พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 081-085

                                                            หน้าที่ ๘๑

                ๒. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ
คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)
                ๓. บรรพชา อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ.
                ๔. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.
                                                                อุปัชฌายวัตรภาณวาร จบ
                                                                _________________
                                                                การบอกนิสสัย
                [๘๘] ก็โดยสมัยนั้นแล มาณพคนหนึ่งเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย แล้วขอบรรพชา.
พวกภิกษุได้บอกนิสสัยแก่เธอก่อนบวช. เธอจึงพูดอย่างนี้ว่า ถ้าเมื่อกระผมบวชแล้ว พระคุณเจ้า
ทั้งหลายพึงบอกนิสสัยแก่กระผม กระผมก็จะยินดียิ่ง บัดนี้ กระผมจักไม่บวชละ เพราะนิสสัย
เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เป็นปฏิกูลแก่กระผม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงบอกนิสสัยก่อนบวช รูปใดบอก ต้องอาบัติ-
ทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พออุปสมบทแล้ว เราอนุญาตให้บอกนิสสัย.
                                                                อุปสมบทด้วยคณะ
                [๘๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวกสองบ้าง มีพวกสาม
บ้าง มีพวกสี่บ้าง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะ ซึ่งมีพวกหย่อน ๑๐ รูปใดให้อุปสมบท
ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวก
เกิน ๑๐.
                                                พระอุปเสนวังคันตบุตรอุปสมบทสัทธิวิหาริก
                [๙๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายมีพรรษาหนึ่งบ้าง มีพรรษาสองบ้าง อุปสมบท
สัทธิวิหาริก. แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร มีพรรษาเดียว อุปสมบทสัทธิวิหาริก. ท่านออก


                                                            หน้าที่ ๘๒

พรรษาแล้ว มีพรรษาสอง ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
                ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็น
พุทธประเพณี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเดินทางมามีความลำบาก
น้อยหรือ?
                ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า ยังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้
พระพุทธเจ้าข้า และพวกข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาก็มีความลำบากน้อย พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                พุทธประเพณี
                พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี
ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่
ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วย
ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดเสียด้วยข้อปฏิบัติ. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม
ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือจักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า เธอมีพรรษาได้เท่าไร
ภิกษุ?
                อุป. ข้าพระพุทธเจ้ามีพรรษาได้สอง พระพุทธเจ้า.
                ภ. ภิกษุรูปนี้เล่ามีพรรษาได้เท่าไร?
                อุป. มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ภิกษุรูปนี้เป็นอะไรกับเธอ?
                อุป. เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ เธอยังเป็นผู้อันผู้อื่น
พึงโอวาทอนุศาสน์อยู่ ไฉนจึงสำคัญตนเพื่อโอวาทอนุศาสน์ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็น


                                                            หน้าที่ ๘๓

ผู้มักมาก ซึ่งมีความพัวพันด้วยหมู่เร็วเกินนัก การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำ
ธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่พึงให้อุปสมบท
รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐
หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบท.
                                                พระอุปัชฌายะมีการศึกษาน้อยกว่าสัทธิวิหาริก
                [๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายคิดว่าเรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐
แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ย่อมให้อุปสมบท. ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะ
เป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริก
เป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก
ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา. แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็น
อัญญเดียรถีย์ เมื่อพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะขึ้นโต้เถียงแก่พระ
อุปัชฌายะ แล้วหลีกไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นตามเดิม.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลาย
จึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา
ไม่เฉียบแหลม ให้อุปสมบท ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด
ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าพระ
อุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มี
ปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลาย
อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม
ให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้
ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๘๔

                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้
อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม
ให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะ
เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย
สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใด
ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ผู้ฉลาดผู้สามารถ มีพรรษา
ได้ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบท.
                                                                ทรงอนุญาตอาจารย์
                [๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อพระอุปัชฌายะทั้งหลายหลีกไปเสียก็ดี สึกเสียก็ดี ถึง
มรณภาพก็ดี ไปเข้ารีดเดียรถีย์เสียก็ดี ภิกษุทั้งหลายไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครตักเตือน ไม่มีใคร
พร่ำสอน ย่อมนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควรเที่ยวบิณฑบาต. เมื่อประชาชนกำลังบริโภค
ย่อมน้อมบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปข้างบนของควรบริโภคบ้าง ข้างบนของควรเคี้ยวบ้าง
ข้างบนของควรลิ้มบ้าง ข้างบนของควรดื่มบ้าง ขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
แม้ในโรงอาหารก็เป็นผู้มีเสียงอื้ออึง มีเสียงดังอยู่.
                ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาตเล่า เมื่อประชาชนกำลังบริโภค
ได้น้อมบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไป ข้างบนของควรบริโภคบ้าง ข้างบนของควรเคี้ยวบ้าง
ข้างบนของควรลิ้มบ้าง ข้างบนของควรดื่มบ้าง ขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
แม้ในโรงอาหาร ก็เป็นผู้มีเสียงอื้ออึง มีเสียงดังอยู่ เหมือนพวกพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยงพราหมณ์
ฉะนั้น.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ...
ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลาย จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาท
ไม่สมควร ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.


                                                            หน้าที่ ๘๕

                                                                ทรงสอบถาม
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า
ภิกษุทั้งหลายนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควร ... จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์. อาจารย์จักตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร
อันเตวาสิกจักตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้  อาจารย์และอันเตวาสิกนั้น
ต่างจักมีความเคารพ ยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุมีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาได้
๑๐ ให้นิสสัย.
                                                                วิธีถือนิสสัย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
                อันเตวาสิกนั้นพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้ว
กล่าวอย่างนี้ ๓ หน
                ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่, ท่านเจ้าข้า
ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่, ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของ
ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่
                อาจารย์รับว่า ดีละ เบาใจละ ชอบแก่อุบายละ สมควรละ หรือรับว่าจงยังความปฏิบัติ
ให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด ดังนี้ก็ได้ รับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกาย
และวาจาก็ได้ เป็นอันว่าอันเตวาสิกถืออาจารย์แล้ว, ไม่รับด้วยกาย ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วย
ทั้งกายและวาจา ไม่เป็นอันว่าอันเตวาสิกถืออาจารย์แล้ว.
                                                                อาจริยวัตร
                [๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์.
                วิธีประพฤติชอบในอาจารย์นั้น ดังต่อไปนี้
                อันเตวาสิกพึงลุกแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วถวายไม้ชำระฟัน
ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘