พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก

เดิมชื่อจ้อยเป็นลูกชาวนาเกิดในหมู่ บ้านห้วยคาเมืองพิชัย ซึ่ง ปัจจุบันอยู่ในเขตเมือง อุตรดิตถ์ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คนแต่ตายเพราะ ไข้ทรพิษไปเสีย ๒ คน จึงเหลือแต่เด็กชายจ้อยอยู่ผู้เดียวต้องมีหน้าที่เลี้ยงควายและช่วย พ่อแม่ปลูกข้าวในท้องนาเล่าไว้ในประวัติศาสตร์ว่าจ้อยนี้มีฝีมือชกมวยเก่งมาแต่เด็ก ระหว่างที่เลี้ยงควายอยู่นี้ ก็ไม่เกียจคร้านนอนพักผ่อนอยู่บนหลังควายเฉยๆ มักจะ ชักชวนเด็กเลี้ยงควายอื่นๆ ต่อยมวยอยู่เสมอและตนก็จะเป็นผู้ชนะทุกครั้งไป เมื่อจ้อย โตขึ้นบิดาจะให้ไปเรียนหนังสือในวัด ก็ขัดขืนไม่ยอมไปเพราะต้องการเรียน วิชามวย มากกว่าจนบิดาต้องอธิบายให้ ฟังว่ามนุษย์ทุกคน จำเป็นต้องเรียนหนังสือ ให้อ่านออก เขียนได้ เพราะแม้แต่วิชามวยนั้นจะเรียนรู้ได้ละเอียดก็ต้อง ฝึกอ่านจากตำรา มวย ต่างๆ เด็กชายจ้อยจึงยอมเข้าวัดเรียนหนังสืออยู่จนอายุถึง ๑๔ ปี จึงสามารถ อ่าน ออกเขียนได้ ระหว่างที่เรียนหนังสือในวัดนั้นก็พยายามฝึกหัดวิชามวยด้วยตนเอง โดย ตัดต้นกล้วยมาฝึกเตะแรงและเตะสูงจนสามารถกระโดดข้ามต้นกล้วยที่สูงถึง ๔ศอกได้ นอกจากนั้นยังฝึกความเร็วของหมัดโดยเอามะนาว ๔-๕ ใบ มาผูกเชือกแขวนที่ต้นไม้ แล้วชกต่อยขึ้นศอกถองลูกมะนาวพัลวันได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีมะนาวลูกใดลอยมา ถูกใบหน้าเลย อยู่มาวันหนึ่งลูกชายเจ้าเมืองพิชัยชื่อคุณเฉิดกับคนรับใช้มาเรียนหนังสื?อยู่ที่วัดด้วย คุณเฉิดนั้นเป็นถึงลูกเจ้าเมืองมีอำนาจวาสนาพวกเด็กในวัด จึงพากันคอยเอาอกเอาใจ ฝากตัวเป็นบริวารมีแต่จ้อยเท่านั้นที่ไม่ยอมเข้าด้วยจึงไม่ถูกวิสัยกัน ถึงกับมีการชกต่อยกันขึ้นเด็กชายจ้อยนั้นฝีมือดีกว่า ต่อยคุณเฉิดเสียเจ็บตัวพ่ายแพ้ไป ความกลัวว่า จะถูกลงโทษทำให้จ้อยผู้ชนะต้องหลบหนีออกจากวัดเดินทางไปถึงหมู่บ้านท่าเสา ซึ่งเป็น หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการชกมวยสมัครเป็นศิษย์ของครูมวยชื่อครูเที่ยง หลอกท่านว่า ตนเองนั้นชื่อทองดี มาจาก หมู่บ้านดินแดง รูเที่ยงก็รับเอาไว้เลี้ยงเป็นเด็กรับใช้ในบ้าน ภายในเวลาปีเดียว จ้อยกลายเป็นนักมวยชั้นเอกของครูเที่ยงเรียนรู้ฝึกหัดวิชามวย จากท่านผู้นี้จนหมดสิ้น นอกจากนั้นนายจ้อยหรือทองดีนี้ยังมีความกตัญญู รับใช้งาน ในบ้านตักน้ำ ตักข้าว ทำสวน ให้แก่ครูเที่ยง นายจ้อยเป็นนักมวยที่เอาใจใส่สุขภาพ ของตนเอง ไม่ยอมกินหมากเหมือนคนอื่นๆในหมู่บ้านนั้น จนครู่เที่ยงตั้งชื่อว่า"ทองดีฟันขาว" จ้อยอยู่กับครูเที่ยงจนกระทั่งเกิดวิวาทกับศิษย์เก่าของท่าน คนหนึ่งซึ่ง ชกมวยสู้จ้อยไม่ได้ จึงไปเที่ยวโพนทะนาว่าครูเที่ยงอุปการะเลี้ยงคนเกเร จ้อยกลัวครู จะเสียชื่อเสียงจึงกราบลาอาจารย์และเดินทางกับพระรูปหนึ่ง ไปถึงวัดบางเตาหม้อ มอบตัวเป็นศิษย์ในวัดนั้นอีก ระหว่างที่พำนักอาศัยในวัดนี้จ้อยได้มีโอกาสเห็นคนจีน เล่นงิ้ว สังเกตตัวละครงิ้วแสดงกำลังภายในกระโดดโลดเต้น ห้อยโหนได้ผิด มนุษย์ ธรรมดาก็รู้สึกทึ่งพยายามหัดท่ากระโดดกระโจนข้ามหัวคนแบบมวยจีน แสดงความ สามารถรวมวิชาทั้งมวยไทยและมวยจีนได้ จนเป็นผู้มีชื่อเสียงครูมวย อีกท่านหนึ่ง เรียกกันว่าครูเมฆอยู่บ้านท่าเสาจึงรับนายทองดีนี้มาเป็นลูกศิษย์ฝึกสอนวิชามวย อีก ต่อไป วันหนึ่งมีขโมยมาลักควายของครูเมฆไปสองตัวระหว่างที่ขโมยจูงควายหลบหนี ไปนั้น นายจ้อยคว้าดาบวิ่งไล่ตามไปคนเดียว พอถึงตัวจึงเกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จ้อยใช้ดาบฟันคอขโมยขาดตายดิ้นไปคนหนึ่งและขโมยอีกคนหนึ่งถูกฟันข้อมือขาด ร้องขอชีวิตด้วยความกลัว จ้อยก็ส่งตัวมันให้กรมการเมืองจึงได้รับรางวัล ๕ ตำลึง พร้อมทั้งคำชมเชยอย่างมาก นี่เป็นโอกาสแรกที่นายจ้อยซึ่งภายหลังจะกลายเป็นพระยาพิชัยดาบหัก ได้แสดงฝีมือ ทางด้านการใช้ดาบ ในวันนมัสการพระแท่นดงรัง มีการจัดงานวัดขึ้นแสดงมวยกลาง ลาน นายจ้อยนั้นถูกจับคู่ให้ชกกับนายถึกลูกศิษย์ครูนิลในยกแรกพอไหว้ครูเสร็จ นายจ้อยก็กระโดดข้ามหัวคู่ต่อสู้และหันกลับมาถีบท้ายถอยนายทึกแบบเล่นงิ้ว พอนาย ทึกงวยงงยืนหาคู่ต่อสู้อยู่เป็นไก่ตาแตกก็โดนเตะเข้าอีกทีหนึ่ง จนสลบนิ่งไม่ลุกขึ้น ยอมแพ้ไป นายนิลครูมวยของนายถึกรู้สึกโมโหเป็นอย่างมาก ที่ลูกศิษย์โดนเตะสลบ เร็วเหลือเกิน จึงท้าครูเมฆชกแต่นายจ้อยรับอาสาขอต่อสู้กับครูนิลแทน เมื่อไหว้ครูกัน เสร็จแล้ว ในยกแรกนาจ้อยได้แต่ถอยและเป็นฝ่ายรับข้างเดียวดูท่าทีของครูนิลว่า เก่ง แค่ไหนแต่พอถึงยกที่สองนายจ้อยกระโดดเตะต้นแขนซ้ายขวา ของครูนิลด้วยความแรง จนครูนิลเจ็บกล้ามเนื้อยกแขนไม่ขึ้นทั้งสองข้างได้แต่ใช้เท้าเตะอย่างเดียว จึงถูกนาย จ้อยจับขากระชากขึ้นเข่าที่ท้องและชกที่คางพร้อมกัน ครูนิลหงายหลัง ฟันหักสี่ซี่สลบ ไปอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของนายจ้อยหรือทองดีนี้ก็แผ่กระจายไปทั้งเมืองพิชัย หลังจากนั้น ประมาณ ๓ เดือนนายจ้อยได้มีโอกาสรู้จักกับพระภิกษุจากนครสวรรคโลกจึงเดิน ทาง ไปที่เมืองนั้นกับพระรูปนี้และสมัครตนเป็นลูกศิษย์ของครูดาบ ทั้งนี้คงจะเป็น เพราะ นายจ้อยรู้สึกว่าตนเองได้เรียนวิชามวยทั้งแบบจีนและไทยมาจนหมดสิ้นแล้ว เมื่อหา ครูมวยเพิ่มเติมวิชาความรู้ให้ไม่ได้ก็สมควรที่จะฝึกวิชาดาบต่อไป ฝึกอยู่เพียง ๓ เดือน ก็มีชื่อเสียงดังไปทั่วเมืองสวรรคโลกว่าเป็นนักดาบเก่งกาจจนลูก ชายเจ้าเมืองถึงกับชวนไปประลองฝีมือกัน ความจริงในการต่อสู้ครั้งนี้ นายจ้อยฉลาด ขึ้น เพราะถึงแม้ตนเองจะมีฝีมือดาบเหนือกว่าก็พยายามฟันแบบมิให้มีใครแพ้ชนะ คง จะได้บทเรียนมาตั้งแต่สมัยเป็นลูกศิษย์ในวัดวิวาทกับลูกชายเจ้าเมืองพิชัย หลังจากนั้น ก็ออกจากเมืองสวรรคโลกเดินทางไปอยู่กรุงสุโขทัยพักที่วัดธานี พบกับครูจีนอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีวิชาความรู้ฝีมือด้านมวยจีนเก่งกาจสามารถมากสามารถจับคนหักไหปลาร้าได้ นายจ้องสมัครตัวเป็นลูกศิษย์เรียนเพิ่มท่ามวยจีนต่างๆอีกมากมาย จนในที่สุดชื่อเสียง ทางด้านฟันดาบ มวยไทยและมวยจีนแพร่ไปทั่วกรุงสุโขทัยกลายเป็นครูกับเขาบ้าง มีลูกศิษย์ติดตามหลายคน คนหนึ่งที่รักมากชื่อนายบุญเกิดขณะอายุเพียง ๑๓ ปี กล่าวกันว่านายจ้อยกับลูกศิษย์อายุ ๑๓ ปีนี้ รักใคร่ใกล้ชิดกัน มากไปไหนมาไหน ด้วยกัน เสมอ ครั้นวันหนึ่งมีคนจีนจากเมืองตากมาค้างอยู่ที่กรุงสุโขทัยได้ยินชื่อเสียงว่า นาย จ้อยชกมวยและฟันดาบได้คล่องแคล่วว่องไว จึงมาบอกว่าเจ้าเมืองตากนั้น เป็นคนเชื้อ จีนและชอบวิชามวยเป็นอย่างมาก อยากชักชวนให้นายจ้อย และบุญเกิดเดินทางไป ที่ เมืองตากเพื่อฝึกสอนวิชามวยให้แก่ชายฉกรรจ์ที่นั่น จ้อยกับบุญเกิดก็ตกลง เดินทาง จากนครสุโขทัยต้องบุกป่าฝ่าดงเป็นเวลาหลายวัน ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น เอนกายลงใต้ ต้นไม้จุดไฟกันเสือผลัดกันนั่งยาม คืนหนึ่งเด็กชายบุญเกิดมีหน้าที่นั่งยามทน ความง่วง ไม่ได้หลับไป เมื่อไฟมอดเสือก็ย่องเข้ามางับลากตัวนายบุญเกิดไป ครูจ้อยได้ยินเสียง ลูกศิษย์ร้องเอะอะโวยวายด้วยความตกใจ ก็ชักมีดสุยออกจากเอวกระโดดเข้ากอดคอ เสือโดยไม่มีความกลัว ปักมีดลงที่คอหลายครั้งจนเสือนั้นต้องปล่อยนายบุญเกิด และวิ่ง หนีเข้าป่าไปเพราะความเจ็บปวด นายจ้อยกับคน จีนช่วยกันปฐมพยาบาล นายบุญเกิด เป็นเวลานานจึงหายขาด เจ้าเมืองตากนั่นเราทราบดีในประวัติศาสตร์ว่าท่านคือพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะ นั่นเรียกกันว่าเจ้าตาก จ้อย บุญเกิดและคนจีนเดินทางถึงเมืองตาก ขณะที่พระเจ้าตาก จัดพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดและมีมวยฉลอง นายจ้อยถูกจัดให้ขึ้นชกกับครูมวย คนหนึ่งชื่อนายห้าวเป็นการชกมวยต่อหน้าพระเจ้าตากแต่ก่อนที่จะมีการชกนั้นพระภิกษุ รูปหนึ่งเรียกนายจ้อยมาบอกว่าครูห้าวนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลมากนัก ถ้าต่อยมวยด้วย แล้ว แพ้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้านายจ้อยฝีมือดีต่อยชนะแล้ว เห็นจะถูกแก้แค้นเอาชีวิต ไม่รอดเป็นแน่ เมื่อฟังคำของพระเช่นนั้นแล้วนายจ้อยรู้สึกวิตกมาก ถึงเวลาเริ่มต้นมวยก็แอบอยู่บน กุฏิพระ ไม่ยอมลงมาจนพระเจ้าตากต้องให้คนไปตามตัวนายจ้อย จึงกราบเรียนต่อ พระเจ้าตากว่าตนเองเป็นคนมาจากต่างเมืองไม่มีอำนาจอิทธิพลจะต่อยกับครูห้าวกลัว ว่าเมื่อชนะแล้วชีวิตจะต้องตกอยู่ในอันตราย พระเจ้าตากได้ฟังเช่นนั้น ก็รับรองด้วย เกียรติของท่านเองว่าจะไม่ยอมให้ครูห้าวทำอันตรายต่อนายจ้อยได้ การชกมวยจึงเริ่ม ต้นขึ้น ในยกแรกครูห้าวก็เข้าทั้งเตะทั้งต่อยจนนายจ้อยแทบตั้งตัวไม่ได้ ต้องเป็นฝ่ายรับ และเมื่อใกล้ปลายยกก็แกล้งล้มลง เมื่อสิ้นยกแรกครูห้าวรู้สึกฮึกเหิมดีใจเห็นว่านายจ้อยนี้ ถึงแม้จะมีชื่อเสียง แผ่กระจาย ไปหลายเมืองก็มิได้มีความสามารถน่ากลัวเช่นใด พระเจ้าตากสินเองถึงกับมาถามว่า จะสู้เขาต่อไปอึกหรือ นายจ้อยก็กราบเรียนว่ายินดีจะพยายามต่อสู้ ครั้นถึงยกสองการ ต่อสู้เผ็ดร้อนขึ้น พอขึ้นยกสองนายจ้อยก็ไม่รอช้าโดดเหยียบชายพกชกลูกตาแล้วลงศอก ที่หัวนายห้าว ๒ ทีซ้อน แล้วหกคะเมนไปยืนอยู่ข้างหลัง ครูห้าวถูกศอกงงไม่หาย ก็ถูก เท้าของนายจ้อยฟาดปังเข้าให้ที่ปากครึ่งจมูกครึ่งขากรรไกร ครูห้าวล้มลงสลบเป็น อันว่านายห้าวแพ้ เจ้าตากจึงจัดให้นายหมึกซึ่งเป็นคนตัวใหญ่กว่า ขึ้นชกกับนายจ้อยอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ถูกนายจ้อยเตะเล่นเหมือนเตะต้นกล้วยสลบคาเท้าไปอีกคนหนึ่ง" ฝีมือการชกต่อยของนายจ้อยนี้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก ถึงกับให้รางวัลและชวนเป็นพรรคพวกบริวารเมื่อนายจ้อยอายุครบ ๒๑ ปีพระเจ้าตาก ก็จัดบวชให้เป็นพระอยู่ ๑ พรรษาและหลังจาก สึกออกมาแล้วจึงรับราชการต่อ ได้แต่งตั้งเป็นหลวงพิชัยอาสารับใช้พระเจ้าตากสินอย่างใกล้ชิด หลวงพิชัยอาสาหลงรัก สาวใช้ของพระชายาพระเจ้าตากสินคนหนึ่งเป็นหญิงงามชื่อลำยง พระเจ้าตากจึงยกเธอ ให้เป็นภรรยา เมื่อพระเจ้าตากสินได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเชียรปราการครอง เมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาก็ติดตามมารับราชการที่เดียวกัน ครั้นกองทัพพม่ายกมา ล้อมกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระยาวิเชียรปราการ ได้รับ คำสั่งให้มาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ท่านก็เอาหลวงพิชัยอาสาติดมาด้วย เราทราบดีจากประวัติศาสตร์ว่าการป้องกันกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นทำกันแบบเหยาะแหยะ เต็มที ถึงแม้จะมีคนดีอยู่บ้างเช่นชาวบางระจัน คนส่วนมากโดยเฉพาะพระบรม มหาราชวังไร้ความสามารถที่จะป้องกันประเทศชาติได้ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ในข้อความบันทึก จดหมาย หลวงอุดมสมบัติว่า "ครั้งพม่ายกเข้ามาตั้งค่ายอยู่วัดแม่นางปลื้มนั้นจะหาคนรู้วิชาปืน ยิงปืนเป็นสู้รบกับพม่าก็ไม่มี ศูนย์ทแกล้วทหารเสียหมดรับสั่งให้เอาปืนปะขาวกวาดวัด ขึ้นไปยิงสู้รบกันที่หัวรอ ต่างคนต่างก็ตกใจเอาสำลีจุกหูกลัวเสียงปืนจะดังเอาหูแตก ว่ากล่าวกันให้ใส่ดินแต่น้อย ครั้นใส่แต่น้อยกำหนดจะยิงข้างน้ำข้างในก็พากันร้องวุ่นวาย เอาสำลีจุกหูไว้กลัวหูจะแตก รับสั่งก็สั่งให้ผ่อนดินลงเสียให้น้อยลง จะยิงแล้วไม่ยิงเล่า แต่เวียนผ่อนลงๆดินก็น้อยลงไปทุกที่ ครั้นเห็นว่าน้อยพอยิงได้แล้วก็ล่ามชนวนออกไป ให้ไกลทีเดียว แต่ไกลอย่างนั้นคนยิงยังต้องเอาสำลีจุกหูไว้กลัวหูจะแตก ครั้นยิงเข้าไป เสียงปืนก็ดังพรูออกไปลูกปืนก็ตกลงน้ำหาถึงค่ายพม่าไม่ รับสั่งต่อไปว่า สิ้นคนรู้วิชา ทัพวิชาศึกแล้วก็จะเป็นไปอย่างนี้นั่นเอง" เรื่องกลัวเสียงปืนใหญ่ระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่นี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสิน ซึ่งมี หน้าที่รักษาการณ์ด้านตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาตรงวัดเกาะแก้ว ต้องถูกคาดโทษ เพราะในวังนั้นพวกท้าวนางข้างในขวัญอ่อนเหลือเกินได้ยินเสียงปืนใหญ่ทีไรก็ตกใจ โดยเฉพาะโฉมงามสองท่านชื่อหม่อมเพ็งและหม่อมแมน ซึ่งเป็นสนมโปรดของพระเจ้า เอกทัศ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ทีใดก็หวีดว้ายจะเป็นลมทุกที จนพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรง ออกข้อบังคับว่าใครจะยิงปืนใหญ่ต่อสู้พม่าต้องบอกมาที่ศาลาลูกขุน เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำ ความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน จะได้มีพระบรมราชโองการเตือนท้าวนางใน ให้อุดหูเสีย เมื่อ สาวงามทั้งหลายป้องกันแก้วหูกันเรียบร้อยแล้ว ทหารไทยจึงมีสิทธิ ยิงปืนใหญ่ต่อสู้พม่า ขณะนั้นพระเจ้าตากสินรักษาการณ์อยู่ที่วัดเกาะแก้ว เห็นพม่ายกทหารบุกรุกเข้ามา เอาปืนใหญ่ยิงต่อสู้ทันทีโดยมิได้บอกศาลาลูกขุนเสียก่อน มีผลให้ท้าวนางทั้งหลาย มิได้ อุดรูหูอกสั่นขวัญหายกันเป็นแถว จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้นพระเจ้าตากสินถูกชำระโทษ หากมีความชอบมาก่อน จึงได้รับพระกรุณาภาคทัณฑ์โทษไว้ เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าตากสินรู้สึกท้อพระทัยมีความคิดหนีออกจาก กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ตอนนั้นถึงเดือนสิบสองน้ำท่วมทุ่งพม่ายกทัพเรือเข้าประชิดพระเจ้าเอกทัศตรัสสั่ง ให้พระยาเพชรบุรีคุมกองทัพเรือ และ พระเจ้าตากสินคุมทัพบกออกไปตั้งที่วัดใหญ่ คอยสกัดตีทัพพม่าเมื่อพม่ายกมา พระเจ้าตากสินเห็นว่าเหลือกำลัง ก็ไม่ออกตีด้วย ส่วนพระยาเพชรบุรีนั้นกล้าหาญนำพลเข้าสู้รบจึงถูกพม่าล้อมไว้รอบตัวทหารพม่าเอา หม้อดินดำใส่ดินระเบิดขว้างไปที่เรือพระยาเพชรบุรี จนเกิดระเบิดตูมตามเรือแตก กระจายทั้งลำ พระยาตากสินนั้นถอยมาตั้งอยู่ที่วัดพิชัยและหลังจากนั้นก็ไม่ได้เคลื่อนกลับ เข้านคร ศรีอยุธยา ถึงเดือนยี่แผ่นดินแห้งพระเจ้าตากสินจึงพาพรรคพวกตีฝ่าพม่า ทางทิศ ตะวันออกและหาทางกู้ชาติต่อไปเมื่อวันเสาร์เดือนยี่ขึ้น ๔ ค่ำ พ.ศ.๒๓๐๙วันที่พระเจ้า ตากสิน นำพรรคพวกตีฝ่ากองทัพพม่าทางทิศตะวันออกนั้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ติดตามมีปรากฎนามตามพระราชพงศาวดารคือพระเชียงเงิน หลวงพลเสนา หลวง ราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา และหลวงพิชัยอาสา คือนายจ้อยนักมวย นักดาบฝีมือเอกนี่เอง พม่าส่งทหารติดตามเป็นจำนวนถึง ๒,๐๐๐ คน ทันกับทัพของพระเจ้าตากสิน ที่บ้าน โพธิสังหาร พระเจ้าตากสินสู้รบขันแข็งฆ่าพม่าล้มตาย แล้วไปชุมนุมพลกันที่บ้าน พรานนก พม่าตามไปอีกต่อสู้กันเป็นครั้งที่สองก็ตีพม่าแตกพ่ายไปอีก กองทัพไทยที่มี หลวงพิชัยอาสาเป็นผู้นำอยู่ด้วยคนหนึ่งนี้ต้องต่อสู้กับพม่าอีกเป็นครั้งที่สาม ที่ดง ศรีมหาโพธิ์ หลังจากได้ชัยชนะครั้งนี้พม่าก็มิกล้าติดตามมาสู้รบอีก พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า"ฝ่ายพระยากำแพงเพชร (คือพระเจ้า ตากสิน)ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ วัดพิชัย จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีน ประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธกับทั้งนายทหารผู้ใหญ่คือพระเชียงเงินหนึ่ง หลวงพรหมเสนาหนึ่ง หลวงพิชัยอาสาหนึ่ง หลวงราชเสน่หาหนึ่ง ขุนอภัยภักดีหนึ่ง เป็นห้านายกับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคนจัดแจงคิดกันจะยกทัพหนีไปทางอื่น พอฝน ห่าใหญ่ตกเป็นชัยมงคลฤกษ์พระยากำแพงเพชร ก็ยกกองทัพออกจากค่ายวัดพิชัย เดิน ทัพไปทางบ้านหารดาราพอเพลาพลบค่ำฝ่ายกองทัพพม่ารู้ก็ยกติดตามมาทันได้ต่อรบกัน เป็นสามารถทัพพม่าต้านทานมิได้ก็ถอยกลับไป จึงเดินทัพไปทางบ้านข้าวเม่า ถึงบ้าน สัมบัณฑิตเพลาเที่ยงคืนวันนั้นประมาณสองยามเศษจึงแลมาเห็นแสงเพลิงไหม้ ในกรุง ก็ให้หยุดทัพอยู่ที่นั้น รุ่งขึ้นอาทิตย์ขึ้น ๕ ค่ำเดือนยี่ จึงเดินทัพไปถึงบ้านโพธิสังหาร ฝ่ายพม่ายกกองทัพติดตามไปอีก จึงให้หยุดทัพตระเตรียมจะคอยรับกองทัพพม่า พม่า ยกไปทัน ได้ต่อรบกันเป็นสามารถทัพพม่าแตกพ่ายไปเก็บได้เครื่องศัสตราวุธ เป็นอัน มาก จึงเดินทัพไปหยุดแรมอยู่ ณ บ้านพรานนก พอเพลาเย็นพวกทแกล้วทหาร ออกไป เที่ยวลาดหาอาหารพบกองทัพพม่ากลับยกติดตามมาอีกพลประมาณสองพัน จึงกลับ มาแจ้งแก่พระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรก็ขึ้นม้ากับม้าทหารสี่ม้าออกรับทัพพม่าก่อนจัดพลทหาร ทั้งปวงยก แซงเป็นปีกกาออกทั้งสองข้าง เข้าตีกระหนาบทัพพม่าและทัพพม่าสามสิบม้า ซึ่งมา หน้านั้นแตกย่นถอยหลังลงไปหาทัพใหญ่ ก็พากันแตกพ่ายไป พวกทแกล้วทหารทั้งปวง เห็นอานุภาพพระยากำแพงเพชรเป็นมหัศจรรย์ชวนกันสรรเสริญว่า นายเรามีบุญมาก เห็นจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะก่อกู้แผ่นดินคืนได้เป็นแท้ ก็ยำเกรงอำนาจยิ่งขึ้น กว่าแต่ก่อน จะเห็นได้ว่าหลวงพิชัยอาสาเป็นนายทหารสำคัญที่สุดคนหนึ่งที่รับใช้พระเจ้าตากสิน และสู้รบอย่างใกล้ชิดจนได้ชัยชนะต่อทัพพม่าที่ติดตามมาทุกครั้งไป ในการต่อสู้ระหว่าง ทหารม้าไทยห้าท่านและทหารม้าพม่าซึ่งมีจำนวนมากถึงสามสิบนั้นฝ่าย พระเจ้าตากสิน และนายทหารม้าไทยอีกสี่คนซึ่งจะต้องมีหลวงพิชัยอาสาอยู่คนหนึ่ง เป็นแน่กลับ สามารถสู้รบอย่างกล้าหาญจนทหารม้าพม่าแตกถอยหนีไป ความเก่งกาจในการรบของบรรพบุรุษเราครั้งนี้สมควรที่ชนชาวไทยรุ่นหลังจะจดจำไว้ ด้วยความภาคภูมิใจ ทัพของพระเจ้าตากสินรวบรวมผู้คนจากเมืองต่าง ๆ เดินทาง ๖ วันถึงเมืองปราจีน หลังจากนั้นผ่านฉะเชิงเทรา ชลบุรี บ้านนาเกลือแขวงบางละมุงไปถึงระยอง เจ้าเมือง ระยอง ถือว่ากรุงศรีอยุธยายังไม่แตกพระเจ้าตากเป็นกบฏต่อแผ่นดิน จึงเกิดการสู้รบ กันขึ้น ทำให้พระเจ้าตากสินต้องตีเมืองระยองเสีย แล้วเดินทัพต่อไปที่เมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีก็ไม่ยอมออกมาอ่อนน้อมเช่นเดียวกัน พระเจ้าตากสินจึงล้อมเมือง จันทบุรีเป็นเวลานาน ในการตีจันทบุรีนี้พงศาวดารเล่าว่า พระเจ้าตากมีบัญชาให้ทุบหม้อข้าวเท อาหารทิ้ง หมด ถ้าไม่ได้เมืองก็อดตายกันทั้งกองทัพ ถึงเวลายามสามพระเจ้าตากสิน ทรงช้างพัง ชื่อคีรีบัญชรไสเข้าชนบานประตูเมืองพังทลาย?ละตีจันทรบุรีได้ รายละเอียดตอนนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ "ไทยรบพม่า"ว่า "เจ้าตากมีอุปนิสัยเป็นนักรบก็แลเห็นทันทีว่าต้องชิงทำข้าศึกก่อนจึงจะไม่เสียที จึงเรียก นายทัพนายกองมาสั่งว่าเราจะตีเมืองจันทรบุรีนั้น ในค่ำวันนี้เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกิน เสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกิน ข้าว?ช้าด้วยกันในเมืองพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมด ทีเดียว นายทัพนายกองเคยเห็นอาญาสิทธิ์ ของเจ้าตากมาแต่ก่อนก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน ต้องกระทำตาม ครั้นเวลาค่ำเจ้าตากจึงกะหน้าที่ทหารไทยจีนลอบไปอยู่มิให้ชาวเมือง รู้ตัว สั่งให้คอยฟังเสียงปืนสัญญาณเข้าปล้นเมืองให้พร้อมกัน แต่อย่าให้ออกปากเสียง อื้ออึงจนพวกไหนเข้าเมืองได้ จึงให้โห่ร้องขึ้นเป็นสำคัญให้พวกอื่นทางด้านอื่นรู้ "ครั้น ตระเตรียมพร้อมเสร็จพอได้ฤกษ์เวลาดึก ๓ นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นทรงคอช้างพัง คีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณบอกพวกทหารให้เข้าปล้นพร้อมกันทุกหน้าที่ ส่วนเจ้าตาก ก็ขับช้างที่นั่งเข้าประตูเมืองพวกชาวเมืองซึ่งรักษาหน้าที่ยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเป็น อันมาก นายท้ายช้างที่นั่งเห็นลูกปืนพวกชาวเมืองหนานักเกรงจะมาถูกเจ้าตากจึงเกี่ยว ช้างที่นั่งให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระทัยชักพระแสงหันมาจะฟันนายท้ายช้างตกใจ ทูลขอชีวิตไว้แล้วไสช้างกลับเข้ารื้อบานประตูเมืองพังลง พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองรู้ว่าข้าศึกเข้าเมืองไ??้ต่างก็ละทิ้งหน้าที่พากันแตกหนี ส่วนพระยาจันทบุรี ก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เมื่อเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ นั้นเป็น วันอาทิตย์ เดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ เสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒ เดือน"นายท้ายช้างที่นั่งใช้ของ้าวเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา เพราะเกรงลูกปืนของชาว เมือง จันทบุรี จะมาถูกต้องพระเจ้าตาก จนเป็นเหตุให้พระเจ้าตากเคืองพระทัยยิ่งนัก ถึงกับ ชักดาบหันหลังมาจะฟันเสียให้ตาย ที่รอดชีวิตไว้ได้ก็เพราะตกใจร้องทูลขออย่าให้ฆ่า นายท้ายช้างที่นั่งผู้นี้มิใช่ใครอื่นคือ นายจ้อย หรือหลวงพิชัยอาสา ของเรานี้เอง ความจริงพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่าที่บังคับให้ช้างพุ่งเข้าชน ประตูเมืองนั้น คือพระเจ้าตากสินเองเพราะเมื่อเปลี่ยนพระทัยไม่ฟันควาญแล้ว จึงชัก มีดออกแทงเข้าทะลุเนื้อช้างสัตว์เจ็บจึงถลาเข้าชนประตูเมืองเสียพังทลาย จึงเสด็จทรง ช้างพระที่นั่งตั้งขนานนามพังคีรีบัญชรขับเข้าทำลายประตูเมือง พลเมืองซึ่งรักษาประตู และป้อมเชิงเทินนั้น ก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกมาดังห่าฝนด้วยเดชะพระบารมี กระสุนปืน หาถูกต้องรี้พลผู้ใดไม่ควาญท้ายจึงเกี่ยวช้างพระที่นั่งให้ถอยออกมา ก็ทรงพิโรธเงื้อพระ แสงดาบ ขึ้นจะฟันควาญท้าย ควาญท้ายร้องทูลขอชีวิต จึงทรงกริชแทงช้างพระที่นั่งขับ เข้าทำลายประตูเมืองพังลุง" เมื่อพระเจ้าตากขึ้นครองขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี หลวงพิชัยอาสาได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นหมื่นไวยวรนาถทหารเอกราชองครักษ์ รับใช้ราชการสงครามด้วยความเก่งกล้า สามารถ เมื่อนำทัพไปตีนครราชสีมาแตกก็ได้รับบรรดาศักด์เป็น พระยาสีหราชเดโช และหลังจากตีเมืองฝางแตก จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยมีทหาร ในบังคับบัญชาถึง ๙ พันคน ส่วนนายบุญเกิดซึ่งติดตามนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็น หมื่นหาญณรงค์ เมื่อขึ้นครองเป็นเจ้าเมืองพิชัยแล้วนายจ้อยก็กลับไปสืบหาบิดา มารดา ซึ่งแต่ก่อน เป็นชาวนา ปรากฎว่าบิดาตายไปนานแล้วเหลืออยู่แต่มารดาจึงนำมาเลี้ยงไว้ ส่วนครู มวยเก่าคือครูเที่ยงและครูเมฆนั้น พระยาพิชัยตั้งเป็นกำนันทั้งสองคนถึง พ.ศ. ๒๓๑๖ โปสุพลาคุมกองทัพพม่ามาตีเมืองพิชัย ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเอกา ในคลอง คอรุม พระยาพิชัยนำทหารต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถรบประชิดกันจนถึงต้องใช้ อาวุธสั้น พระยาพิชัยนั้นถือดาบสองมือต่อสู้พม่าอย่างตะลุมบอนจนดาบหักไปข้างหนึ่ง ก็ยังสามารถเข่นฆ่าพม่าได้รอบด้าน ความเก่งกาจในการรบครั้งนี้ หมื่นหาญณรงค์ หรือ นายบุญเกิดถูกพม่ายิงด้วยปืนถึงแก่ความตาย พระราชพงศาวดารฉบับพระราช หัตถเลขา บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า "ครั้นถึง ณเดือนอ้ายข้างขึ้น โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีกพระยาพิชัย ก็ยกพล ทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังไม่มาถึงเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยก กองทัพเมือง พิษณุโลกขึ้นไปช่วย ได้รบกับพม่าเป็นสามารถและพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพล ทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงลือชื่อปรากฎเรียกว่าพระยาพิชัยดาบหักแต่นั้นมา ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ กองทัพพม่า แตกพ่าย หนีไป" พระยาพิชัยดาบหักนี้นับว่าเป็นทหารเอกคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึงแม้จะ มิได้มีตำแหน่งสำคัญและสูงเท่าเจ้าพระยากษัตริย์ศึกหรือเจ้าพระยาสุรสีห์ แต่ก็ได้ปฏิบัติ หน้าที่ในราชการสงครามอย่างดีเด่นเป็นผู้นำทัพหน้าไปตีเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ให้แก่พระเจ้าตากสิน จนถึงปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นคือพระเจ้า กรุงธนฯเสียสติก่อความโหดร้ายยากเข็ญให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชนทั่วแผ่นดิน เป็นเหตุให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องปลดออกจากพระราชบัลลังก์และประหารชีวิต เมื่อสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้พระยาพิชัย ดาบหัก ซึ่งขณะนั้นครองเมืองพิชัยอยู่มาเข้าเฝ้าทรงไต่ถามความสมัครใจ ว่ายินดีจะรับ ราชการอยู่กับพระองค์ต่อไปหรือไม่เพราะทรงทราบดีว่าพระยาพิชัยดาบหักนี้เป็นยอด ทหารเอกพระเจ้ากรุงธนบุรีและมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์องค์ก่อนยิ่งนัก พระยาพิชัยดาบหักจึงกราบทูลว่าขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบุตรของตนคนหนึ่งให้ได้รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนตนเอง นั้นจะต้องดำรงเกียรติยศของ การเป็น ทหารเอกพระเจ้ากรุงธนบุรี ไว้ขอให้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประหารชีวิตท่านเสีย พระยาพิชัยดาบหัก จึงเลือกรับความตายอย่างชายชาติทหารด้วยอุดมคติของยอดนักรบที่ถวายความจงรัก ภักดีให้แก่พระมหากษัตริย์ได้เพียงองค์เดียว พระยาพิชัยดาบหักมีอายุเพียง ๔๑ ปี เมื่อท่านเลือกเผชิญความตายด้วยจิตใจที่แน่วแน่ยอมพรากจากลำยงภรรยาแสนรัก ของท่านเพราะตัวท่านเองนั้นมิได้มีความคิดเป็นศัตรูต่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่อย่างใด ท่านจึงมอบบุตรชายของท่านให้เป็นข้าของกษัตริย์องค์ใหม่ ทุกวันนี้มีลูกหลานในตระกูลพระยาพิชัยดาบหักใช้นามสกุลว่า"วิชัยขัทคะ" ซึ่งแปลว่า "ดาบวิเศษ" และมีอีกสกุลหนึ่งซึ่งสืบสายมาจาก พระยาพิชัยดาบหักเช่นเดียวกัน คือตระกูล "ศรีศรากร" ซึ่งคนในสองตระกูลนี้ สืบสายโดยตรงมาจากบรรพบุรุษยิ่งใหญ่ของชาติไทย ได้มีบทบาทสำคัญในการกอบกู้ ประเทศชาติหลังจาก กรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่สอง ยอดนักรบแท้ ที่ยอมสละชีวิต เพื่อความจงรักภักดีอันมีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘