โทษของปาณาติบาต

                  โทษของปาณาติบาต  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงแสดงไว้ในทุจริตวิปากสูตร  อังคุตตรนิกายว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ปาณาติบาต  อันบุคคลส้องเสพ  (ทำ)  เจริญ  (ทำด้วยวิธีการต่าง ๆ)  ทำให้มาก  (ทำบ่อย ๆ  ทำเป็นประจำ)  ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก  ในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉาน  ในแดนแห่งเปรต  ผลร้ายแห่งปาณาติบาต  อย่างเบาที่สุด  ย่อมทำให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
              พระอรรถกถาจารย์  อธิบายว่า  ผู้ทำปาณาติบาตบางคนแม้จะไม่ตกนรก  เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน  หรือเกิดในแดนแห่งเปรตก็ตาม  อันกุศลกรรมบางอย่างที่ได้ทำเอาไว้ส่งผลให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์  ก็จะเป็นผู้มีอายุสั้น  บางคนพอถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา  ไม่ทันจะได้ลืมตาดูโลก  ก็ตายเสียก่อน  หรือบางคนคลอดจากครรภ์มารดามาแล้ว  อยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต  ผู้ได้รับผลร้ายจากการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจที่อำมหิต  พึงเห็นนายโคฆาต  ชื่อนันทะ  เป็นอุทาหรณ์
เล่ากันมาว่า  ในครั้งพุทธกาล  ในพระนครสาวัตถี  มีชายคนหนึ่ง  ชื่อนันทะ  มีอาชีพฆ่าโคเอาเนื้อขายเลี้ยงชีพ  ตลอด  ๕๕  ปีที่เขาทำอาชีพนี้  ไม่เคยบริจาคทานและรักษาศีลเลย  ถ้าขาดเนื้อจะไม่ยอมรับประทานอาหาร
วันหนึ่ง  ในเวลาเย็น  เขามอบเนื้อให้ภรรยาเพื่อทำกับข้าว  เสร็จแล้วไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ  บังเอิญเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีแขกมาที่บ้าน  ไม่มีกับข้าวต้อนรับ  จึงไปยังบ้านนายนันทะ  พบภรรยาของเขา  จึงได้ขอซื้อเนื้อ  แต่ไม่มีเนื้อสำหรับขาย  มีแต่เนื้อที่เตรียมไว้สำหรับทำกับข้าวตอนเย็น  ภรรยาของนายนันทะ  จึงไม่ขายให้  เพราะทราบดีว่าถ้าขาดเนื้อแล้ว  สามีจะไม่ยอมรับประทานอาหาร  แต่ชายผู้นั้นก็ไม่ฟังเสียง  ได้ฉวยหยิบเอาเนื้อนั้นไปโดยพลการ
              นายนันทะกลับมาจากท่าน้ำ  ภรรยาได้ยกอาหารที่ปราศจากเนื้อมาให้ได้  เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง  เขาไม่ยอมรับประทานอาหาร  ฉวยมีดอันคมกริบ  เดินเข้าไปหาโคตัวหนึ่ง  สอดมือเข้าไปในปาก  ดึงลิ้นออกมาแล้วใช้มีดเชือดจนขาด  นำมาให้ภรรยาทำกับข้าว  โคตัวนั้นสิ้นใจตายด้วยความเจ็บปวดทรมาน

  เมื่อกับข้าวเสร็จแล้ว  นายนันทะจึงรับประทานอาหาร  ทันทีที่เขาใส่ชิ้นเนื้อนั้นเข้าไปในปาก  ลิ้นของเขาได้ขาดตกลงไปในชามข้าว  ได้รับผลกรรมทันตาเห็น  เพราะการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจอันเหี้ยมโหด  เลือดไหลออกจากปาก  ร้องครวญครางเสียงเหมือนโค  ตายแล้วไปตกนรกอเวจี 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘