พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 026-030

                                                            หน้าที่ ๒๖

                ก็แลสิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ด้วย
ประการฉะนี้.
                                เรื่องภิกษุณีสองรูป จบ.
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป
                [๔๒] สมัยต่อมา ภิกษุณีหลายรูปได้พากันไปสู่พระนครสาวัตถีในโกศลชนบท เข้าถึง
บ้านตำบลหนึ่งในเวลาเย็น. ในบรรดาภิกษุณีเหล่านั้น รูปหนึ่งทรงโฉมวิไล น่าพิศ พึงชม. บุรุษ
ผู้หนึ่งพอได้สบนางก็มีจิตปฏิพัทธ์. จึงเมื่อเขาตกแต่งที่พักแรมถวายภิกษุณีเหล่านั้น ได้จัดที่พักแรม
สำหรับภิกษุณีสวยนั้นไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. คราวนั้น นางกำหนดรู้ได้ทันทีว่า บุรุษผู้นี้ถูกราคะกลุ้มรุม
แล้ว ถ้ากลางคืนเขาจักเข้าหา ความเสียหายจักมีแก่เรา แล้วไม่บอกลาภิกษุณีทั้งหลาย หนีไปพักแรม
ในสกุลอื่น. ครั้นเวลาราตรีบุรุษนั้นมาค้นหาภิกษุณีสวยนั้น ได้กระทบถึงภิกษุณีทั้งหลาย. ภิกษุณี
ทั้งหลายไม่เห็นภิกษุณีสวยนั้น จึงพูดกันอย่างนี้ว่า นางตามผู้ชายไปแล้วเป็นแน่.
                ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ภิกษุณีสาวก็เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย. ภิกษุณีทั้งหลายถามนางว่าเธอ
เดินออกไปกับผู้ชายอื่นหรือ?
                นางปฏิเสธว่า ไม่ได้เดินกับผู้ชาย เจ้าค่ะ แล้วเล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนในเวลาราตรี
ภิกษุณีจึงได้อยู่แต่ลำพังปราศจากพวกเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีผู้เดียวอยู่
ปราศจากพวกในราตรี จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีผู้เดียว จึงได้อยู่
ปราศจากพวกในราตรีเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:


                                                            หน้าที่ ๒๗

                                พระอนุบัญญัติ ๒
                ๑๑. ๓. ข. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้เดียวไปสู่ละแวกบ้านก็ดี ผู้เดียวไปสู่ฝั่งแม่น้ำก็ดี ผู้
เดียวอยู่ปราศจากพวกในราตรีก็ดี ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มี
อันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ.
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป
                [๔๓] สมัยต่อมา ภิกษุณีหลายรูปเดินทางไกลไปพระนครสาวัตถี ในโกศลชนบท. ภิกษุณี
รูปหนึ่งในจำนวนนั้นปวดอุจจาระ จึงได้เดินล้าหลังไปแต่ผู้เดียว. พวกชาวบ้านพบนางแล้ว ได้ข่มขืน
ใจ. ต่อมานางเข้าไปหาภิกษุณีพวกนั้น ภิกษุณีพวกนั้นได้ถามว่า ทำไมเธอจึงเดินล้าหลังแต่ผู้เดียว
เล่า ไม่ถูกคนรังแกดอกหรือ?
                นางตอบว่า ถูกรังแกมาแล้ว.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีจึงเดินปลีก
ไปจากคณะแต่ผู้เดียวเล่า ...  แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีเดินปลีกไป
จากคณะแต่ผู้เดียวจริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีผู้เดียวจึงได้เดินปลีกไปจาก
คณะเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระอนุบัญญัติ ๓
                ๑๑. ๓. ค. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้เดียวไปสู่ละแวกบ้านก็ดี ผู้เดียวไปสู่ฝั่งแม่น้ำก็ดี ผู้เดียว
อยู่ปราศจากพวกในราตรีก็ดี ผู้เดียวเดินปลีกไปจากคณะก็ดี ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือ
สังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ.


                                                            หน้าที่ ๒๘

                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ผู้เดียวเดินไปสู่ละแวกบ้านก็ดี ความว่า บ้านที่มีเครื่องล้อม ย่างเท้าล่วงเข้าเขต
ล้อมก้าวที่หนึ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย ก้าวที่สอง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม ย่าง
เท้าล่วงอุปจารก้าวที่หนึ่ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย ก้าวที่สองต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
                บทว่า ผู้เดียวเดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำก็ดี ความว่า สถานที่ที่นางภิกษุณีครองผ้าปกปิดมณฑล
สามเดินข้ามน้ำในที่ใดที่หนึ่ง ผ้าอันตรวาสกเปียก ชื่อว่าแม่น้ำ. ย่างเท้าข้ามก้าวที่หนึ่ง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ย่างเท้าข้ามก้าวที่สอง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
                บทว่า ผู้เดียวอยู่ปราศจากพวกในราตรีก็ดี ความว่า จวนจะละหัตถบาสเพื่อนภิกษุณี
พร้อมกับอรุณขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย ละแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
                บทว่า ผู้เดียวเดินปลีกไปจากคณะก็ดี ความว่า ในป่าไม่มีหมู่บ้าน จวนจะละอุปจารแห่ง
การมองเห็น หรือได้ยินเสียงเพื่อนภิกษุณี ต้องอาบัติถุลลัจจัย ละแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
                [๔๕] บทว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน.
                บทว่า มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ ความว่า ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงวัตถุ โดยไม่
                ต้องสวดสมนุภาส.
                ที่ชื่อว่า นิสสารณียะ แปลว่า ถูกขับออกจากหมู่.
                บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ... แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
สังฆาทิเสส.
                                อนาปัตติวาร
                [๔๖] มีเพื่อนภิกษุณีไปตามด้วยก็ดี สึกแล้วก็ดี ถึงมรณภาพแล้วก็ดี ไปเข้ารีดเดียรถีย์
ก็ดี ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓ จบ.
                                ______________________


                                                            หน้าที่ ๒๙

                                สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔
                                เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
                [๔๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเป็นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์. เมื่อสงฆ์จะลงทัณฑกรรมแก่นาง
แต่ภิกษุณีถุลลนันทาค้านไว้. ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาได้ไปสู่ตำบลบ้านหนึ่งด้วยกิจจำเป็นบาง
อย่าง. ครั้นภิกษุณีสงฆ์ทราบว่าภิกษุณีถุลลนันทาหลีกไปแล้ว จึงยกภิกษุณีจัณฑกาลีเสียจากหมู่เพราะ
ไม่เห็นอาบัติ. ภิกษุณีถุลลนันทาเสร็จกรณียะนั้นในบ้านแล้ว กลับมาสู่พระนครสาวัตถีตามเดิม.
เมื่อนางมาถึง ภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่เข้าไปจัดตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า
ไม่ลุกรับบาตรจีวร ไม่ต้อนรับด้วยน้ำดื่ม. นางจึงถามภิกษุณีจัณฑกาลีว่า เหตุไฉนเมื่อเรามาถึง
เธอจึงไม่ปูอาสนะ ไม่จัดตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรจีวร ไม่ต้อนรับ
ด้วยน้ำดื่มเล่า?
                ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า การที่เป็นเช่นนั้นนั่น เพราะดิฉันเป็นภิกษุณีไม่มีที่พึ่ง เจ้าค่ะ.
                ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า เหตุไฉนเล่า เธอจึงเป็นคนไม่มีที่พึ่ง?
                ภิกษุณีจัณฑกาลีชี้แจงว่า เพราะภิกษุณีเหล่านี้คงเข้าใจดิฉันว่า นางนี้เป็นคนไม่มีที่พึ่ง ไม่
มีใครรู้จัก กิจอันเป็นหน้าที่ของนางคนนี้ก็ไม่มีสักอย่าง จึงได้ยกดิฉันเสียจากหมู่ เพราะไม่เห็น
อาบัติ เจ้าค่ะ.
                ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า ภิกษุณีเหล่านั้นเป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่รู้จักกรรมหรือโทษของ
กรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ เราเท่านั้นจึงจะรู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ และ
กรรมสมบัติ เราจะพึงทำกรรมที่เราไม่ได้ร่วมทำ หรือจะพึงยังกรรมที่เขาทำแล้วให้กำเริบ แล้วให้
ประชุมภิกษุณีสงฆ์ด่วน เรียกภิกษุณีจัณฑกาลีให้เข้าหมู่.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา
ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ จึงได้เรียกภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจาก
หมู่ตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่เล่า ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค.


                                                            หน้าที่ ๓๐

                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทา
ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ เรียกภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่
ตามธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา ไม่บอก
กล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ จึงได้เรียกภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตาม
ธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่เล่า การกระทำของนางนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความ
เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส  ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๑๒. ๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ เรียกภิกษุณี
ผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์แล้วให้เข้า
หมู่ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ.
                                เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้. ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน.
                ที่ชื่อว่า ยกเสียจากหมู่ คือ ถูกยกเสียจากหมู่ เพราะไม่เห็นอาบัติ หรือเพราะไม่ทำคืน
อาบัติ หรือเพราะไม่สละคืนทิฏฐิบาป.
                บทว่า ตามธรรม ตามวินัย คือตามธรรมใด ตามวินัยใด.
                บทว่า อันเป็นสัตถุศาสน์ ได้แก่ ธรรมนั้น วินัยนั้นเป็นคำสั่งสอนของพระชินะ คือ
เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘