สรุปกุศลกรรมบถ เครื่องมือสร้างความดี

              จากการที่ได้ศึกษาเรื่องกุศลกรรมบถ  ๑๐  ประการนี้  ผู้ศึกษาจะเห็นได้ว่า  ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา  เครื่องมือที่จะใช้ทำกุศลของมนุษย์  ที่สำคัญที่สุด  คือ  กาย  วาจา  และใจ   ของตนนี่เอง
              กาย  งดเว้นจากการฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดในกาม  อันเกิดขึ้น  เพราะหิริและโอตตัปปะ
              วาจา  งดเว้นจากการพูดเท็จ  พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ  ไร้สาระ  ไม่รู้กาละเทศะ  อันเกิดขึ้นเพราะหิริและโอตตัปปะ
              ใจ  ไม่โลภอยากได้ของใคร  ไม่คิดร้ายทำลายใคร  มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม    (สิ่งที่สัตบุรุษมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นสอนไว้)  เพียงการปฏิบัติอย่างนี้  ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ  สวรรคสมบัติและนิพพานสมบัติให้แก่ตนได้แล้ว  ดังคำสอนในสาเลยยกสูตรเป็นต้น
              อีกอย่างหนึ่ง  กายที่ใช้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม  วาจาใช้พูดในทางที่ดี  ใจใช้คิดในทางที่ดี  ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ  สวรรคสมบัติได้  ดังอุทาหรณ์ต่อไปนี้
              กายที่ใช้ทำประโยชน์  อุทาหรณ์  เช่น  นายมฆะเป็นตัวอย่าง  ท่านเล่าว่า  ครั้งดึกดำบรรพ์ในหมู่บ้านอจลคาม  แคว้นมคธ  ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า  มฆะ  ชอบทำสถานที่ต่าง    ให้เป็นรัมณียสถานสำหรับคนทั่วไป  โดยมีความคิดว่า  คนทั้งหลายอาศัยพักในสถานที่นี้แล้ว  ล้วนมีความสุข  และเราเองเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข  ก็มีความสุขใจเช่นเดียวกัน
              ครั้นถึงฤดูหนาว  เขาได้ก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้าน  ฤดูร้อนหาน้ำมาให้ผู้อดน้ำ  เขาได้สร้างรัมณียสถานเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง  ต่อมามีคนอื่นอีก  เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นความดี  จึงมาร่วมด้วย  พวกเขาได้สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม  กว้างขวางออกไป  เช่น  สร้างถนน  สร้างสะพาน  สร้างศาลพักร้อน  เป็นต้น
              ครั้งนั้น  นายบ้าน  (ผู้ใหญ่บ้าน  หรือกำนัน)  เห็นพวกเขาแล้วคิดว่า  คนพวกนี้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราเลย  ถ้าพวกเขาไปหาปลา  หาเนื้อ  ซื้อสุรามารับประทานและแบ่งให้เราบ้าง  น่าจะเกิดประโยชน์ดีกว่า  อีกอย่างหนึ่ง  ถ้าปล่อยให้คนพวกนี้ทำความดีต่อไป  ประชาชนก็จะรักใคร่  เป็นอันตรายต่อตำแหน่งของตน  เขาคิดกำจัดคนเหล่านั้น  จึงไปยังราชสำนัก  กราบทูลว่า  ข้าพระองค์เห็นคนกลุ่มหนึ่ง ส้องสุมผู้คนเป็นจำนวนมาก  อาจคบคิดกันเป็นกองโจรปล้นราชสมบัติ  พระราชา  ไม่ทันสอบสวนความจริง  รับสั่งว่า  จงไปจับตัวพวกมันมาประหารชีวิต  โดยให้ช้างเหยียบให้ตาย
              เขาดีใจมากที่อุบายกำจัดคนดีของเขาสำเร็จอย่างง่ายดาย  จึงนำเจ้าหน้าที่ไปจับตัวคนเหล่านั้นมา  พันธนาการแน่นหนา  ให้นอนในพระลานหลวง  แล้วไสช้างให้เหยียบพวกเขา  แต่จะบังคับอย่างไร  ช้างก็ไม่ยอมเหยียบ  พระราชารับสั่งว่า  ช้างเห็นคนคงเกิดความกลัว  จงไปเอาเสื่อลำแพนมาคลุมพวกมันไว้ก่อน  แม้จะทำตามนั้น  ช้างก็ไม่กล้าเข้าใกล้อย่างเดิม
              พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้น  ทรงได้พระสติว่า  เรื่องนี้น่าจะมีเหตุอะไรสักอย่าง  จึงรับสั่งให้นำตัวพวกเขามาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า  พวกเจ้าอาศัยเราแล้ว ไม่ได้อะไรหรือ  จึงคิดทำร้ายเรา
               นายมฆะทูลถามว่า  ขอเดชะ  พระองค์ตรัสถามเรื่องอะไร 
เขาว่า  พวกเจ้าส้องสุมผู้คนเป็นกองโจร  หลบซ่อนอยู่ในป่า
ใครกราบทูลอย่างนั้น  พระเจ้าข้า 

              นายบ้าน  เขาบอก

              ขอเดชะพวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร  พวกข้าพระองค์แผ้วทางไปสู่สวรรค์ ด้วยการสร้าง     รัมณียสถาน  สร้างถนน  สร้างสะพาน  สร้างศาลาพักร้อน  เป็นต้น  แต่นายบ้านพยายามซักนำพวกข้าพระองค์ในทางอกุศล  พวกข้าพระองค์ไม่ยอมทำตาม  เขาโกรธ  จึงได้กราบทูลอย่างนั้นเพื่อต้องการกำจัดพวกข้าพระองค์   พระเจ้าข้า
              พระราชาทรงสดับความจริงแล้ว  ทรงถึงความโสมนัส  ตรัสว่า  พ่อทั้งหลาย  ฉันขอโทษด้วย  ช้างเป็นสัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักความดีของพวกเจ้า  เราเป็นมนุษย์เสียอีกยังไม่รู้เลย  ได้ทรงมอบหมู่บ้านนั้นให้พวกเขาปกครอง  และช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะ
              นายมฆะได้เห็นผลของความดีในปัจจุบัน  ดีใจมากจึงชักชวนพรรคพวกให้ทำความดียิ่ง ๆ  ขึ้นไป  เขาได้บำเพ็ญวัตตบท    ประการ  คือ
๑.      บำรุงบิดามารดา
๒.     ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
๓.     พูดคำสัตย์
๔.     ไม่พูดคำหยาบ
๕.     ไม่พูดส่อเสียด
๖.      กำจัดความตระหนี่
๗.     ไม่โกรธ
              ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะเทวราชในภพดาวดึงส์  แม้สหายของเขาก็ไปเกิดในที่นั้นเหมือนกัน  นี้คือ  กาย  สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
              วาจา  หรือปาก  ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้  มีสุนัขตัวหนึ่ง  เป็นอุทาหรณ์   พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า  มีสุนัขแสนรู้ตัวหนึ่ง  ของนายโคบาล  ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระปัจเจกพุทธเจ้า  เวลาที่มันยังเล็กอยู่  พระปัจเจกพุทธเจ้า  เมื่อฉันอาหารเอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนให้ก้อนหนึ่งทุกครั้ง  มันมีความสนิทสนม และจงรักภักดีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก
              นายโคบาล  ไปยังบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวัน ๆ ละ    ครั้ง  คือ  ก่อนเที่ยง  ไปกราบเรียนเวลาฉันภัตตาหาร  เวลาหลังเที่ยงเอาน้ำปานะไปถวาย  สุนัขนั้นตามนายไปด้วยทุกวัน  และทุกครั้ง  ขณะเดินไปตามทางมีพุ่มไม้  กอไม้ตรงไหนที่น่าสงสัยว่าจะมีสัตว์ร้าย  เขาเอาไม้ฟาด  และส่งเสียงไล่  สุนัขนั้นกำหนดจดจำอาการนั้นได้อย่างแม่นยำ
                  วันหนึ่งนายของมันเรียนกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า   ถ้าวันไหนกระผมไม่ว่าง   จะส่งเจ้าตัวนี้มาเพื่อเรียนเวลาภัตตาหารให้ทราบ  ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดไปตามเวลาที่เจ้าตัวนี้ส่งสัญญาณ   แล้วเขาก็ได้ทำตามนั้น
                  เมื่อได้เวลาภัตตาหาร   นายของมันส่งสัญญาณให้รู้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  มันรีบวิ่งมุ่งหน้าไปยังบรรณศาลา   ครั้นไปถึงแล้ว   ส่งเสียงเห่า    ครั้ง  เพื่อให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทราบ   แล้วไปนอนคอยอยู่ที่แห่งหนึ่ง  เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า กำหนดเวลาที่เหมาะสมแล้ว  จึงออกจากบรรณศาลา   สุนัขวิ่งนำหน้าไปยังบ้านของนาย  ครั้นถึงสถานที่ที่นายเคยระแวงภัยแต่สัตว์ร้าย  เอาไม้ฟาดพุ่มไม้ส่งเสียงไล่  มันก็ส่งเสียงเห่าเพื่อขับไล่สัตว์ร้าย  ได้ทำอย่างนี้ทุกวัน      
                  สุนัขนั้นใช้ปากของตนให้เป็นกุศล  ช่วยบอกเวลาภัตตาหาร   และคุ้มครองป้องกันภัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยการส่งเสียงเห่า  ด้วยความซื่อสัตย์  และจงรักภักดีต่อผู้มีศีลธรรม  ครั้นสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีศักดิ์ใหญ่   ในดาวดึงส์เทวโลก   นามว่า  โฆสกเทพบุตร  นี้คือ  วาจา  หรือปาก  สร้างสวรรคสมบัติให้แก่ตนได้ดังนี้แล
                  ใจ  หรือความคิด  ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้  พึงเห็นมาณพคนหนึ่งเป็นอุทาหรณ์  พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า   มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
              ชื่อมัฏฐกุณฑลี  เป็นบุตรของพราหมณ์ยอดตระหนี่  เมื่อเขามีอายุ  ๑๖  ปี  ได้ป่วยเป็นโรคผอมเหลือง  พราหมณ์ผู้บิดาไปเก็บรากไม้   ใบไม้  เปลือกไม้   ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านมาต้มยาให้รับประทาน   โรคของเขากำเริบมากขึ้นทุกที  ญาติมิตรทราบข่าวต่างพากันมาเยี่ยม  พราหมณ์กลัวคนจะเห็นทรัพย์สมบัติ  จึงนำบุตรชายออกมานอนที่นอกชาน
                  ครั้งนั้น   พระศาสดาทรงเข้ามหากรุณาสมบัติเพื่อตรวจดูสัตว์โลก  เด็กหนุ่มนั้นได้ปรากฏในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์  จึงได้เสด็จไปโปรด  โดยเสด็จพระดำเนินผ่านหน้าบ้าน   เขาเห็นพระศาสดาเกิดศรัทธาเลื่อมใส  แต่ไม่มีอะไรจะทำบุญ  หรือแม้แต่จะยกมือทั้งสองขึ้นถวายบังคมก็ไม่สามารถจะทำได้   เพราะขณะนั้นเขาเหลือเพียงแต่ความรู้สึกในใจเท่านั้น  จึงได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระศาสดาด้วยความเคารพนับถือบูชา  ปรารถนาจะทำบุญ   เมื่อพระศาสดาเสด็จผ่านไปไม่นาน  เขาก็สิ้นชีวิตลง  แล้วได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร   ในดาวดึงส์เทวโลก  นี้คือ  ใจ  สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
              ภายหลังพระศาสดาทรงปรารภถึงเทพบุตรนั้น   แสดงธรรมแก่มหาชนว่า  การทำกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม  ใจเป็นหัวหน้า  ใจเป็นใหญ่ในการทำกรรมนั้น ๆ   และกรรมที่ได้ทำไว้แล้วย่อมติดตามผู้ทำไปทุกหนทุกแห่ง   เหมือนกับเงาตามตัว  ใจ  คือ  ความคิดแม้เพียงแต่คิดเท่านั้น   หากคิดในทางที่ดี  ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้   เหมือนกับเด็กหนุ่ม   ชื่อมัฏฐกุณฑลีนี้แล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘