ความรัก ๑๐ มิติ 10-02

ทบทวน วิภวตัณหา ๓ ระดับ


คงยังไม่ลืมว่า "วิภวตัณหา" คือ ความต้องการที่มีอุดมการณ์ เป็นความต้องการ ที่ตั้งใจสร้าง คุณงามความดี เพื่อความเจริญดีงามของตนบ้าง เพื่อผู้อื่นเป็นหลัก
บุคคลที่พยายามตั้งใจสร้างคุณงามความดี หรือบุคคลที่มีอุดมการณ์นั้น ก็มีทั้ง ๑.กัลยาณปุถุชน ๒.อาริยชน ๓.อมตชน เพราะ "วิภวตัณหา" นั้นมีได้ในบุคคลทั้ง ๓ ประเภทสำหรับ "ปุถุชน" สามัญนั้น ยังไม่สามารถมี "วิภวตัณหา" อย่างถูกธรรมหรอก มีสะเปะสะปะไปตามกระแสผีเข้าผีออกเท่านั้น
เช่น กัลยาณปุถุชน ก็มุ่งมั่นสร้างคุณงามความดี ตามภูมิของตน และตั้งใจเสียสละ ให้ได้มากขึ้นๆ เท่าที่สามารถ โดยนับเอา "กรรมกิริยาที่ตนได้เสียสละ" ว่าเป็น "ประโยชน์ตน" นั้น ๑ ซึ่งก็เป็น "ประโยชน์เพื่อผู้อื่นในตัว" ด้วยและนับเอา "การได้ปรับ กรรมกิริยากายวาจาใจของตน ให้เก่งขึ้นสุภาพขึ้น ดีขึ้นตามที่ตน มีภูมิปัญญา" ว่า เป็น "ประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่าน" นี้อีก ๑
"กัลยาณปุถุชน" ก็จะสามารถอุตสาหะวิริยะสร้างคุณงามความดี ได้มากมาย หลากหลาย ให้ท่วมท้น มหาศาล ขนาดไหนก็พากเพียรไปได้ จนสามารถเป็นศาสดา ผู้ปลดเปลื้อง ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ ไปทั้งโลกก็เป็นไปได้
เพียงแต่ "กัลยาณปุถุชน" นั้นยังไม่มี "ญาณ ๗" ที่เป็นอาริยะเป็นโลกุตระ ซึ่งเรื่องของอาริยะ หรือโลกุตระนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป ในระดับปุถุชน (อสาธารณัง ปุถุชฺชเนหิ)" นั่นหมายความว่า เป็นเรื่อง "พิเศษ" ต่างหาก ไปจากสามัญระดับ "ปุถุชน" แน่ๆ ซึ่งจะต่างอย่างไร "ปุถุชน" จึงไม่สามารถจะ "รู้" ได้ด้วยการเดา หรือ การใช้เหตุผลของสามัญปุถุชน มาใช้เพื่อตรวจสอบหยั่งรู้ ความเป็น "อาริยะ" ได้เป็นอันขาด ต้องเรียนรู้จนเกิด "ญาณ ๗" เอง นั่นแหละจึงจะรู้จริงได้ [ "ญาณ ๗" นี้ ดูได้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๕๔๓]
และอีกประการหนึ่ง "กัลยาณปุถุชน" คือ ผู้ที่ยังไม่มีญาณหยั่งรู้ ว่า สภาวะความเป็นตัวตน ที่เรียกว่า สักกายะนั้นคือ "สภาวะอย่างไร" ที่ตนหลงติดหลงยึดอยู่ (ไม่พ้นสักกายทิฏฐิ) ยังไม่รู้แจ้ง เห็นจริง เพราะยังคลุมเครือในความเป็น "พระพุทธ" ว่า คือ อย่างไร กันแน่... "พระธรรม" คือไฉนจริงๆ... "พระสงฆ์" ที่พระพุทธเจ้า ทรงรับรองว่าเป็น "สงฆ์สาวกที่แท้" ของพระองค์ อันได้แก่ "คู่แห่ง บุรุษ ๔ หรือ อาริยบุคคล ๘" มีสภาพเช่นไรแท้ๆ (ยังไม่พ้นวิจิกิจฉา)
พุทธศาสนิกชนมากหลายที่เชื่อว่า ตน "ไม่สงสัย ไม่ลังเล ไม่คลุมเครือ (ไม่วิจิกิจฉา)" ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ นั่นเป็น "ความเชื่อ" (ทิฏฐิ) ของตนเอง ซึ่งเป็นเพียง "ความเข้าใจ" (ทิฏฐิ) หรือเพียงภูมิปัญญาของตนเองเท่านั้น ว่า ตน "เชื่ออย่าง ไม่สงสัย" ที่จริงนั้น ผู้ "เชื่อ" ก็เชื่อตามภูมิตน บางคน "เชื่อ หรือเข้าใจพระพุทธ..พระธรรม..พระสงฆ์ อย่างงมงาย" ด้วยซ้ำ และ "เชื่อ" อย่างนั้นจริงๆ ถึงขั้นกล้ากล่าวว่า "ตนไม่คลุมเครือ" ทีเดียว เพราะมั่นใจว่า "ตนรู้จักพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์" แล้วอย่างถูกต้องดีที่สุด .. ว่างั้นเลย นั่นเป็นเพียง "ศรัทธา" ที่ยังไม่ประกอบด้วย "อาริยปัญญา" หรือ "โลกุตรปัญญา" แม้ "กัลยาณปุถุชน" ที่มุ่งมั่นในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด ที่เจริญด้วย "คุณงามความดี" ก็เถอะ ก็ยัง "ไม่พ้นวิจิกิจฉา" อยู่ดี เพราะยังอยู่ใน "โลกียภพ"
และ "กัลยาณปุถุชน" ยังไม่สามารถปฏิบัติศีลประพฤติ พรตนั้นๆ จนถึงขั้นบรรลุมรรคผล ได้จริง เพราะปฏิบัติอยู่เพียงตามประสา "สีลัพพตุปาทาน" หรือแม้จะสามารถ "พ้นมิจฉาทิฏฐิ" แล้ว พ้น "สีลัพพตุปาทาน" ได้แล้ว แต่ก็ปฏิบัติอยู่เพียงลูบๆ คลำๆ ปฏิบัติแค่จับๆ จดๆ ยังไม่สามารถ ปฏิบัติศีล ประพฤติพรต จนบรรลุ "มรรคผล" ก็ไม่สามารถข้ามเขตจาก "โลกียภพ" เข้าสู่ "โลกุตรภพ" เป็น "อาริยชน" สำเร็จ (ไม่พ้นสีลัพพตปรามาส)
ดังนั้น จึงไม่สามารถจะสร้างคุณงามความดี หรือเสียสละได้ แบบ บริสุทธิ์จากความเป็นตัวตน บริสุทธิ์จากความเป็นของตัวของตน ถูกต้องชัดเจน เพราะไม่รู้จัก รู้แจ้งรู้จริง "ตัวตน" (อัตตา,อาตมัน) ด้วย "ญาณ ๑๖" หรือด้วย "วิชชา ๙" อย่างเป็นทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์ จึงไม่สามารถ ลดละจางคลาย "ตัวต้นเหตุแท้" ลงแบบถูกตัวถูกตนของมัน ชนิดแม่นตรงคมชัดลึกถึงที่สุด เพราะยังเป็นทาส "ตัวตน" (อัตตา,อาตมัน) ซึ่งแฝงลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิต จะมากหรือน้อย ก็ตามแต่ผู้นั้นๆ จะมีจริงตามภูมิจริง ของแต่ละท่าน เท่าที่ท่านจะยังมีความเป็น "เทวนิยม" อยู่จริง
ท่านจึงไม่สามารถ "รู้ตัวรู้ตน" ของตน (รู้"อัตตา"นั่นเอง) ได้ กระจะกระจ่างเหมือนทฤษฎีของพุทธ ซึ่งสามารถรู้แจ้งเห็นจริง ในความละเอียดลึกซึ้ง สลับซับซ้อนของ "ตัวตน" ต่างๆ ได้ชัดเจน
สำหรับ "อาริยชน" ก็มุ่งมั่นสร้างคุณงามความดีตามภูมิของตน และตั้งใจเสียสละให้ได้มากขึ้นๆเท่าที่สามารถ โดยนับเอา "คุณค่าจริงถึงขั้นปรมัตถ์ที่ตนได้เสียสละ ตนได้สร้างสรรค์ประโยชน์" ว่าเป็น "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) นั้น ๑ [ประโยชน์ตน ก็คือ ตนลดละกิเลสได้ หรือได้สละกิเลสออกไป นี้เป็นปรมัตถ์]
ซึ่งเมื่อตนได้เสียสละแรงงานหรือวัตถุออกไปให้ ย่อมเป็น "ประโยชน์เพื่อผู้อื่นในตัว" (ปรัตถะ) ด้วยนี้ ๒ [ประโยชน์ผู้อื่น แบบโลกีย์ ก็คือ เขาได้รับแรงงานได้วัตถุนั้นไป หรือใจยินดี แบบโลกุตระ ก็คือ แม้เขาจะเป็นผู้รับ เขาก็ยังสามารถลดกิเลสได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากสูงสุด]
ดังนั้น การเสียสละยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ จากกิเลสมากเท่าใดๆ ก็ยิ่งเป็นทั้ง "ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น" (อุภยัตถะ) จริงแท้บริสุทธิ์สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นเท่านั้นๆ นี้อีก ๓ [ประโยชน์ตน ก็คือ ตนลดกิเลสได้ ส่วนประโยชน์ผู้อื่น แบบโลกีย์ ก็คือ เขาได้รับแรงงานรับวัตถุนั้นไป หรือใจยินดี แบบโลกุตระ ก็คือ เขาได้ลดกิเลสด้วย] จึงเป็น "ประโยชน์ที่สะอาดแท้กว่ากัลยาณปุถุชน"
เพราะ "อาริยชน" สามารถรู้แจ้งทั้ง "รูปธรรม-นามธรรม" รู้แจ้งทั้ง "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" โดยเฉพาะ รู้แจ้งใน "ตัวกิเลสที่ อยู่ในตน" (อัตตา,อาตมัน) อย่างจริงแท้และครบครัน ทั้งหยาบกลางละเอียด และรู้แจ้ง ทั้งความละเอียดของ "ประโยชน์" (อัตถะ) ทั้งแบบ "โลกียะ" และแบบ "โลกุตระ" ดังนั้น จึงรู้แจ้งความเป็น "โลกียสัจจะ" ว่า แตกต่างจาก "โลกุตรสัจจะ" อย่างมีนัยสำคัญที่เป็นสภาวะหรือเป็น "ของจริง" ไม่ใช่แค่ตรรกะ
ขยายความเพิ่มอีกที ก็คือ "อาริยชน" รู้สภาวะของสัจจะที่เป็นปรมัตถ์ คือ รู้กิเลสในจิต-รู้จิตในจิต ชัดเจนแม่นมั่น คมลึกครบครันกว่า ดังนั้น "คุณค่า" ที่เป็นความสะอาดจริง บริสุทธิ์จริง จึงสูงกว่า และสามารถปฏิบัติตนจนมี "ความจริง" ว่า ไม่มีกิเลส (ไม่มีตัวทำลาย) ไม่มีตัวตน (ไม่มีอัตตา) ไม่หอบหวง ไม่ยึดเป็นของตัวของตน (ไม่มีของตัวของตน) จึงเสียสละได้สมบูรณ์บริบูรณ์ยิ่งกว่า
๑. เพราะผู้ยังมี "กิเลสโลภ" ก็ดี ยังยึดเอาเป็น "ของตัว ของตน" ก็ดี และยังเหลือ "ตัวตน" ก็ดี อันเป็น "ความจริง" ที่จะต้อง "สละออกให้เกลี้ยง" ถึงขั้น "จิตในจิต" ทีเดียว ดังนั้น แม้จะจ่ายแรงงานจ่ายวัตถุออกไป "ให้" ผู้อื่น แต่ในใจยัง "ต้องการ" เอาเปรียบ "ต้องการ" ได้เปรียบอยู่ ยังค้ากำไรกับแรงงานกับวัตถุนั้นๆอยู่ ยังคิด "เอาคืน" หรือคิด "แลกค่า" คืนมาให้ตนชนิดที่ "ต้องได้เปรียบ" อยู่ [ตามที่ลัทธิ 'ทุนนิยม' ทำกันอยู่เป็นปกติ] จึงเป็น สภาพที่ "ไม่ได้สละออกไป" ให้แก่ใคร แถมยัง "ต้องได้กลับคืนมา มากกว่าที่ตนได้ให้ออกไปเสียอีก" [หมายเอาสภาวะทางจิต]
๒. หรือแบบที่ยังไม่จางคลายความยึดเป็นของตัวของตนยังหอบหวงเป็น "ของตัวของตน" (อัตตนียา) จิตยังยึดเอามาเป็นของตัวของตนอยู่ แม้ "ให้" ก็ให้ชนิดที่ใจ "เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ"
๓. ที่สุด ยังไม่ปล่อยวาง "ตัวตน" (อัตตา) แม้.. "จิต" จะชำระกิเลสและอุปกิเลสได้แล้ว จนหมดสิ้นเกลี้ยง เป็น "จิต" บริสุทธิ์สะอาดสัมบูรณ์แล้ว จากอาสวะทีเดียว แต่ "จิตวิญญาณ" นั้น ก็ยังคงมีอยู่ ยังคง "ความเป็นตัวมีตน" อยู่ แต่เจ้าตัวยังปล่อยวาง "ตัวตน" ไม่เป็น หรือยังปล่อยวางไม่ได้สำเร็จจริง เป็นที่สุด เด็ดขาดเท่านั้น
สำหรับ "อมตชน" คือผู้ปล่อยวางได้แล้วสัมบูรณ์เท่านั้น จึงจะชื่ออมตชน ซึ่งเป็นผู้มีฐานะ "อรหันต์" ขึ้นไป
พระพุทธเจ้าให้เรียนรู้ .. "ปล่อยวาง" แม้แต่ "นิพพาน" ก็มิใช่ ของเรา ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ชัดในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๔,๕, ๖,๗,๘,๙ มีกล่าวอธิบายไว้ชัดในทุกข้อที่อ้างถึงนั้น และหากดู "จูฬสุญญตสูตร" เพิ่มเติมอีกในเล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ ๓๓๓ เป็นต้นไป ก็จะยิ่งเข้าใจได้ชัดยิ่งๆ ขึ้น
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ "มูลปริยายสูตร" ตั้งแต่ ข้อ ๑ ไปจนถึง ข้อ ๙ นั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า ปุถุชนในโลกนี้ ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอาริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอาริยะ ไม่ได้รับแนะนำ ในธรรมของพระอาริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้อะไรต่ออะไรไปตามภูมิ แล้วก็สำคัญหมาย ในสิ่งเหล่านั้นทั้งหลายว่า เป็นนั่นเป็นนี่ ที่สุดก็สำคัญ (มัญญติ) เอาว่า "เป็นของเรา" หลงยินดีในสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปทั้งหมด ถือว่า เป็นเรา เป็นของเรา ไปทั้งนั้น ต่อให้เข้าถึง "นิพพาน" ได้ ก็สำคัญหมายเอาว่า นิพพาน "เป็นของเรา" อยู่นั่นเอง [ปุถุชน ยังไม่สามารถรู้ "นิพพาน" ตามสัจจะได้แน่] นั่นคือ ภูมิของปุถุชน ก็สามารถรู้แจ้งไปตามฐานะ "ปุถุชน" และหลงติดหลงยึด ไปตามฐานะ ที่เขายังไม่ได้ "ละล้างจางคลาย" ก็ย่อมจะ "ปล่อยวาง" ไม่เป็น
แม้พระเสขบุคคล ได้แก่ "อาริยบุคคล" ทั้ง ๓ ฐานะ พระองค์ก็ทรงสอนให้ อย่าหลงสำคัญ หมายสิ่งทั้งหลายเหล่าใดว่า เป็น "ของเรา" แม้แต่ "นิพพาน" ก็อย่าหลงว่าเป็น "ของเรา" ต้อง ศึกษาฝึกฝนละล้าง และปล่อยวางให้ได้ด้วย "ความหยั่งรู้" หรือที่ คำบาลีว่า "ปริญญา" นั่นเอง [ปริญญา ๓ ได้แก่ ญาตปริญญา, ตีรณปริญญา, ปหานปริญญา]
มีก็แต่..ภูมิอรหันต์ขึ้นไป และที่สุดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ปฏิบัติด้วย "ปริญญา ๓" ละล้าง กำจัดราคะโทสะโมหะ ได้หมดสิ้นเกลี้ยง ครบครันจนบรรลุ "วิชชา ๙" พ้น "อวิชชา" ทั้งปวงได้แล้ว จึงไม่สำคัญ (นมัญญติ) เอา "นิพพาน" ว่า เป็น "ของเรา" เพราะตัณหาต่างๆ สิ้นไป (ขย) ละล้างคลายไป (วิราค) ดับไป (นิโรธ) สละไป (จาค) และสลัดคืนหรือมีสัจจะย้อนสภาพได้จริง (ปฏินิสสัคค) สัมบูรณ์
ธรรมะบทนี้เป็นเรื่องลึกล้ำ และลำบากยิ่งสุดๆ ที่จะเข้าใจ ซาบซึ้งกันได้ง่ายๆ ขนาดพระพุทธเจ้าตรัสแสดง "มูลปริยาย" บทนี้จบลง ภิกษุทั้งหลายที่รับฟังอยู่นั้น มิได้ชื่นชมยินดีภาษิต ของพระผู้มีพระภาค เป็นไปได้ถึงปานฉะนี้ ก็คิดดูว่าลึกแค่ใด
ดังนั้น กว่าจะ "ปล่อยวาง" อย่างเป็นจริง ไม่เหลือ "ตัวเรา ของเรา" สูงสุดได้นั้น จึงมิใช่เรื่องฉวยเอาแค่ "รู้ภาษา" แล้วก็หลงเข้าใจว่า "ปล่อยวาง" กันด้วย "ภาษา" ที่รู้นั้นแหละ เป็น "คาถา" มาใช้ฝึก "ปล่อยวาง" แล้วก็จะเป็นผู้บรรลุธรรม สู่ภูมิ "หมดสิ้นตัวเราของเรา" ได้ง่ายๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘