พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 061-065

                                                            หน้าที่ ๖๑

                                                เสียสละแก่คณะ
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่
พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:-
                ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, ข้าพเจ้าเข้า
ไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติทั้งหลาย ถึงการกำหนดในจีวรเป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้า
สละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสีย
สละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ,
เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, ท่าน
ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้.ฯ
                                                เสียสละแก่บุคคล
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า:-
                ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้า
เรือนผู้มิใช่ญาติทั้งหลาย ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละจีวร
ผืนนี้แก่ท่าน.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ
แล้วให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.ฯ
                                                                บทภาชนีย์
                                                ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
                [๖๘] เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหา
เจ้าเรือนทั้งหลายแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือนทั้งหลาย
แล้ว ถึงการกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๖๒

                เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือน
ทั้งหลายแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่า เป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๖๙] ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ ๑ ภิกษุ
ขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายด้วยทรัพย์ของตน ๑ เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง
ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
                                                                __________


                                                            หน้าที่ ๖๓

                                                ๑. จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                                เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
                [๗๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้นนั้น มหาอำมาตย์ ผู้อุปัฏฐากของท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตร ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปกับทูตถวายแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรสั่งว่า เจ้าจงจ่าย
จีวรด้วยทรัพย์จ่ายจีวรนี้ แล้วให้ท่านพระอุปนันทครองจีวร. จึงทูตนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตร ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระอุปทนันทศากยบุตรว่า ท่านเจ้าข้า ทรัพย์สำหรับ
จ่ายจีวรนี้แล กระผมนำมาถวายเฉพาะพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร.
                เมื่อทูตนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ตอบคำนี้ กะทูตนั้นว่า
พวกเรารับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ได้, รับได้แต่จีวรอันเป็นของควรโดยการเท่านั้น;
                เมื่อท่านตอบอย่างนั้นแล้ว ทูตนั้นได้ถามท่านว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ?
                ขณะนั้น อุบาสกผู้หนึ่งได้เดินไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง จึงท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตรได้กล่าวคำนี้กะทูตนั้นว่า อุบาสกนั้นแล เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย.
                จึงทูตนั้น สั่งอุบาสกนั้นให้เข้าใจแล้ว กลับเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตรแจ้งว่า
ท่านเจ้าข้า อุบาสกที่พระคุณเจ้าแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น, กระผมสั่งให้เข้าใจแล้ว; ขอพระคุณ
เจ้าจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล.
                ขณะนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไม่ได้พูดอะไรกะอุบาสกนั้น.
                แม้ครั้งที่สองแล ท่านมหาอำมาตย์นั้น ก็ได้ส่งทูตไปในสำนักท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ว่า ขอพระคุณเจ้าจงใช้สอยจีวรนั้น, ข้าพเจ้าต้องการจะให้พระคุณเจ้าใช้จีวรนั้น; แม้ครั้งที่สอง
ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ก็มิได้พูดอะไร กะอุบาสกนั้น.
                แม้ครั้งที่สามแล ท่านมหาอำมาตย์นั้น ก็ได้ส่งทูตไปในสำนักท่านพระอุปนันทศากย-
บุตรว่า ขอพระคุณเจ้าจงใช้สอยจีวรนั้น, ข้าพเจ้าต้องการจะให้พระคุณเจ้าใช้จีวรนั้น.
                ก็สมัยนั้น เป็นคราวประชุมของชาวนิคม และชาวนิคมได้ตั้งกติกากันไว้ว่า. ผู้ใดมาภาย
หลัง ต้องถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ.
                คราวนั้น ท่านอุปนันทศากยบุตรเข้าไปหาอุบาสกนั่น. ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า
ฉันต้องการจีวร,


                                                            หน้าที่ ๖๔

                อุบาสกนั้นขอผัดว่า ท่านเจ้าข้า โปรดรอสักวันหนึ่งก่อน, วันนี้เป็นสมัยประชุมของ
ชาวนิคม และชาวนิคมได้ตั้งกติกากันไว้ว่า ผู้ใดมาภายหลังต้องถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ.
                ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวคาดคั้นว่า ท่านจงให้จีวรแก่ฉันในวันนี้แหละ แล้ว
ยึดชายพกไว้.
                ครั้นอุบาสกนั้นถูกคาดคั้น จึงจ่ายจีวรถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร แล้วจึงได้
ไปภายหลัง. คนทั้งหลายพากันถามอุบาสกนั้นว่า เหตุไรท่านจึงได้มาภายหลัง? ท่านต้องเสีย
เงิน ๕๐ กหาปณะ. จึงอุบาสกนั้นได้เล่าเรื่องนั้นให้คนเหล่านั้นฟัง คนทั้งหลาย พากันเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนมักมาก ไม่สันโดษ
จะทำการช่วยเหลือคนเหล่านี้บ้าง ก็ทำไม่ได้ง่าย ไฉนพระอุปนันทศากยบุตร เมื่ออุบาสกขอผัด
ว่าท่านเจ้าข้า กรุณารอสักวันหนึ่งก่อน ก็รอไม่ได้?
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย
สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร เมื่ออุบาสกขอผัดว่า ท่านเจ้าข้า กรุณารอสักวันหนึ่งก่อน
ก็รอไม่ได้? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันท ข่าวว่า เธออันอุบาสกขอ
ผัดว่า ท่านเจ้าข้า กรุณารอสักวันหนึ่งก่อน ก็รอมิได้ ดังนี้ จริงหรือ?
                ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำไฉน เธอเมื่ออุบาสกขอผัดว่า กรุณา
รอสักวันหนึ่งจึงไม่รอเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่นเป็น
ไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่
เลื่อมใสแล้ว.


                                                            หน้าที่ ๖๕

                                                ทรงบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษ
แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ
ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย
ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่
เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำ
นาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอัน
จะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๒๙.๑๐ อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่ง-
ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่าย
จ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร, ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน, ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร, ภิกษุ
นั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่, พวกเรารับ
แต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล; ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็น
ไวยาวัจกรของท่านมีหรือ? ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบา
สกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย, ถ้าทูต
นั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดง
เป็นไวยาวัจกรนั้น, ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว; ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครอง
จีวรตามกาล, ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้ง
ว่า รูปต้องการจีวร; ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘