พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 296-300

                                                            หน้าที่ ๒๙๖

                [๑๘๒] บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่
พรรณนาคุณในความตาย.
                [๑๘๓] บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ
หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก.
                [๑๘๔] บทว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือคำทักทาย
                คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตาย
เสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ นั้น อธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือเทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง
ชีวิตของคนเข็ญใจ ก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ก็ชื่อว่ายาก
แค้น เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น ชีวิตของคนมีมือขาด
มีเท้าขาด มีทั้งมือทั้งเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก
จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้
                บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้น
ชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต
                บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่าง อย่างนี้ คือมีความหมายในอันตาย มีความ
จงใจในอันตาย มีความประสงค์ในอันตาย
                บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย
                บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณ
ในความตายว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
จักได้รับบำเรอเพรียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น.
                [๑๘๕] บทว่า ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ
จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน ฯ
                [๑๘๖] คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุ ๒ รูปแรก
                คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อให้ติด-
สนิทอีกไม่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็น
สมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
                บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่าสังวาสนั้น ได้แก่กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศ
ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุนั้น
เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.


                                                            หน้าที่ ๒๙๗

                                                                                บทภาชนีย์
                                                                                มาติกา
                [๑๘๗] ทำเอง ยืนอยู่ใกล้                สั่งทูต สั่งทูตต่อ
ทูตไม่สามารถ                              ทูตไปแล้วกลับมา
ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ลับ                         ที่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ
ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ                       ที่ลับ สำคัญว่าที่ลับ
พรรณนาด้วยกาย                            พรรณนาด้วยวาจา
พรรณนาด้วยกายและวาจา                     พรรณนาด้วยทูต
พรรณนาด้วยหนังสือ                          หลุมพราง วัตถุที่พิง
การลอบวาง เภสัช                          การนำรูปเข้าไป
การนำเสียงเข้าไป                          การนำกลิ่นเข้าไป
การนำรสเข้าไป                            การนำโผฏฐัพพะเข้าไป
การนำธรรมารมณ์เข้าไป                      กิริยาที่บอก การแนะนำ
การนัดหมาย                               การทำนิมิต.
                                                                                มาติกาวิภังค์
                                                                สาหัตถิกประโยค ทำเอง
                [๑๘๘] คำว่า ทำเอง คือฆ่าเองด้วยกาย ด้วยเครื่องประหาร ที่เนื่องด้วยกาย หรือ-
ด้วยเครื่องที่ประหารซัดไป
                                                                                ยืนอยู่ใกล้
                คำว่า ยืนอยู่ใกล้ คือยืนสั่งอยู่ ณ ที่ใกล้ว่า จงยิงอย่างนี้ จงประหารอย่างนี้ จงฆ่า-
อย่างนี้.
                                                                อาณัตติกประโยค สั่งทูต
                [๑๘๙] ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง
เข้าใจว่าบุคคลนั้นแน่ จึงปลงชีวิตบุคคลนั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป


                                                            หน้าที่ ๒๙๘

                ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง เข้าใจ
ว่าบุคคลนั้นแน่ แต่ปลงชีวิตบุคคลอื่น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก
                ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง เข้า
ใจว่าบุคคลอื่น แต่ปลงชีวิตบุคคลชื่อนั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
                ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง เข้าใจ
ว่าบุคคลอื่น และปลงชีวิตบุคคลอื่น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก.
                                                                                สั่งทูตต่อ
                [๑๙๐] ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า
ภิกษุชื่อนี้จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง บอกแก่ภิกษุนอกนี้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ฆ่ารับคำ ภิกษุผู้สั่งเดิม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุผู้ฆ่า ปลงชีวิตบุคคล
นั้นสำเร็จ ต้องอาบัติปาราชิกทุกรูป
                ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อ
นี้จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง สั่งภิกษุรูปอื่นต่อ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุผู้มารับคำ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ฆ่า ปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จ ภิกษุผู้สั่งเดิม
ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้รับคำสั่ง และภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก.
                                                                                ทูตไม่สามารถ
                [๑๙๑] ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง
ไปแล้วกลับมาบอกอีกว่า ผมไม่สามารถปลงชีวิตเขาได้ ภิกษุผู้สั่ง สั่งใหม่ว่า ท่านสามารถเมื่อใด
จงปลงชีวิตเขาเสียเมื่อนั้น ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จ ต้อง-
อาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป.
                                                                ทูตไปแล้วกลับมา
                [๑๙๒] ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ครั้นภิกษุนั้น
สั่งภิกษุนั้นแล้ว มีความร้อนใจ แต่พูดไม่ให้ได้ยินว่า อย่าฆ่า ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตบุคคลนั้น
สำเร็จ ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
                ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ครั้นภิกษุนั้นสั่งภิกษุ-
นั้นแล้ว มีความร้อนใจ พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่าเลย ภิกษุผู้รับคำสั่งกลับพูดว่า ท่านสั่งผมแล้ว
จึงปลงชีวิตบุคคลชื่อนั้นเสีย ภิกษุผู้สั่งเดิม ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก


                                                            หน้าที่ ๒๙๙

                ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ครั้นภิกษุนั้น สั่งภิกษุ
นั้นแล้ว มีความร้อนใจ พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่าเลย ภิกษุผู้รับคำสั่ง รับคำว่าดีแล้ว งดเสีย
ไม่ต้องอาบัติทั้ง ๒ รูป
                                                                ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ลับ
                [๑๙๓] ที่ไม่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ พูดขึ้นว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลชื่อนี้พึงถูกฆ่า
ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
                                                                ที่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ
                ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ไม่ลับ พูดขึ้นว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลชื่อนี้พึงถูกฆ่า ดังนี้
ต้องอาบัติทุกกฏ
                                                                ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ
                ที่ไม่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ไม่ลับ พูดขึ้นว่าทำอย่างไรหนอ บุคคลชื่อนี้ พึงถูกฆ่า ดังนี้
ต้องอาบัติทุกกฏ
                                                                ที่ลับ สำคัญว่าที่ลับ
                ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ พูดขึ้นว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลชื่อนี้พึงถูกฆ่า ดังนี้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
                                                                พรรณนาด้วยกาย
                [๑๙๔] ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยกาย ได้แก่ภิกษุทำกายวิการว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้น
จะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะการพรรณนานั้น ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า
เราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุผู้พรรณนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้พรรณนา
ต้องอาบัติปาราชิก
                                                                พรรณนาด้วยวาจา
                ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยวาจา ได้แก่ ภิกษุกล่าวด้วยวาจาว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะ-
ได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะการพรรณนานั้น ผู้ใดผู้หนึ่งคิด-
ว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุผู้พรรณนาต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้พรรณนา
ต้องอาบัติปาราชิก
                                                                                พรรณนาด้วยกายและวาจา
                ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยกายและวาจา อธิบายว่าภิกษุทำวิการด้วยกายก็ดี กล่าวด้วยวาจาก็ดีว่า
ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะการพรรณนา


                                                            หน้าที่ ๓๐๐

นั้น ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า เราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุผู้พรรณนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เขาตาย ภิกษุผู้พรรณนา ต้องอาบัติปาราชิก.
                                                                พรรณนาด้วยทูต
                [๑๙๕] ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยทูต ได้แก่ภิกษุสั่งทูตไปว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้
ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้ใดผู้หนึ่งผู้ได้ทราบคำบอกของทูตแล้ว-
คิดว่า เราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุผู้พรรณนา ต้องอาบัติถัลลัจจัย เขาตาย
ภิกษุพรรณนา ต้องอาบัติปาราชิก
                                                                พรรณนาด้วยหนังสือ
                ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยหนังสือ ได้แก่ภิกษุเขียนหนังสือไว้ว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้
ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ ตัวอักษร ผู้ใดผู้หนึ่งเห็นหนังสือแล้ว
คิดว่า เราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุผู้เขียน ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุ-
ผู้เขียน ต้องอาบัติปาราชิกฯ
                                                                                หลุมพราง
                [๑๙๖] ที่ชื่อว่า หลุมพราง ได้แก่ภิกษุขุดหลุมพรางเจาะจงมนุษย์ไว้ว่า เขาจักตกตาย
ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุผู้ขุด ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เขาตาย ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุขุดหลุมพรางไว้มิได้เจาะจงว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจักตกตาย
ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ มนุษย์ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเขาตกลงไป
แล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ยักษ์ก็ดี
เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานแปลงเพศเป็นมนุษย์ก็ดี ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับความทุกขเวทนา ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย สัตว์ดิรัจฉานตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับ
ทุกขเวทนา ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                                วัตถุที่พิง
                [๑๙๗] ที่ชื่อว่า วัตถุที่พิง ได้แก่ภิกษุวางศัสตราไว้ในที่สำหรับพิงก็ดี ทายาพิษไว้ก็ดี
ทำให้ชำรุดก็ดี วางไว้ริมบ่อ เหวหรือที่ชัน ด้วยหมายใจว่า บุคคลจักตกตายด้วยวิธีนี้ ดังนี้ก็ดี
ต้องอาบัติทุกกฏ เขาได้รับทุกขเวทนา เพราะต้องศัสตรา ถูกยาพิษ หรือตกลงไป ภิกษุต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘