พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 671-675

                                                            หน้าที่ ๖๗๑

                ภิกษุณีเมตติยา รับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ ว่าตกลงเจ้าค่ะ แล้วเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่งกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่มิดเม้น ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้
กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูก
พระคุณเจ้า ทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ประชุมสงฆ์ทรงสอบสวน
                [๕๔๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้
หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
                ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระ-
พุทธเจ้าเป็นฉันใด
                แม้ครั้งที่สองแล พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ
เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
                ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธ-
เจ้าเป็นฉันใด
                แม้ครั้งที่สามแล พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ
เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
                ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธ-
เจ้าเป็นฉันใด
                ภ. ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอ
ไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ
                ท. พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุน
ธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่เล่า
                ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น
แล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้ รับสั่งดังนี้แล้ว
พระองค์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ เข้าพระวิหาร


                                                            หน้าที่ ๖๗๒

                หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุณีเมตติยาสึก จึงพระเมตติยะและพระภุมมชกะ
ได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย อย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึก
เลย นางไม่ผิดอะไร พวกกระผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลล-
บุตร เคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้
                ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ก็นี่พวกคุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรม
มีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้หรือ
                ภิกษุสองรูปนั้นสารภาพว่า อย่างนั้น ขอรับ
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่สิกขา ต่างพากัน
เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงได้โจทท่านพระทัพพ-
มัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้เล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
                                                                                ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกเธอโจททัพพมัลลบุตร ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ จริงหรือ
                ภิกษุสองรูปนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้
โจททัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่
เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใส
แล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
                ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ โดยเอนกปริยาย ดังนี้
แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความ
เป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็น
คนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การ
ไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น
ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า


                                                            หน้าที่ ๖๗๓

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อ
ข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบัง
เกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ
สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัด ซึ่งภิกษุ
ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้
เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่
ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ เป็น
สังฆาทิเสส.
                                                เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จบ.
                                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๔๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์
อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง ... ใด
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ พระอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้
เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์


                                                            หน้าที่ ๖๗๔

พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันกำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้
ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
                บทว่า ซึ่งภิกษุ หมายภิกษุอื่น
                บทว่า ขัดใจ มีโทสะ คือโกรธ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
                บทว่า ไม่แช่มชื่น คือ เป็นคนมีใจไม่แช่มชื่น เพราะความโกรธนั้น เพราะโทสะ
นั้น เพราะความไม่ถูกใจนั้น และเพราะความไม่พอใจนั้น
                ที่ชื่อว่า อันหามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
                บทว่า ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกธรรม ทั้ง ๔ สิกขาบท สิกขาบท
ใด สิกขาบทหนึ่ง
                บทว่า ตามกำจัด ได้แก่โจทเอง หรือสั่งให้โจท
                พากย์ว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ความว่า ให้เคลื่อน
จากภิกษุภาพ ให้เคลื่อนจากสมณธรรม ให้เคลื่อนจากศีลขันธ์ ให้เคลื่อนจากคุณคือตบะ
                [๕๔๗] คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุผู้ถูกตาม
กำจัดนั้น ผ่านไปแล้ว
                บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม คือ ภิกษุเป็นผู้ถูกตามกำจัดด้วยเรื่องใด มีคน
เชื่อในเพราะเรื่องนั้นก็ตาม
                บทว่า ไม่ถือเอาตามก็ตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
                [๕๔๘] ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือวิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑
อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
                [๕๔๙] คำว่า แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูด
เปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว
                บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้นจึงตรัส
เรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือ เป็นชื่อของอาบัตินิกาย
นั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.


                                                            หน้าที่ ๖๗๕

                                                                                บทภาชนีย์
                                                                ไม่เห็น โจทว่าได้เห็น
                [๕๕๐] ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็น
ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี
ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
                                                                ไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยิน
                ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่า ภิกษุต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้ยิน ท่านเป็น
ผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี
สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
                                                                                ไม่รังเกียจ โจทว่ารังเกียจ
                ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้รังเกียจว่า ภิกษุต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้ารังเกียจ
ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถ
ก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
                                                                                โจทก์ไม่เห็น
                [๕๕๑] ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้
เห็นและได้ยิน ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ
คำพูด
                ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็น และ
รังเกียจ ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ
คำพูด
                ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิกธรรม ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็น
ได้ยิน และรังเกียจ ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิกธรรม ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสาย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘