พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 011-015

                                                            หน้าที่ ๑๑

                                                                ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า
                [๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรงอาศัย
ความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ
ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์
แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี
ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี.
                มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก
ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้
บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว.
                พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย บางพวก
มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า
บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย
บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น
เหมือนกัน ครั้นแล้วได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า ดังนี้:-
                                                                เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง
                                                                จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เพราะเรา
                                                                มีความสำคัญในความลำบาก จึงไม่แสดงธรรม
                                                                ที่เราคล่องแคล่ว ประณีต ในหมู่มนุษย์.
                ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสเพื่อจะแสดงธรรม
แล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นแล.
                                                                พรหมยาจนกถา จบ
                                                                _____________


                                                            หน้าที่ ๑๒

                                                                พุทธปริวิตกกถา
                [๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล
เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร
เราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ทีนั้น
เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรสิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว
จึงทรงพระดำริว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้
จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรม แก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้แลเป็น
ผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราพึง
แสดงธรรมแก่อุทกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน.  ทีนั้น เทพดาอันตรธาน
มากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า. แม้
พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า
อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรา
มาก ได้บำรุงเราผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรอยู่ ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน
ครั้นแล้วได้ทรงพระดำริต่อไปว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. พระผู้มีพระภาคได้ทรง
เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุอัน
บริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ  อุรุเวลาประเทศตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้ว
เสด็จจาริกไปทางพระนครพาราณสี.
                                                                เรื่องอุปกาชีวก
                [๑๑] อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำคยาและ
ไม้โพธิพฤกษ์ ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใส


                                                            หน้าที่ ๑๓

ยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรอาวุโส ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของ
ท่าน? หรือท่านชอบธรรมของใคร?. เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้แล้ว. พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสพระคาถาตอบอุปกาชีวกว่าดังนี้
                                                                เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง
                                                                อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวง
                                                                ละธรรมเป็นไปในภูมิสามได้หมด พ้นแล้วเพราะ
                                                                ความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึง
                                                                อ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเรา
                                                                ก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับ
                                                                ทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก
                                                                เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียว
                                                                เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลส
                                                                ได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อ
                                                                ประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองประกาศ
                                                                อมตธรรมในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ.
                อุปกาชีวกทูลว่า ดูกรอาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด  ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุด
มิได้ โดยประการนั้น.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า
เป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูกรอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ชนะ.
                เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิด พ่อ ดังนี้ แล้ว
สั่นศีรษะ ถือเอาทางผิดเดินหลีกไป.
                                                                เรื่องอุปกาชีวก จบ
                                                                _____________


                                                            หน้าที่ ๑๔

                                                                เรื่องพระปัญจวัคคีย์
                [๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์. พระปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
เสด็จมาแต่ไกล แล้วได้นัดหมายกันและกันว่า ท่านทั้งหลาย พระสมณะโคดมนี้เป็นผู้มักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึง
ลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้  ถ้าพระองค์ปรารถนา
ก็จักประทับนั่ง. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่
ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค
รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่ง
นำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะ ที่พระปัญจวัคคีย์
จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท. ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคโดยระบุพระนาม และ
ใช้คำว่า "อาวุโส" เมื่อพระปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสห้ามพระ
ปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า "อาวุโส"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุ
อมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้า
สักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลาย
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่.
                เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว. พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า
อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริ-
มนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.
                เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้


                                                            หน้าที่ ๑๕

บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว
ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลาย
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่.
                แม้ครั้งที่สอง พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า ...
                แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ...
                แม้ครั้งที่สาม พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคว่า อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยา
นั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม
อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลาย
ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้
ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า.
                เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน แต่กาลนี้.
                พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า คำนี้ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จักแสดงธรรม พวกเธอ
ปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุด
แห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วย
ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้พระปัญจวัคคีย์
ยินยอมได้แล้ว. ลำดับนั้นพระปัญจวัคคีย์ ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิต
เพื่อรู้ยิ่ง.
                                                                ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
                                                                ปฐมเทศนา
                [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุด
สองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘