคาหย่อน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                ไม่ต้องอาบัติ
                ผ้าห่มเบามีราคาหย่อน ๒ กังสะกึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อน ไม่ต้องอาบัติ.
                                อนาปัตติวาร
                [๑๔๕] ขอผ้าห่มเบามีราคา ๒ กังสะกึ่งเป็นอย่างยิ่ง ๑ ขอผ้าห่มเบามีราคาหย่อน ๒
กังสะกึ่ง ๑ ขอต่อญาติ ๑ ขอต่อคนปวารณา ๑ ขอเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์
ของตน ๑ ทายกประสงค์ให้จ่ายผ้าห่มเบามีราคาแพงแต่ให้จ่ายผ้าห่มเบามีราคาถูก ๑ วิกลจริต ๑
อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                บทสรุป
                [๑๔๖] แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท  ข้าพเจ้ายกขึ้น
แสดงแล้วแล ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สองว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์
แล้วหรือ ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สามว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ? แม่เจ้าทั้งหลายเป็น
ผู้บริสุทธิ์แล้วในธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทเหล่านี้ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความ
นี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จบ.
---           ปาจิตติยกัณฑ์
                แม่เจ้าทั้งหลาย ก็ธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ.
                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑
                                ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
                [๑๔๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งได้ปวารณากระเทียมไว้แก่
ภิกษุณีสงฆ์ว่า แม่เจ้าเหล่าใดต้องการกระเทียม กระผมขอปวารณา. และยังได้สั่งคนเฝ้าไร่ไว้ด้วย
ว่า ถ้าภิกษุณีทั้งหลายมาขอ จงถวายท่านไปรูปละ ๒-๓ กำ. ก็สมัยนั้นแล ในเมืองสาวัตถีกำลัง
มีงานมหรสพ. กระเทียมเท่าที่เขานำมาขายได้หมด ขาดคราว. ภิกษุณีทั้งหลายพากันเข้าไปหาอุบาสก
คนนั้น แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า อาวุโส พวกอาตมาต้องการกระเทียม
                อุบาสกกล่าวว่า ไม่มี เจ้าข้า กระเทียมเท่าที่นำมาแล้วหมด ขาดคราว ขอท่านทั้งหลายได้
โปรดไปที่ไร่
                ภิกษุณีถุลลนันทาได้ไปที่ไร่ ขนกระเทียมไปมาก ไม่รู้จักประมาณ. คนเฝ้าไร่จึงเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายไปถึงไร่แล้วจึงไม่รู้จักประมาณ ขนกระเทียมไปมากมาย
เล่า.
                ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเฝ้าไร่เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ...
ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงไม่รู้จักประมาณ ขนกระเทียมเอาไป
มากมายเล่า.
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทา
ไม่รู้จักประมาณ ขนกระเทียมไปมากมาย จริงหรือ?
                ภิกษุณีทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้
ไม่รู้จักประมาณ ขนกระเทียมเขาไปมากมาย การกระทำของนางนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ


                                                            หน้าที่ ๙๓

ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำ
ของนางนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของ
ชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
                [๑๔๘] พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุณีถุลลนันทา โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ทรง
กระทำธรรมมีกถาอันสมควรแก่เรื่องนั้น อันเหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสเล่า
กะภิกษุทั้งหลายว่า
                                เรื่องหงส์ทอง
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้เคยเป็นปชาบดีของพราหมณ์
คนหนึ่ง มีธิดา ๓ คน ชื่อนันทา ๑ นันทวดี ๑ สุนทรีนันทา ๑ ครั้นพราหมณ์สามีทำลายขันธ์
ไปบังเกิดในกำเนิดหงส์ตระกูลหนึ่ง มีขนเป็นทองทั้งตัว หงส์นั้นสลัดขนให้แก่สตรีเหล่านั้น
คนละขน แต่ภิกษุณีถุลลนันทาคิดว่า หงส์ตัวนี้สลัดขนให้แก่พวกเราคนละขนเท่านั้น แล้วได้จับ
พระยาหงส์นั้นถอนขนจนเกลี้ยง ขนพระยาหงส์นั้นที่งอกใหม่ได้กลายเป็นสีขาวไป.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นภิกษุณีถุลลนันทาได้เสื่อมจากทองเพราะความโลภจัด มาบัดนี้
เสื่อมจากกระเทียม.
                [๑๔๙] ได้สิ่งใดแล้ว ควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภจัดเป็นเหตุให้เสื่อม เหมือน
ภิกษุณีถุลลนันทาจับพระยาหงส์ถอนขนแล้ว เสื่อมจากทองฉะนั้น.
                [๑๕๐] พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุณีถุลลนันทา โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ...  ตรัส
กะภิกษุทั้งหลายว่า ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๕๖. ๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ฉันกระเทียม เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๕๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.


                                                            หน้าที่ ๙๔

                ที่ชื่อว่า กระเทียม ได้แก่ กระเทียมที่เขาเรียกกันว่าเกิดในแคว้นมคธ.
                ภิกษุณีรับประเคนด้วยหมายใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกๆ คำกลืน.
                                บทภาชนีย์
                                ติกะปาจิตตีย์
                [๑๕๒] กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่ากระเทียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
                กระเทียม ภิกษุณีสงสัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่กระเทียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                ทุกะทุกกฏ
                ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่ากระเทียม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่า ไม่ใช่กระเทียม ไม่ต้องอาบัติ.
                                อนาปัตติวาร
                [๑๕๓] กระเทียมเหลือง ๑ กระเทียมแดง ๑ กระเทียมเขียว ๑ กระเทียม
ต้นไม่มีเยื่อ ๑ กระเทียมที่ปรุงลงในแกง ๑ กระเทียมที่ปรุงลงในเนื้อ ๑ กระเทียมเจียว
น้ำมัน ๑ กระเทียมที่ปรุงลงในน้ำพุทรา ๑ กระเทียมที่ปรุงลงในแกงอ่อม ๑ วิกลจริต ๑
อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                ______________________


                                                            หน้าที่ ๙๕

                                ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๒
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
                [๑๕๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ ให้ถอนขนในที่แคบ แล้วเปลือย
กายอาบน้ำท่าเดียวกันกับหญิงแพศยา ในแม่น้ำอจิรวดี. พวกหญิงแพศยาพากันเพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้ให้ถอนขนในที่แคบเหมือนพวกหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม
เล่า ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินหญิงแพศยาพวกนั้นพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่
เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้ให้ถอนขนใน
ที่แคบ ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีฉัพพัคคีย์
ให้ถอนขนในที่แคบ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้ให้
ถอนขนในที่แคบเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๕๗. ๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้ถอนขนในที่แคบ เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๕๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘