พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 436-440

                                                            หน้าที่ ๔๓๖

                                                                                เรื่องรบ ณ พระนครราชคฤห์
                [๒๙๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทำสงครามพ่ายแพ้พวก
เจ้าลิจฉวี ต่อมาภายหลัง ท้าวเธอทรงระดมพลยกไปรบพวกเจ้าลิจฉวีได้ชัยชนะ และตีกลอง
นันทิเภรีประกาศในสงครามว่า พระราชาทรงชนะพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะพูดกะภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย พระราชาทรงปราชัยพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว แต่เขา
ตีกองนันทิเภรีประกาศในสงครามว่า พระราชาทรงได้ชัยชนะพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว
                ภิกษุทั้งหลายพากัน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทนาว่า ไฉนท่านพระมหาโมคคัลลานะ
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระราชาทรงปราชัยพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว แต่เขาตีกองนันทิเภรี
ประกาศในสงครามว่า พระราชาทรงได้ชัยชนะพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งแรกพระราชาทรงปราชัยพวกเจ้าลิจฉวี ต่อมาภายหลังท้าวเธอทรงระดมพล
ยกไปรบพวกเจ้าลิจฉวีได้ชัยชนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะ
ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องช้างลงน้ำ
                [๒๙๘] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ดูกรอาวุโส
ทั้งหลาย เราเข้าอาเนญชสมาธิใกล้ฝั่งแม่น้ำสัปปินิกา ณ ตำบลนี้ ได้ยินเสียงโขลงช้างลงน้ำ
เวลาขึ้นจากน้ำเปล่งเสียงดังดุจนกกระเรียน
                ภิกษุทั้งหลายพากัน เพ่งโทษ ติเตียน โพทะนาว่า ไฉนท่านพระมหาโมคคัลลานะ
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราเข้าอาเนญชสมาธิใกล้ฝั่งแม่น้ำสัปปินิกา ณ ตำบลนี้
ได้ยินเสียงโขลงช้างลงน้ำ เวลาขึ้นจากน้ำเปล่งเสียงดังดุจนกกระเรียน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินั้นมีอยู่ แต่ไม่บริสุทธิ์ โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะ ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องพระโสภิตะอรหันต์
                [๒๙๙] ครั้งนั้น ท่านพระโสภิตะเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัลป์ ภิกษุทั้งหลายพากัน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระ
โสภิตะ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัลป์ ท่านพระโสภิตะ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


                                                            หน้าที่ ๔๓๗

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาตินี้ของโสภิตะมีอยู่ แต่มีชาติเดียวเท่านั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย โสภิตะ
พูดจริง โสภิตะ ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                                ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ จบ.
                [๓๐๐] ท่านทั้งหลาย ธรรมคือปาราชิก ๔ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ภิกษุ
ต้องอาบัติปาราชิกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่ได้สังวาสกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นปาราชิก
ย่อมเป็นผู้หาสังวาสมิได้ในภายหลังเหมือนในกาลก่อน ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายในธรรม คือ
ปาราชิก ๔ สิกขาบทนั้นว่า ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในธรรม คือ  ปาราชิก ๔ สิกขาบทนี้แล้วหรือ
ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สองว่า ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในธรรม คือ ปาราชิก ๔ สิกขาบทนี้แล้วหรือ
ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สามว่า ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในธรรม คือ ปาราชิก ๔ สิกขาบทนี้แล้วหรือ
ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในธรรม คือ ปาราชิก ๔ สิกขาบทนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้นิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้แล.
                                                                ปาราชิกกัณฑ์ จบ
                                                                หัวข้อประจำเรื่อง
                                                                                ปาราชิก ๔ สิกขาบท คือ:-
                เมถุนธรรม ๑ อทินนาทาน ๑ มนุสสวิคคหะ ๑ อุตตริมนุสสธรรม ๑ เป็นวัตถุแห่ง
มูลเฉท หาความสงสัยมิได้ ดั่งนี้แล.
                                                                                ____________


                                                            หน้าที่ ๔๓๘

                                                                                เตรสกัณฑ์
                ท่านทั้งหลาย ก็ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ.
                                                                สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑
                                                                เรื่องพระเสยยสกะ
                [๓๐๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระเสยยสกะ ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
เพราะความกระสันนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกาย
สะพรั่งด้วยเอ็น ท่านพระอุทายีได้เห็นท่านพระเสยยสกะ ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ
มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้นแล้วจึงได้ถามว่า อาวุโส เสยยสกะ เพราะเหตุไร
คุณจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น คุณจะ
ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ?
                ท่านพระเสยยสกะรับสารภาพว่า จริงอย่างนั้น ขอรับ
                ท่านพระอุทายีแนะนำว่า ดูกรคุณเสยยสกะ ถ้าอย่างนั้น คุณจงฉันอาหารให้พอแก่ความ
ต้องการ จำวัดให้พอแก่ความต้องการ สรงน้ำให้พอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร จำวัด สรงน้ำ
พอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความกระสันบังเกิดแก่คุณ ราคะรบกวนจิตคุณ เมื่อนั้นคุณจง
ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ
                เส. ทำเช่นนั้น ควรหรือ ขอรับ?
                อุ. ควรซิ คุณ แม้ผมก็ทำเช่นนั้น
                ต่อมา ท่านพระเสยยสกะฉันอาหารพอแก่ความต้องการ จำวัดพอแก่ความต้องการ
สรงน้ำพอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร จำวัด สรงน้ำพอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความ
กระสันบังเกิด ราคะรบกวนจิต เมื่อนั้นก็ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ สมัยต่อมา ท่านพระเสยยสกะ
ได้เป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง จึงพวกภิกษุสหาย
ของท่านพระเสยยสกะถามท่านพระเสยยสกะว่า อาวุโส เสยยสกะ เมื่อก่อนคุณซูบผอม เศร้า
หมองมีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น เดี๋ยวนี้คุณมีผิวพรรณมีอินทรีย์
อิ่มเอิบ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง คุณทำยาอะไรฉันหรือ?


                                                            หน้าที่ ๔๓๙

                เส. ผมไม่ได้ทำยาฉัน แต่ผมฉันอาหารพอแก่ความต้องการ จำวัดพอแก่ความต้องการ
สรงน้ำพอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร สรงน้ำ จำวัดพอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความ
กระสันบังเกิดแก่ผม ราคะรบกวนจิตผม เมื่อนั้นผมก็ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ
                ภิ. อาวุโส เสยยสกะ คุณพยายามปล่อยอสุจิ ด้วยมือซึ่งเป็นเครื่องฉันอาหารที่เขา
ถวายด้วยศรัทธาเทียวหรือ?
                เส. เป็นอย่างนั้น ขอรับ
                บรรดาภิกษุที่มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็
เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระเสยยสกะจึงได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิเล่า ภิกษุ
เหล่านั้น พากันติเตียนท่านพระเสยยสกะโดยอเนกปริยาย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค
                                                                                ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระเสยยสกะว่า ดูกรเสยยสกะ ข่าวว่า เธอใช้มือ
พยายามปล่อยอสุจิ จริงหรือ?
                ท่านพระเสยยสกะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น  ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ใช้มือพยายามปล่อย
อสุจิเล่า
                ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่
เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี
ความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิด
เพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ
ไม่ถือมั่น เธอจักคิดเพื่อมีความถือมั่น
                ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ
เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่บรรเทาความระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ
เพื่อสิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มิใช่หรือ?


                                                            หน้าที่ ๔๔๐

                ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม
การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดย
อเนกปริยาย มิใช่หรือ?
                ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น
เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่
เลื่อมใสแล้ว
                ครั้นผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระเสยยสกะโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง
ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ
ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ
ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคล
ผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อ
ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตาม
พระวินัย ๑
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                                พระบัญญัติ
                ๕. ๑. ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการฉะนี้.
                                                                เรื่องพระเสยยสกะ จบ.
                                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๓๐๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนะอันประณีตแล้ว จำวัดปล่อยสติไม่มี
สัมปชัญญะ เมื่อเธอจำวัดปล่อยสติไม่มีสัมปชัญญะ อสุจิเคลื่อนโดยฝัน เธอมีความรังเกียจว่า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘