โทษของสัมผัปปลาปะ

              โทษของสัมผัปปลาปะ  ทรงแสดงไว้ว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สัมผัปปลาปะ อันบุคคล  เสพ  เจริญ  ทำให้มาก  ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก  ในกำเนิดเดียรัจฉาน  ในแดนแห่งเปรต  ผลร้ายแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด  ย่อมทำให้เป็นคนมีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

              พระอรรถกถาจารย์  อธิบายว่า  ผู้พูดสัมผัปปลาปะ ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น   หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์  ก็จะไม่มีใครเชื่อถือวาจา  ถึงแม้จะสั่งสอนบุตรธิดา  หรือศิษย์ก็ไม่เชื่อฟัง  เป็นต้น
              ส่วนโทษของการพูดสัมผัปปลาปะ  โดยการพูดแบบไม่รู้กาละเทศะ  พึงเห็นเต่าตัวหนึ่ง     เป็นอุทาหรณ์

              ในสมัยดึกดำบรรพ์  มีเต่าช่างพูดตัวหนึ่ง  ได้ผูกมิตรกับหงส์    ตัว  ที่มาหากินในหนองน้ำที่เต่าอาศัยอยู่  เมื่อหงส์ทั้งสองมาที่หนองน้ำนั้น  ก็สนทนากับเต่าอย่างมีความสุข  สมกับคำที่นักปราชญ์สอนไว้ว่า  จะมีใครในโลกนี้ที่มีความสุขเท่ากับผู้มีมิตรสหายไว้สนทนาปรับทุกข์  ร่วมสุขซึ่งกันและกัน  เต่าได้พูดกับหงส์ว่า  สหายทั้งสองนับว่าโชคดี  มีปีกบินได้  จึงไปหากิน  และไปเที่ยวต่างถิ่นได้ตามใจชอบ  ส่วนข้าพเจ้ากี่เดือนกี่ปี  ก็อยู่แต่ที่หนองน้ำแห่งนี้  ไม่มีโอกาสได้ไปภูมิประเทศอื่นอันสวยงามกับเขาเลย   เพราะเป็นสัตว์เดินช้า
              หงส์ทั้งสองสงสารเพื่อน  จึงบอกว่า  ถ้าสหายต้องการจะไปหากินยังหนองน้ำอื่น  และเที่ยวชมภูมิประเทศที่สวยงามละก็  ข้าพเจ้าทั้งสองสามารถพาไปได้  แต่กลัวว่าสหายจะอดพูดไม่ได้  เต่าถามวิธี   จึงบอกว่าข้าพเจ้าทั้งสองจะคาบไม้ที่ปลายทั้งสอง  ให้สหายคาบตรงกลาง  เพียงเท่านี้  ก็สามารถพาสหายไปที่ไหนก็ได้  แต่ระหว่างเดินทาง  สหายต้องไม่พูดเด็ดขาด  ถ้าพูดจะทำให้ตกลงมาถึงแก่ความตาย  เต่ารับคำของหงส์ว่าจะทำตามนั้น
              หงส์ทั้งสองพาเต่าบินไป  ผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีเด็กเลี้ยงวัวหลายคนกำลังจับกลุ่มเล่นกัน  เด็กคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงบอกเพื่อนว่า  ดูสิ  หงส์    ตัวคาบปลายไม้พาเต่าบินไป   ข้าว่าเดี๋ยวก็ตกลงมาตาย  พวกเราตามไปเก็บเต่าตายมาแกงกินกันเถอะ  แล้วก็พากันวิ่งตามไป  เต่าได้ยินดังนั้น  อยากจะพูดกับเด็กให้สะใจว่า  ไอ้เด็กโง่เอ๋ยพวกเองไม่มีวันจะได้กินเนื้อของข้าหรอก  อ้าปากจะพูด  จึงหลุดจากไม้ที่คาบไว้  ตกลงมาที่แผ่นดิน  จนกระดองแตก  ถึงแก่ความตาย  การพูดไม่รู้จักกาลเวลามีโทษอย่างนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘