พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 236-240

                                                            หน้าที่ ๒๓๖

                                                                เรื่องหญิงแพศยา
                [๗๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกลิจฉวีกุมารในเมืองเวสาลี จับภิกษุให้ปฏิบัติผิดในหญิง
แพศยา ภิกษุยินดี พระวินัยธรพึงให้นาสนะภิกษุเสีย ภิกษุไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องบัณเฑาะก์
                ก็โดยสมัยนั้นแล พวกลิจฉวีกุมารในเมืองเวสาลี จับภิกษุให้ปฏิบัติผิดในบัณเฑาะก์
ภิกษุยินดี พระวินัยธรพึงให้นาสนะภิกษุเสีย ภิกษุไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องสตรีคฤหัสถ์
                ก็โดยสมัยนั้นแล พวกลิจฉวีกุมารในเมืองเวสาลี จับภิกษุให้ปฏิบัติผิดในสตรีคฤหัสถ์
ภิกษุยินดี พระวินัยธรพึงให้นาสนะภิกษุเสีย ภิกษุไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องให้ผลัดกัน
                ก็โดยสมัยนั้นแล พวกลิจฉวีกุมารในเมืองเวสาลี จับภิกษุให้ปฏิบัติผิดในกันและกัน
เธอทั้งสองยินดี พระวินัยธรพึงให้นาสนะเสียทั้งสอง เธอทั้งสองไม่ยินดี ทั้งสองไม่ต้องอาบัติ.
                                                                เรื่องภิกษุผู้เฒ่า
                [๗๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมภรรยาเก่า นางได้จับบังคับว่า
ท่านจงมาสึกเสียเถิด ภิกษุนั้นถอยหลังล้มหงาย นางจึงขึ้นคร่อมองค์กำเนิด เธอได้มีความรังเกียจ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอยินดีหรือเปล่า?
                ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า
                ภ. ดูกรภิกษุ ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                                เรื่องลูกเนื้อ
                [๗๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ลูกเนื้อมาสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของเธอแล้ว
ได้อมองค์กำเนิดพลางดื่มปัสสาวะ ภิกษุนั้นยินดีแล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระ
ผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว.
                                                                ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ จบ.


                                                            หน้าที่ ๒๓๗

                                                                _______________
                                                                ทุติยปาราชิกสิกขาบท
                                                                                เรื่องพระธนิยะ กุมภการบุตร
                [๗๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏเขตพระนคร
ราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปซึ่งเคยเห็นกันเคยคบหากันมา ทำกุฎีมุงบังด้วยหญ้า ณ
เชิงภูเขาอิสิคิลิแล้วอยู่จำพรรษา แม้ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ก็ได้ทำกุฎีมุงด้วยหญ้าแล้วอยู่
จำพรรษา ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้า เก็บหญ้า
และตัวไม้ไว้ แล้วหลีกไปสู่จาริกในชนบท ส่วนท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรอยู่ ณ ที่นั่นเอง
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน ขณะเมื่อท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรเข้าไปบ้านเพื่อ
บิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีบังด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและไม้ไป
                แม้ครั้งที่สอง ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เที่ยวหาหญ้า และไม้มาทำกุฎีมุงบัง
ด้วยหญ้าอีก เมื่อท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต แม้ครั้งที่สอง
คนหาบหญ้า คนหาฟืน ก็ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสียแล้วขนหญ้าและตัวไม้ไป
                แม้ครั้งที่สาม ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ก็ได้เที่ยวหาหญ้าและไม้มาทำกุฎีมุงบังด้วย
หญ้าอีก เมื่อท่านธนิยะ กุมภการบุตร เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต แม้ครั้งที่สาม คนหาบหญ้า
คนหาฟืน ก็ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสียแล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปอีก
                หลังจากนั้น ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้มีความคิดว่า เมื่อเราเข้าไปบ้านเพื่อ
บิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง
สามครั้งแล้ว ก็เรานี่แหละ เป็นผู้ได้ศึกษามาดีแล้วไม่บกพร่อง เป็นผู้สำเร็จศิลปะในการช่างหม้อ
เสมอด้วยอาจารย์ของตน มิฉะนั้นเราพึงขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนเสียเอง จึงท่านพระธนิ-
ยะ กุมภการบุตร ขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วน ด้วยตนเอง แล้วรวบรวมหญ้าไม้และโคมัย
มาเผากุฎีนั้น กุฎีนั้นงดงาม น่าดู น่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง มีเสียงเหมือนเสียงกระดึง
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ทอด
พระเนตรเห็นกุฎีนั้นงดงามน่าดูน่าชมมีสีแดง ครั้นแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย นั่นอะไร งดงาม น่าดู น่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง ครั้นภิกษุเหล่านั้น กราบทูล
ให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น
ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนโมฆบุรุษนั้น


                                                            หน้าที่ ๒๓๘

จึงได้ขยำโคลน ทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วน ด้วยตนเองเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความ
อนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์ มิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้น
พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง อย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จ
ด้วยดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
                ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว พากันไปที่กุฎีนั้น ครั้งถึงแล้วได้ทำลายกุฎีนั้นเสีย ท่าน
พระธนิยะ กุมภการบุตร จึงถามภิกษุเหล่านั้นว่า อาวุโส พวกท่านทำลายกุฎีของผม เพื่ออะไร?
                ภิ. พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ทำลาย ขอรับ.
                ธ. ทำลายเถิด ขอรับ ถ้าพระผู้มีพระภาคผู้ธรรมสามีรับสั่งให้ทำลาย.
                [๘๐] กาลต่อมา ความดำรินี้ได้มีแก่ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรว่า เมื่อเราเข้าไปบ้าน
เพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง
สามครั้งแล้ว แม้กุฎีดินล้วนที่เราทำไว้นั้น พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ทำลายเสีย ก็เจ้าพนักงาน
รักษาไม้ที่ชอบพอกับเรามีอยู่ ไฉนหนอเราพึงขอไม้ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้มาทำกุฎีไม้ จึงท่านพระ-
ธนิยะ กุมภการบุตร เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้ ครั้นแล้วได้บอกเรื่องนี้ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้
ว่า ขอเจริญพร เมื่ออาตมาเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงบัง
ด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึงสามครั้ง แม้กุฎีดินล้วนที่อาตมาทำไว้นั้นพระผู้มี
พระภาคก็รับสั่งให้ทำลายเสียแล้ว ขอท่านจงให้ไม้แก่อาตมาๆ ประสงค์จะทำกุฎีไม้.
                จ. ไม้ที่กระผมจะพึงถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าได้นั้น ไม่มี ขอรับ มีแต่ไม้ของหลวงที่
สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย ถ้าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่ง
ให้พระราชทานไม้เหล่านั้น ขอท่านจงให้คนขนไปเถิดขอรับ.
                ธ. ขอเจริญพร ไม้เหล่านั้น พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว.
                ลำดับนั้น เจ้าพนักงานรักษาไม้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านั้นแล
เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม
พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเลื่อมใสในพระสมณะเหล่านี้ยิ่งนัก ท่านพระธนิยะนี้ย่อมไม่บังอาจเพื่อจะ
กล่าวถึงสิ่งของที่พระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้พระราชทาน ว่าพระราชทานแล้ว จึงได้เรียนต่อท่าน
พระธนิยะ กุมภการบุตรว่า นิมนต์ให้คนขนไปเถิด ขอรับ จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร สั่งให้
ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไป ทำกุฎีไม้แล้ว.


                                                            หน้าที่ ๒๓๙

                                                                                วัสสการพราหมณ์ตรวจราชการ
                [๘๑] ต่อจากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐไปตรวจราชการในกรุง
ราชคฤห์ ได้เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้ ครั้นแล้วได้พูดถึงเรื่องนี้ ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้ว่า
พนาย ไม้ของหลวงที่รักษาไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย
เหล่านั้น อยู่ ณ ที่ไหน?
                เจ้าพนักงานรักษาไม้เรียนว่า ใต้เท้าขอรับ ไม้เหล่านั้น พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทาน
แก่ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ไปแล้ว.
                ทันใดนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐ เกิดความไม่พอใจว่า ไฉน
พระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเก็บไว้เพื่อ
ใช้ในคราวมีอันตรายแก่พระธนิยะ กุมภการบุตร ไปเล่า จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา
มาคธราช กราบทูลว่า ได้ทราบเกล้าว่า ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร
ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย พระองค์พระราชทานแก่พระธนิยะ กุมภการบุตรไปแล้ว
จริงหรือพระพุทธเจ้าข้า?
                พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า ใครพูดอย่างนั้น?
                ว. เจ้าพนักงานรักษาไม้พูด พระพุทธเจ้าข้า.
                พ. พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้คนไปนำเจ้าพนักงานรักษาไม้มา.
                จึงวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐ สั่งให้เจ้าหน้าที่จองจำเจ้าพนักงานรักษา
ไม้นำมา
                [๘๒] ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เห็นเจ้าพนักงานรักษาไม้ถูกเจ้าหน้าที่จองจำนำ
ไป จึงไต่ถามเจ้าพนักงานรักษาไม้ว่า เจริญพร ท่านถูกเจ้าหน้าที่จองจำนำไป ด้วยเรื่องอะไร?
                เจ้าพนักงานรักษาไม้ตอบว่า เรื่องไม้เหล่านั้น ขอรับ.
                ธ. ไปเถิด ท่าน แม้อาตมาก็จะไป.
                จ. ใต้เท้าควรไป ขอรับ ก่อนที่กระผมจะถูกประหาร.
                จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารจอม
เสนามาคธราช ครั้นถึงแล้ว นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา
มาคธราช เสด็จเข้าไปหาท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร


                                                            หน้าที่ ๒๔๐

ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามท่านพระธนิยะกุมภการบุตรถึงเรื่องไม้นั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ทราบว่าไม้
ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเขาเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย โยมได้
ถวายแก่พระคุณเจ้า จริงหรือ?
                ธ. จริงอย่างนั้น ขอถวายพระพร.
                พ. ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกิจมาก มีกรณียะมาก แม้ถวายแล้ว
ก็ระลึกไม่ได้ ขอพระคุณเจ้าโปรดเตือนให้โยมระลึกได้.
                ธ. ขอถวายพระพร พระองค์ทรงระลึกได้ไหม ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ใหม่ๆ
ได้ทรงเปล่งพระวาจาเช่นนี้ว่า หญ้า ไม้ และน้ำข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด.
                พ. ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมระลึกได้ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้มีความละอาย
มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา มีอยู่ ความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อยจะเกิดแก่สมณะและพราหมณ์
เหล่านั้น คำที่กล่าวนั้น โยมหมายถึงการนำหญ้าไม้และน้ำของสมณะและพราหมณ์เหล่านั้น แต่ว่า
หญ้าไม้และน้ำนั้นแลอยู่ในป่า ไม่มีใครหวงแหน พระคุณเจ้านั้น ย่อมสำคัญเพื่อจะนำไม้ที่เขา
ไม่ได้ให้ไปด้วยเลศนั้น พระเจ้าแผ่นดินเช่นโยม จะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศ ซึ่งสมณะ
หรือพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด พระคุณเจ้า รอดตัวเพราะบรรพชาเพศแล้วแต่อย่าได้
ทำอย่างนั้นอีก.
                                                                ประชาชนเพ่งโทษติเตียนโพนทะนา
                [๘๓] คนทั้งหลาย พากันเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ ไม่
ละอาย ทุศีล พูดเท็จ พระสมณะเหล่านี้ยังปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ
ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ติเตียนว่า ความเป็นสมณะย่อมไม่มี
แก่พระสมณะเหล่านี้ ความเป็นพราหมณ์ย่อมไม่มีแก่พระสมณะเหล่านี้ ความเป็นสมณะของ
พระสมณะเหล่านี้ เสื่อมแล้ว ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้ เสื่อมแล้ว ความเป็น
สมณะของพระสมณะเหล่านี้ จะมีแต่ไหน ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้ จะมีแต่
ไหน และโพนทะนาว่า พระสมณะเหล่านี้ ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว พระสมณะเหล่านี้
ปราศจากความเป็นพราหมณ์แล้ว แม้พระเจ้าแผ่นดิน พระสมณะเหล่านี้ยังหลอกลวงได้ ไฉนจัก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘