โทษของมิจฉาทิฏฐิ

              โทษของมิจฉาทิฏฐิ  แม้จะไม่ถึงเป็นนิยตะ  คือ  ดิ่งจนไม่สามารถจะแก้ไขได้ทั้ง    ประการ  ดังกล่าวมา  ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีโทษมาก  ทำให้ผู้ประพฤติถึงความพินาศได้  เหมือนชาวกาลิงครัฐ  เป็นอุทาหรณ์
              เล่ากันมาว่า  ครั้งดึกดำบรรพ์  พระเจ้าทัณฑกีครองราชย์ในกุมภวดีบุรี  แคว้นกาลิงคะ  ครั้งนั้นพระองค์ทรงถอดตำแหน่งหญิงนครโสเภณีคนหนึ่ง  นางได้วิ่งเต้นทุกวิถีทางเพื่อได้ตำแหน่งกลับมา   วันหนึ่ง  ไปพักผ่อนหย่อนใจในราชอุทยาน  พบดาบสรูปหนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่  เธอคิดว่านั่นเป็นภาพกาฬกิณี  จึงให้คนใช้เอาน้ำมาล้างตา  เสร็จแล้วถ่มน้ำลายรดดาบส  หลังจากนั้นสองสามวันเธอได้รับตำแหน่งกลับคืนดังเดิม
              ต่อจากนั้นไม่นาน  ปุโรหิตคนหนึ่งถูกถอดจากตำแหน่งอีก  เขาไปถามหญิงนั้นว่า  ทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งกลับคืน  เธอตอบว่า  เพราะไปถ่มน้ำลายรดดาบส  ปุโรหิตไปทำตามนั้น  หลังจากนั้นสองสามวันเขาได้รับพระราชทานตำแหน่งดังเดิมเช่นกัน
              ต่อจากนั้นไม่นาน  เกิดจราจลที่หัวเมืองชายแดน  พระราชาทรงเชื่อปุโรหิตนั้นจึงให้ประชาชนไปถ่มน้ำลายรดดาบส  ไม่นานก็สามารถปราบปรามหัวเมืองให้สงบลงได้  ต่างร่าเริงยินดีว่าถ่มน้ำลายรดดาบสแล้วโชคดี
              หญิงนครโสเภณี  ปุโรหิต  และชาวกาลิงครัฐ  ได้รับความสำเร็จโดยบังเอิญ  หลังจากที่ไปถ่มน้ำลายรดดาบส  จึงเกิดความเห็นผิดว่า  ทำชั่วได้ดี  ต่างก็พากันเห็นดีเห็นงามกับการทำความชั่ว   เทวดาโกรธชาวเมืองนั้นมาก  จึงดลบันดาลให้ฝนเพลิงและฝนทราย  ตกลงมาในแว่นแคว้นนั้น  ทำให้คนเหล่านั้นถึงแก่ความตายทั้งหมด 
              จากเรื่องดังกล่าวนี้  ให้ข้อคิดทางคติธรรมว่า  ความบังเอิญบางอย่างทางดีก็ตาม  ทางร้ายก็ตาม  ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์บางอย่าง  เป็นสาเหตุอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเกิดมิจฉาทิฏฐิได้  ผู้เป็นวิญญูชนควรมีวิจารณญาณในเรื่องอย่างนี้ให้มาก  เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น  และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของทรชน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘