พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 061-065

                                                            หน้าที่ ๖๑

                                                พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาว
                สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่น
เนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ
ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                สุปปิยภาณวาร ที่ ๒ จบ.
                                                                _________________
                                เรื่องพราหมณ์ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
                [๖๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมณ์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางอันธกวินทะชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้างน้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยว
บ้าง เป็นอันมากมาในเกวียน เดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลังๆ
ด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น อนึ่ง คนกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน
ก็พลอยเดินติดตามไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ
เสด็จถึงอันธกวินทชนบท.
                ขณะนั้นพราหมณ์คนหนึ่ง ยังหาโอกาสไม่ได้ จึงดำริในใจว่าเราเดินติดตามภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหาร
ถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ อนึ่ง เราตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก
ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย แล้วจึง
ตรวจดูโรงอาหารมิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ จึงเข้าไปหาท่านพระ
อานนท์ถึงสำนัก ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แด่ท่านอานนท์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้า
หาโอกาสในที่นี้ไม่ได้จึงได้ดำริในใจว่า ตนเดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมา


                                                            หน้าที่ ๖๒

กว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาส
ไม่ได้ อนึ่ง ตนตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสของตนไปมาก ไฉนหนอ ตนพึง
ตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร พึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ดังนี้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์
ข้าพเจ้านั้นตรวจดูโรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ ถ้า
ข้าพเจ้าตกแต่งยาคู และขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวาย ท่านพระโคดมจะพึงรับของข้าพเจ้าไหม
เจ้าข้า?
                ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นฉันจักทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคทันที.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้นพราหมณ์จงตกแต่ง ถวายเถิด.
                ท่านพระอานนท์ บอกพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านตกแต่งถวายได้ละ.
                จึงพราหมณ์นั้นตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมายโดยผ่านราตรีนั้น แล้วน้อม
เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมโปรดกรุณารับยาคูและขนมปรุงด้วย
น้ำหวานของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจ
ไม่รับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด.
                จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยยาคูและขนมปรุงด้วย
น้ำหวานมากมายด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำ
พระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตรแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
                                                                ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่าง
                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะพราหมณ์นั้น ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
ดูกรพราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้ ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่าให้อายุ ๑
ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัดความหิว ๑ บรรเทาความ
ระหาย ๑ ทำลมให้เดินคล่อง ๑ ล้างลำไส้ ๑ ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑ ดูกรพราหมณ์ ข้าวยาคู
มีคุณ ๑๐ อย่างนี้แล.
                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณ์พจน์นี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้พระศาสดาจึงได้ตรัสคาถา
อนุโมทนานี้ต่อไปในภายหลัง ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๖๓

                                                                คาถาอนุโมทนา
                [๖๒] ทายกใดถวายข้าวยาคูโดยเคารพตามกาล แก่ปฏิคาหก
                                ผู้สำรวมแล้ว บริโภคโภชนาอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้น
                                ชื่อว่าตามเพิ่มให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่างแก่ปฏิคาหกนั้น อายุ
                                วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น
                                แต่นั้นยาคูย่อมกำจัดความหิว ความระหาย ทำลมให้เดิน
                                คล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร ยาคูนั้นพระสุคตตรัส
                                สรรเสริญว่าเป็นเภสัช เพราะเหตุนั้นแล มนุษย์ชนที่ต้อง
                                การสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอัน
                                เพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู.
                                พระพุทธานุญาตข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
                [๖๓] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์นั้นด้วย ๓ คาถานี้แล้ว เสด็จลุก
จากที่ประทับกลับไป.
                ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวยาคู และขนม
ปรุงด้วยน้ำหวาน.
                                                เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส
                [๖๔] ประชาชนทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
แก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตกแต่งยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวายแต่เช้า ภิกษุทั้งหลายที่ได้
รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตามที่
คาดหมาย คราวนั้น มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประมุขเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นและได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำหรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่
เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหาร
อันประณีตและสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ โดยผ่านราตรีนั้น แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานไปกราบทูล
ภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.


                                                            หน้าที่ ๖๔

                ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ
ดำเนินสู่นิเวศน์ของมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัด
ถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น อังคาสภิกษุทั้งหลายอยู่ในโรงอาหาร
                ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน
                ท่านมหาอำมาตย์กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านทั้งหลายอย่ารับแต่น้อยๆ ด้วยคิดว่า
นี่เป็นมหาอำมาตย์ที่เริ่มเลื่อมใส กระผมตกแต่งขาทนียโภชนียาหารไว้มาก กับสำรับมังสะ
,๒๕๐ ที่ จักน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ ขอท่านทั้งหลายกรุณารับให้พอแก่ความ
ต้องการเถิด เจ้าข้า
                ภิกษุทั้งหลายว่า ท่าน พวกอาตมภาพรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย แต่เพราะ
พวกอาตมภาพได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้น และขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉะนั้น พวก
อาตมภาพจึงขอรับแต่น้อยๆ
                ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระ
คุณเจ้าทั้งหลาย อันกระผมนิมนต์แล้วจึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า กระผมไม่สามารถจะถวาย
ให้พอแก่ความต้องการหรือ แล้วโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลาย
เต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ ครั้นแล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวย
เสร็จแล้ว นำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
                พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงแก่มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ
เสด็จกลับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นได้บังเกิด
ความรำคาญและความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ
เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลาย
เต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล เราสร้างสมมาก คือ บุญ
หรือบาป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูล
ว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน ความรำคาญและความเดือดร้อน
ได้บังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นว่า มิใช่ลาภของข้าพระพุทธเจ้าหนอ ลาภของข้าพระพุทธเจ้า


                                                            หน้าที่ ๖๕

ไม่มีหนอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชั่วแล้วหนอ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะข้าพระพุทธเจ้า
โกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย
จะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมไว้มาก คือ บุญหรือบาป ดังนี้
อะไรกันแน่ที่ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป พระพุทธเจ้าข้า?
                พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อาวุโส ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยทานอันเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก
เพราะทานอันเลิศนั้น เมล็ดข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ของท่าน อันภิกษุรูปหนึ่งๆ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติ
อันใด รับไปแล้ว ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก เพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันนั้น สวรรค์
เป็นอันท่านปรารภไว้แล้ว.
                ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ได้ทราบว่าเป็นลาภของตน ตนได้ดีแล้ว
สวรรค์อันตนปรารภไว้แล้ว ก็ร่าเริง ดีใจลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วกลับไป.
                                                                ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุ-
ทั้งหลายอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นจริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                พระพุทธบัญญัติห้ามฉันยาคูที่แข้น
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
อันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น จึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น
ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุ-
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ไม่พึงฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่น
รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘