พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 566-570

                                                            หน้าที่ ๕๖๖

จึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่ออันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค
                                                                                ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติอนุบัญญัติ
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอถึงความเป็น
ผู้ชักสื่ออันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่ง จริงหรือ?
                ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ
อันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำ
ของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น
ของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายีโดยอเนกปริยายแล้ว
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่
สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคน
บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่
สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม
แก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ
ประโยชน์ ๑๐ ประการ ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้:
                                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๙. ๕. ก. อนึ่ง ภิกษุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรี
ก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้
ก็ตาม โดยที่สุด บอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส ฯ
                                                                เรื่องนักเลงหญิง จบ


                                                            หน้าที่ ๕๖๗

                                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๒๗] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด
เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็น
ผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้ ชื่อว่า
ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
                คำว่า ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ ความว่า ถูกสตรีวานไปในสำนักบุรุษ หรือถูกบุรุษวานไป
ในสำนักสตรี
                คำว่า บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของชายแก่
หญิงก็ดี
                คำว่า บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของหญิงแก่
ชายก็ดี
                คำว่า ในความเป็นเมียก็ตาม คือ บอกว่า เธอจักเป็นเมีย
                คำว่า ในความเป็นชู้ก็ตาม คือ บอกว่า เธอจักเป็นชู้
                คำว่า โดยที่สุด บอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ คือ บอกว่า
เธอจักเป็นภรรยาชั่วคราว
                บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัส
เรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือ เป็นชื่อของอาบัตินิกายนั้นแล
แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.


                                                            หน้าที่ ๕๖๘

                                                                บทภาชนีย์ มาติกา
                                                                สตรี ๑๐ จำพวก
                [๔๒๘] สตรี ๑๐ จำพวก คือ สตรีมีมารดาปกครอง ๑ สตรีมีบิดาปกครอง ๑ สตรี
มีมารดาบิดาปกครอง ๑ สตรีมีพี่น้องชายปกครอง ๑ สตรีมีพี่น้องหญิงปกครอง ๑ สตรี
มีญาติปกครอง ๑ สตรีมีโคตรปกครอง ๑ สตรีมีธรรมคุ้มครอง ๑ สตรีมีคู่หมั้น ๑ สตรีมี
กฏหมายคุ้มครอง ๑ ฯ
                                                                ภรรยา ๑๐ จำพวก
                [๔๒๙] ภรรยา ๑๐ จำพวก คือ ภรรยาสินไถ่ ๑ ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ ๑
ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ ๑ ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า ๑ ภรรยาที่สมรส ๑ ภรรยาที่ถูกปลง
เทริด ๑ ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา ๑ ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา ๑
ภรรยาเชลย ๑ ภรรยาชั่วคราว ๑ ฯ
                                                                                มาติกาวิภังค์
                [๔๓๐] สตรีที่ชื่อว่า มีมารดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มารดาคอยระวัง ควบคุม ห้าม
ปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีบิดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีบิดา คอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม
ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีมารดาบิดาปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีมารดาบิดา คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีพี่น้องชายปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีพี่น้องชาย คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีพี่น้องหญิงปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีพี่น้องหญิง คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีญาติปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีญาติคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่
ในอำนาจ


                                                            หน้าที่ ๕๖๙

                สตรีที่ชื่อว่า มีโคตรปกครอง ได้แก่ สตรีที่มีบุคคลร่วมสกุลคอยระวัง ควบคุม ห้าม
ปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีธรรมคุ้มครอง ได้แก่ สตรีที่มีสหธรรมมิกทั้งหลาย คอยระวัง ควบคุม
ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ
                สตรีที่ชื่อว่า มีคู่หมั้น ได้แก่ สตรีที่มีผู้หมั้นไว้แต่ในครรภ์ โดยที่สุด แม้สตรีที่ถูก
บุรุษสวมด้วยพวงดอกไม้ ด้วยมั่นหมายว่า สตรีคนนี้เป็นของเรา
                สตรีที่ชื่อว่า มีกฏหมายคุ้มครอง ได้แก่ สตรีที่มีพระราชาบางองค์ ทรงกำหนดอาชญา
ไว้ว่า บุรุษใดถึงสตรีผู้มีชื่อนี้ ต้องได้รับอาชญาเท่านี้
                [๔๓๑] ภรรยาที่ชื่อว่า สินไถ่ ได้แก่ สตรีที่บุรุษช่วยมาด้วยทรัพย์แล้วให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่ด้วยความเต็มใจ ได้แก่ สตรีที่บุรุษคู่รัก ให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่เพราะสมบัติ ได้แก่ สตรีที่บุรุษยกสมบัติให้ แล้วให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า อยู่เพราะผ้า ได้แก่ สตรีที่บุรุษมอบผ้าให้แล้ว ให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า สมรส ได้แก่ สตรีที่บุรุษจับต้องภาชนะน้ำด้วยกัน แล้วให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า ถูกปลงเทริด ได้แก่ สตรีที่บุรุษปลงเทริดลง แล้วให้อยู่ร่วม
                ภรรยาที่ชื่อว่า เป็นคนใช้ ได้แก่ สตรีที่เป็นทั้งคนรับใช้ เป็นทั้งภรรยา
                ภรรยาที่ชื่อว่า เป็นลูกจ้าง ได้แก่ สตรีที่เป็นทั้งคนทำงาน เป็นทั้งภรรยา
                ภรรยาที่ชื่อว่า เชลย ได้แก่ สตรีที่เรียกว่า ถูกนำมาเป็นเชลย
                ภรรยาที่ชื่อว่า ภรรยาชั่วคราว ได้แก่ สตรีที่เรียกว่า เป็นภรรยาชั่วขณะ.
                                                                ๑. ธนักกีตาจักร
                                                                                นิกเขปบท
                [๔๓๒] บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีมารดาปกครอง
ผู้มีชื่อนี้ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับ
มาบอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีบิดาปกครองผู้มีชื่อนี้
ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับมาบอก
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส


                                                            หน้าที่ ๕๗๐

                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีมารดาบิดาปกครองผู้มี
ชื่อนี้ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับ
มาบอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอก สตรีมีพี่น้องชายปกครอง
ผู้มีชื่อนี้ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับ
มาบอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีพี่น้องหญิงปกครอง
ผู้มีชื่อนี้ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับ
มาบอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีญาติปกครองผู้มีชื่อนี้
ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับมา
บอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีโคตรปกครองผู้มีชื่อนี้
ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับมาบอก
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีธรรมคุ้มครองผู้มีชื่อนี้
ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับมาบอก
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีคู่หมั้น ผู้มีชื่อนี้ว่า
ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับมาบอก ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส
                บุรุษวานภิกษุว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีมีกฏหมายคุ้มครองผู้มีชื่อ
นี้ว่า ข่าวว่า ขอท่านจงเป็นภรรยาสินไถ่ ของบุรุษผู้มีชื่อนี้ ภิกษุรับคำ นำไปบอก และกลับ
มาบอก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
                                                                                นิกเขปบท จบ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘