พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 021-025

                                                            หน้าที่ ๒๑

                เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของ
เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนา
ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
                สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
                สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว
สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ
เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้
ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้นเลย.
                วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้
ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น
วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
                                                ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
                [๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
                พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๒๒

                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
                ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
                ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
                ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
                ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
                ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
                ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
                ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น
ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
                ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
                ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
                ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
                ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๒๓

                ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
                ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
                ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
                ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
                [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใด
อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ
ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
                เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลาย
พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
                สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ
หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลายพึง
เห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น
ไม่ใช่ตนของเรา.
                สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร เธอทั้งหลาย
พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
                วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ เธอทั้งหลาย


                                                            หน้าที่ ๒๔

พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
                [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้
ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
                [๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน
ภาษิตของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์
พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
                                                                อนัตตลักขณสูตร จบ
                ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.
                                                                ปฐมภาณวาร จบ
                                                                ____________
                                                                เรื่องยสกุลบุตร
                [๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครพาราณสี มีกุลบุตร ชื่อ ยส เป็นบุตรเศรษฐี
สุขุมาลชาติ. ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่ง
เป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน. ยสกุลบุตรนั้นรับบำเรอด้วยพวกดนตรี ไม่มี
บุรุษเจือปน ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ลงมาเบื้องล่างปราสาท. ค่ำวันหนึ่ง เมื่อ
ยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ได้นอนหลับก่อน ส่วนพวกบริวารชนนอน
หลับภายหลัง. ประทีปน้ำมันตามสว่างอยู่ตลอดคืน. คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน ได้เห็น
บริวารชนของตนกำลังนอนหลับ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ
บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีน้ำลายไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ


                                                            หน้าที่ ๒๕

ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ.  ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่
ในความเบื่อหน่าย จึงยสกุลบุตรเปล่งอุทานว่า ท่านผู้เจริญ  ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ
แล้วสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า  ใครๆ
อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย. ลำดับนั้น ยสกุลบุตร
เดินตรงไปทางประตูพระนคร.  พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ  อย่าได้ทำอันตราย
แก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตร. ทีนั้น  ยสกุลบุตรได้เดินตรงไปทางป่า
อิสิปตนะมฤคทายวัน.
                [๒๖] ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง
ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะ
ที่ปูลาดไว้.  ขณะนั้น  ยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า  ท่านผู้เจริญ  ที่นี่
วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ. ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวาย
ที่นี่ไม่ขัดข้อง  มาเถิดยส  นั่งลง  เราจักแสดงธรรมแก่เธอ.  ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่า
ได้ยินว่า  ที่นี่ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง  ดังนี้  แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง   เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา  โทษ
ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระองค์
ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว
จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์
สมุทัย  นิโรธ  มรรค. ดวงตาเห็นธรรม  ปราศจากธุลี  ปราศจากมลทิน ว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา  ได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่ง
นั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น.
                                                                บิดาของยสกุลบุตรตามหา
                [๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาของยสกุลบุตรขึ้นไปยังปราสาท  ไม่เห็นยสกุลบุตร จึงเข้า
ไปหาเศรษฐีผู้คหบดี แล้วได้ถามว่า ท่านคหบดีเจ้าข้า พ่อยสกุลบุตรของท่านหายไปไหน? ฝ่าย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘