พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 026-030

                                                            หน้าที่ ๒๖

ทรงตื่นพระบรรทมแล้วทรงอัชเฌสนาท่านพระโสณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัด
ท่านพระโสณะกราบทูลสนองพระพุทธบัญชาว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สวดพระสูตร
ทั้งหลาย อันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค จนหมดสิ้นโดยสรภัญญะ ครั้นจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ
พระผู้มีพระภาคทรงพระปราโมทย์โปรดประทานสาธุการว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ สูตรทั้งหลายที่มีใน
อัฏฐกวรรคเธอเรียนมาดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำได้แม่นยำดี เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจา
ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีโทษ ให้เข้าใจรู้ความได้แจ่มชัด เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ?
                ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า
                ภ. เพราะเหตุไร เธอจึงมัวประพฤติชักช้าเช่นนั้นเล่า ภิกษุ?
                โส. ข้าพระพุทธเจ้าเห็นโทษในกามทั้งหลายนานแล้ว แต่เพราะฆราวาสคับแคบ มีกิจ
มาก มีกรณียมาก จึงได้ประพฤติชักช้าอยู่ พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงเปล่งพระอุทาน
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความข้อนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น
ว่าดังนี้:-
                อารยชนเห็นโทษในโลก ทราบธรรมที่ปราศจาก
                อุปธิแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ยินดีในบาป เพราะคน
                สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป.
                                กราบทูลอาณัติกพจน์ของพระอุปัชฌายะ ๕ ประการ
                [๒๒] ลำดับนั้น ท่านพระโสณะคิดว่า พระผู้มีพระภาคกำลังโปรดปรานเรา เวลานี้
ควรกราบทูลถ้อยคำที่พระอุปัชฌายะของเราสั่งมา ดังนี้ แล้วลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่า หมอบ
ลงที่พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะ อุปัชฌายะของข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายบังคมพระบาท
ยุคลของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลอย่างนี้ว่า
                ๑. พระพุทธเจ้าข้า จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดหา
ภิกษุสงฆ์แต่ที่นั้นๆ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ยากลำบาก นับแต่วันข้าพระพุทธเจ้าบรรพชา


                                                            หน้าที่ ๒๗

ล่วงไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรง
อนุญาตอุปสมบท ด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
                ๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ขรุขระดื่นดาดด้วย
ระแหงกีบโค ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น
                ๓. พระพุทธเจ้าข้า คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้
บริสุทธิ์ ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตอาบน้ำได้เป็นนิตย์
                ๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ
หนังมฤค ในมัชฌิมชนบท มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง แม้ฉันใด
ในอวันตีทักขิณาบถก็มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ฉันนั้นเหมือนกันแล
ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนัง
แกะ หนังแพะ หนังมฤค
                ๕. พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายฝากถวายจีวรแก่หมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา ด้วยคำว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ภิกษุผู้รับฝากมาบอกว่า อาวุโส คน
ทั้งหลายมีชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่านแล้ว พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่า รังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยคิดว่า
พวกเราไม่ต้องการของเป็นนิสสัคคีย์ ถ้ากระไร ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสชี้แจงในเรื่องจีวร.
                                                                พระพุทธานุญาตพิเศษ
                [๒๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป เราอนุญาตการอุปสมบท
ด้วยคณะสงฆ์มีวินัยธรเป็นที่ ๕ ได้ ทั่วปัจจันตชนบท ๑-
                                                กำหนดเขตปัจจันตชนบทและมัชฌิมชนบท
                บรรดาชนบทเหล่านั้น ปัจจันตชนบท มีกำหนดเขต ดังนี้:-
                ในทิศบูรพามีนิคมชื่อกชังคละ ถัดนิคมนั้นมาถึงมหาสาลนคร นอกนั้นออกไปเป็น
ปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ๑-
@๑. จังหวัดภายในเป็นศูนย์กลางของประเทศ


                                                            หน้าที่ ๒๘

                ในทิศอาคเนย์ มีแม่น้ำชื่อสัลลวตี นอกแม่น้ำสัลลวตีนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท
ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท
                ในทิศทักษิณ มีนิคมชื่อเสตกัณณิกะ นอกนิคมนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมใน
เป็นมัชฌิมชนบท
                ในทิศปัจฉิม มีพราหมณคามชื่อถูนะ นอกนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมใน
เป็นมัชฌิมชนบท
                ในทิศอุดร มีภูเขาชื่ออุสีรธชะ นอกนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็น
มัชฌิมชนบท
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบท ด้วยคณะสงฆ์มีวินัยธรเป็นที่ ๕ ได้ ทั่ว
ปัจจันตชนบทเห็นปานนี้
                ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง
กีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ทั่วปัจจันตชนบท
                ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้
บริสุทธิ์ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท
                ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ
หนังมฤค ในมัชฌิมชนบท มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง แม้ฉันใด
ในอวันตีทักขิณาบถ ก็มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ฉันนั้นเหมือนกันแล
เราอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ทั่วปัจจันตชนบท
                ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คนทั้งหลายในโลกนี้ฝากถวายจีวรเพื่อหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา
ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีได้ จีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรีตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ.
                                                                จัมมขันธกะ ที่ ๕ จบ.
                                                                ในขันธกะนี้มี ๖๓ เรื่อง
                                                                __________________


                                                            หน้าที่ ๒๙

                                                                หัวข้อประจำขันธกะ
                [๒๔] พระเจ้าแผ่นดินมคธ ทรงปกครองพลเมือง ๘๐,๐๐๐ ตำบล รับสั่งให้โสณเศรษฐี
เข้าเฝ้า ๑ พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์มากมาย ณ
คิชฌกูฏบรรพต ๑ โสณเศรษฐีบุตรออกบวช และปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจน
เท้าแตก ๑ เปรียบเทียบความเพียรด้วยสายพิณ ๑ ทรงอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ๑ ทรงห้าม
รองเท้าสีเขียว ๑ รองเท้าสีเหลือง ๑ รองเท้าสีแดง ๑ รองเท้าสีบานเย็น ๑ รองเท้าสีดำ ๑
รองเท้าสีแสด ๑ รองเท้าสีชมพู ๑ รองเท้ามีหูวิจิตร ๑ รองเท้าหุ้มส้น ๑ รองเท้าหุ้มแข็ง ๑
รองเท้าที่ยัดด้วยนุ่น ๑ รองเท้าที่มีลายคล้ายขนปีกนกกระทา ๑ รองเท้าที่ทำหูงอนมีสัณฐาน
ดุจเขาแกะ ๑ รองเท้าที่หูงอนมีสัณฐานดุจเขาแพะ ๑ รองเท้าที่ทำประกอบหูงอนดุจหางแมลง
ป่อง ๑ รองเท้าที่เย็บด้วยขนปีกนกยูง ๑ รองเท้าที่วิจิตร ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังราชสีห์ ๑
รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนัง
ชะมด ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนาก ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังแมว ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนัง
ค่าง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้า ๑ เท้าแตก ๑ สวมรองเท้าในวัด ๑ เท้าเป็นหน่อ
ล้างเท้า ตอไม้ และสวมเขียงเท้าเดินเสียงดังขฏะ ขฏะ ๑ เขียงเท้าสานด้วยใบตาล ๑ เขียงเท้า
สานด้วยใบไผ่ ๑ เขียงเท้าสานด้วยหญ้า ๑ เขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ๑ เขียงเท้าสาน
ด้วยหญ้าปล้อง ๑ เขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง ๑ เขียงเท้าสานด้วยแฝก ๑ เขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ ๑
เขียงเท้าประดับด้วยทองคำและเงิน ๑ เขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี ๑ เขียงเท้าประดับด้วย
แก้วไพฑูรย์ ๑ เขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก ๑ เขียงเท้าทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ๑ เขียงเท้าประดับ
ด้วยกระจก ๑ เขียงเท้าทำด้วยดีบุก ๑ เขียงเท้าทำด้วยสังกะสี ๑ เขียงเท้าทำด้วยทองแดง ๑
จับโค ๑ ขี่ยานและภิกษุอาพาธ ๑ ยานเทียมด้วยโคตัวผู้ ๑ คานหาม ๑ ที่นั่งและที่นอน ๑
หนังผืนใหญ่ ๑ หนังโค ๑ ภิกษุใจร้าย ๑ เตียงตั่งของพวกคฤหัสถ์ที่หุ้มหนัง ๑ สวมรองเท้า
เข้าบ้าน และภิกษุอาพาธ ๑ พระมหากัจจานะ ๑ พระโสณะ สวดสูตร อันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค
โดยสรภัญญะและพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกได้ทรงประทานพร ๕ อย่างนี้ แก่พระโสณะเถระ คือ
อนุญาตสงฆ์ปัญจวรรคทำการอุปสมบทได้ ๑ สวมรองเท้าหลายชั้นได้ ๑. อาบน้ำได้เป็นนิตย์ ๑
ใช้หนังเครื่องลาดได้ ๑ ทายกถวายจีวร เมื่อยังไม่ถึงมือภิกษุ ยังไม่ต้องนับราตรี ๑
                                                                หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
                                                                _______________________


                                                            หน้าที่ ๓๐

                                                                เภสัชชขันธกะ
                                                                ภิกษุอาพาธในฤดูสารท
                [๒๕] โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท
ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอ
จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น พระผู้มีพระภาค
ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ
มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า ดูกรอานนท์
ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ
มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น
                ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลาย อันอาพาธซึ่งเกิดชุม
ในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น
พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมองมีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น.
                                                พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ ในกาล
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัย
เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไป
ก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง
มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวพรรณเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอ
เป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จ
ประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และจะไม่พึงปรากฏเป็นอาหารหยาบ ทีนั้นพระองค์ได้มี

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘