พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 331-335

                                                            หน้าที่ ๓๓๑

ทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มี
พระภาคตรัสถามภิกษุ พวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอ
ทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
                ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า
อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก
และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า
                                                                                พุทธประเพณี
                พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี
ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่
ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วย
ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถาม
ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวก
เธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วย
บิณฑบาต ด้วยวิธีการอย่างไร
                ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้น ให้ทรงทราบแล้ว
                ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่น มีจริงหรือ
                ภ. ไม่มีจริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                                ทรงติเตียน
                [๒๒๙] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของ
พวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ
ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุ
แห่งท้องเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่า
อันพวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลย
ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้นพึงถึงความตาย
หรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย


                                                            หน้าที่ ๓๓๒

เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้กล่าวชมอุตตริ
มนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของ
พวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกผู้เลื่อมใสแล้ว ครั้นแล้ว
ทรงกระทำธรรมมีกถารับสั่งกะภิกขุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
                                                                มหาโจร ๕ จำพวก
                [๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร ๕ จำพวก
เป็นไฉน
                ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ
เราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี
เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ
สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและ
ราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่น
เผาผลาญฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว
เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้
อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์
และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่
ในโลก
                ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียน
ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒
มีปรากฏอยู่ในโลก


                                                            หน้าที่ ๓๓๓

                ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัด
เพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่
พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก
                ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์
เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม
วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กะถางโลหะ กะทะโลหะ
มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกะต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว
เครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก
                ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง
นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ
พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว
แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.
                                                                                นิคมคาถา
                ภิกษุใด ประกาศตนอันมีอยู่โดยการอื่น ด้วยอาการอย่างอื่น โภชนะนั้น
อันภิกษุนั้น ฉันแล้ว ด้วยอาการแห่งคนขโมย ดุจพรานนกลวงจับนก ฉะนั้น
ภิกษุผู้เลวทรามเป็นอันมาก มีผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมทราม ไม่สำรวมแล้ว
ภิกษุผู้เลวทรามเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงซึ่งนรก เพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม ภิกษุ
ผู้ทุศีล ผู้ไม่สำรวมแล้วบริโภคก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟ ประเสริฐกว่า การฉันก้อนข้าว
ของชาวรัฐ จะประเสริฐอะไร.
                                                                ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
                [๒๓๑] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา โดยอเนกปริยาย
แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความ
เป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความ
เป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส
การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น
ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า


                                                            หน้าที่ ๓๓๔

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ
ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม
บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน
ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                                พระปฐมบัญญัติ
                ๔. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้
ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้
ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอา
ตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน
ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ
เป็นเท็จเปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
                สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ
ฉะนี้ ฯ
                                                                เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา จบ
                                                                                เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ
                [๒๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น
สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญ
มรรคผลอันตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ ครั้น
ต่อมา จิตของพวกเธอน้อมไปเพื่อความกำหนัดก็มี น้อมไปเพื่อความขัดเคืองก็มี น้อมไปเพื่อ
ความหลงก็มี จึงมีความรังเกียจว่า สิกขาบทอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้ว แต่พวกเรา
สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผล
ที่ตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้าง


                                                            หน้าที่ ๓๓๕

มรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่
ท่านพระอานนท์ๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่เหมือนกัน
อานนท์ ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้
ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้
ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ แต่ข้อนั้นนั่นแล เป็นอัพโพหาริก
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๔. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้
ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้
ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือ
เอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้
พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก
หาสังวาสมิได้.
                                                                เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ จบ.
                                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๒๓๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์
อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง ... ใด
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘