พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 031-035

                                                            หน้าที่ ๓๑

พระปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัช
อยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่
ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคน
ในกาลแล้วบริโภคในกาล ครั้นเวลาสายัณห์พระองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงทำธรรมีกถา
ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เราไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้
ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวย
ที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลือง
ขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอเป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็น
เภสัชอยู่ในตัวและเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก
และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕
นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช
ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึง
อนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล.
                                                พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ นอกกาล
                [๒๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภค
ในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหาร
ที่ดี พวกเธออันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหารนี้ถูกต้องแล้ว
เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ
มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซึ่งซูบผอม
เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น ครั้นแล้วจึง
ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ มารับสั่งถามว่า ดูกรอานนท์ ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายยิ่ง
ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น?


                                                            หน้าที่ ๓๒

                ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้น
ในกาลแล้วบริโภคในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้อง
กล่าวถึงโภชนาหารที่ดี พวกเธออันอาพาธ ซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหาร
นี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี
มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น.
                ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคน
เภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ทั้งในกาลทั้งนอกกาล.
                                                พระพุทธานุญาตน้ำมันเปลว
                [๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำมันเปลว
เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย
ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันเปลวเป็นเภสัช คือ น้ำมันเปลวหมี น้ำมันเปลวปลา
น้ำมันเปลวปลาฉลาม น้ำมันเปลวหมู น้ำมันเปลวลา ที่รับประเคนในกาล เจียวในกาล
กรองในกาล บริโภคอย่างน้ำมัน
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในวิกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ
พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ
พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล หากจะ
พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ตัว
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล หากจะ
พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                พระพุทธานุญาตมูลเภสัช
                [๒๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้เป็นเภสัช
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า


                                                            หน้าที่ ๓๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นเภสัช คือ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด
ข่า แฝก แห้วหมู ก็หรือมูลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว
ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนมูลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บ
ไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                พระพุทธานุญาตเครื่องบดยา
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้ที่เป็นเภสัชชนิดละเอียด
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตัวหินบด ลูกหินบด.
                                                พระพุทธานุญาตกสาวเภสัช
                [๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำฝาดเป็นเภสัช
จึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นเภสัช คือ น้ำฝาดสะเดาะ น้ำฝาดมูกมัน น้ำฝาดกระดอม
หรือขี้กา น้ำฝาดบรเพ็ด หรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน ก็หรือกสาวเภสัช แม้ชนิดอื่นใด
บรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ
ควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนกสาวเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ
ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                พระพุทธานุญาตปัณณเภสัช
                [๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยใบไม้เภสัช จึง
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือขี้กา
ใบกะเพรา หรือแมงลัก ใบฝ้าย ก็หรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์
แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค
รับประเคนปัณณเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุ
ไม่มีภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๓๔

                                                                พระพุทธานุญาตผลเภสัช
                [๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยผลไม้เป็นเภสัช
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก
มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ ก็หรือผลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ
ควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคน
ผลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุ
บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                พระพุทธานุญาตชตุเภสัช
                [๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยางไม้เป็นเภสัช
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นเภสัช คือ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยว
จากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหล
ออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจาก
ก้านแห่งต้นตกะ กำยานก็หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว
ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนชตุเภสัช
เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                พระพุทธานุญาตโลณเภสัช
                [๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยเกลือเป็นเภสัช
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง
เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของ
ควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนโลณเภสัช
เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค
ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๓๕

                                                พระพุทธานุญาตจุณเภสัชเป็นต้น
                [๓๔] โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเวลัฏฐสีสะ อุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์ อาพาธ
เป็นโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส ผ้านุ่งผ้าห่มกรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลืองของโรคนั้น ภิกษุทั้งหลาย
เอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ
ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุพวกนั้นกำลังเอาน้ำชุบๆ ผ้านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา ครั้นแล้วเสด็จ
พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุเหล่านั้น ได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธ
โรคอะไรภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านรูปนี้อาพาธโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส
ผ้ากรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลือง พวกข้าพระพุทธเจ้าเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึง
ออกมา.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัชชนิดผง สำหรับ
ภิกษุผู้เป็นฝีก็ดี พุพองก็ดี สิวก็ดี โรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใสก็ดี มีกลิ่นตัวแรงก็ดี
                เราอนุญาตโคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม สำหรับภิกษุไม่อาพาธ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครก สาก.
                                                พระพุทธานุญาตเครื่องกรอง
                [๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่กรองแล้ว
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัตถุเครื่องกรองยาผง
                ภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่ละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองยา.
                                                พระพุทธานุญาตเนื้อดิบและเลือดสด
                [๓๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเพราะผีเข้า พระอาจารย์ พระอุปัชฌายะ
ช่วยกันรักษาเธอ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หายโรคได้ เธอเดินไปที่เขียงแล่หมู แล้วเคี้ยวกินเนื้อดิบ
ดื่มกินเลือดสด อาพาธเพราะผีเข้าของเธอนั้น หายดังปลิดทิ้ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘