พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 086-090

                                                            หน้าที่ ๘๖

อัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่
หุงต้มภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ๑ อาหารที่ทายก
นำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑ อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ๑
ภัตตาหารเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายยังฉันอยู่ทุกวันนี้หรือหนอ.
                ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักเร้น แล้วรับสั่งถามท่าน
พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ภัตตาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคราวอัตคัดอาหาร
มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ ๑
อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ๑ อาหารที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑
อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ๑ ภัตตาหารเหล่านั้น
ภิกษุทั้งหลายยังฉันอยู่ทุกวันนี้หรือ?
                ท่านพระอานนท์ทูลว่า ยังฉันอยู่ พระพุทธเจ้าข้า.
                ลำดับนั้น ผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด
นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑
อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วประเคนใหม่ ๑ อาหาร
ที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑ อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิด
ในสระบัว ๑ ภัตตาหารเหล่านั้น เราห้ามจำเดิมนี้เป็นต้นไป
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่
อาหารที่หุงต้มเอง อาหารที่จับต้องแล้วประเคนใหม่ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอาหารที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น อาหารที่รับประเคนฉันใน
ปุเรภัต อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ยังไม่เป็นเดน ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว
ไม่พึงฉัน รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม.
                                                                พระพุทธานุญาตกับปิยภูมิ
                [๘๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของขบฉันบ้าง ไว้ในเกวียนเป็นอันมาก แล้วตั้งวงล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระอารามคอยท่า
ว่าเมื่อใด เราทั้งหลายได้ลำดับที่จะถวาย เมื่อนั้นเราจักทำภัตตาหารถวาย ฝนตั้งเค้ามาจะตกใหญ่


                                                            หน้าที่ ๘๗

จึงคนเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์กราบเรียนว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เกลือ น้ำมัน
ข้าวสาร และของขบฉันเป็นอันมาก พวกข้าพเจ้าบรรทุกไว้ในเกวียนตั้งอยู่หน้าวัดนี้ และฝน
ตั้งเค้ามาจะตกใหญ่ ท่านพระอานนท์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าพึงปฏิบัติอย่างไร? จึงท่านพระอานนท์
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จง
สมมติวิหารที่ตั้งอยู่สุดเขตวัด ให้เป็นสถานที่เก็บของกัปปิยะ แล้วให้เก็บไว้ในสถานที่ที่สงฆ์
จำนงหมาย คือวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำก็ได้.
                                                                วิธีสมมติกัปปิยภูมิ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติกัปปิยภูมิ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็นกัปปิยภูมิ นี้เป็นญัตติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ การสมมติ
วิหารมีชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นพึงพูด
                วิหารมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นกัปปิยภูมิแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                สมัยต่อมา ชาวบ้านต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืน ส่งเสียงเซ็งแซ่
เกรียวกราว ณ สถานที่กัปปิยภูมิ ที่สงฆ์สมมติไว้นั้นแล.
                พระผู้มีพระภาค ทรงตื่นบรรทมในเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเซ็งแซ่
เกรียวกราว และเสียงการ้องก้อง ครั้นแล้วรับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เสียงเซ็งแซ่
เกรียวกราว และเสียงการ้องก้องนั้น อะไรกันหนอ?
                ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ชาวบ้านมาต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย
ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืน ณ สถานที่กัปปิยภูมิซึ่งสมมติไว้นั้นแล เสียงเซ็งแซ่เกรียวกราว
และเสียงการ้องก้องนั่นคือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๘๘

                                                พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิ ๓ ชนิด
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้สถานที่กัปปิยภูมิ
ซึ่งสงฆ์สมมติ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสถานที่กัปปิยภูมิ ๓ ชนิด คือ อุสสาวนันติกา ๑
โคนิสาทิกา ๑ คหปติกา ๑
                                                พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิ ๔ ชนิด
                สมัยต่อมา ท่านพระยโสชะอาพาธ ชาวบ้านนำเภสัชมาถวายท่าน ภิกษุทั้งหลายให้เก็บ
เภสัชเหล่านั้นไว้ข้างนอก สัตว์กินเสียบ้าง ขโมยลักไปเสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ใช้สถานที่กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสถานที่กัปปิยภูมิ ๔ ชนิด คือ อุสสาวนันติกา ๑ โคนิสา
ทิกา คหปติกา ๑ สมมติกา ๑.
                                                                เรื่องเมณฑกะคหบดี
                [๘๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะ ท่านมี
อิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ ท่านสระเกล้า แล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าว
เปลือกตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาด
จุน้ำหนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงหม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร
อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ
เขาถือถุงจุเงินพันหนึ่ง ถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร
เงินนั้นไม่หมดสิ้น ตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ
นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและ
กรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้
คือเมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย.


                                                            หน้าที่ ๘๙

                พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชได้ทรงสดับข่าวว่า เมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือน
อยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของพระองค์ เธอมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้ว
ให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือกตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพ
เห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง
หม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยัง
ไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขาถือถุงจุเงินพันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น
แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงินนั้นไม่หมดสิ้น ตลอดเวลาที่ถุงเงิน
ยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนาน
ใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอด
เวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว
มีรอยไถถึง ๗ รอย.
                ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ตรัสเรียกมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
มารับสั่งว่า ข่าวว่าเมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของเรา เธอมี
อิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือก
ตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำ
หนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงใบหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร
อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขา
ถือถุงจุเงินพันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงิน
นั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ
นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและ
กรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้
คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย พนาย เธอจงไปดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างเรา
ได้เห็นด้วยตนเอง.


                                                            หน้าที่ ๙๐

                ท่านมหาอำมาตย์รับพระบรมราชโองการของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า เป็น
ดังพระราชประสงค์ พระพุทธเจ้าข้า แล้วพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า เดินทางไปยังภัททิยะนคร
บทจรไปโดยลำดับจนถึงเมืองภัททิยะ เข้าไปหาเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเมณฑกะ-
คหบดีว่า ท่านคหบดี ความจริงข้าพเจ้ามาโดยมีพระบรมราชโองการว่า พนาย ข่าวว่าเมณฑกะ-
คหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของเรา ครอบครัวของเธอมีอิทธานุภาพเห็น
ปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือกตกจากอากาศ
เต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬ
หกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงหม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้น
ไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขาถือถุงจุเงิน
พันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงินนั้นไม่
หมดสิ้นตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือนางนั่งใกล้
กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร
ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เมื่อ
เขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย พนาย เธอจงไปดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างเรา ได้เห็น
ด้วยตนเอง ท่านคหบดี ข้าพเจ้าขอชมอิทธานุภาพของท่าน.
                จึงเมณฑกะคหบดีสระเกล้าแล้ว ให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือก
ตกลงมาจากอากาศเต็มฉาง
                มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ขอชม
อิทธานุภาพของภรรยาท่าน
                เมณฑกะคหบดีสั่งภรรยาในทันใดว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงเลี้ยงอาหารแก่เสนา ๔ เหล่า
                ขณะนั้น ภรรยาท่านเมณฑกะคหบดีได้นั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬหกใบ
เดียวเท่านั้น กับหม้อแกงหม้อหนึ่ง แล้วเลี้ยงอาหารแก่เสนา ๔ เหล่า อาหารนั้นมิได้หมดสิ้นไป
ตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่
                มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของภรรยาท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ขอชมอิทธานุภาพของบุตรท่าน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘