ความรัก ๑๐ มิติ 09-06

อมตชน


ข้อที่ ๓ ขั้น "อมตชน" (อเสขบุคคล) ได้แก่ ความต้องการลดละ ต้องการเสียสละ ต้องการเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยการพยายาม หาทางให้เป็นไปได้ และสามารถเป็นไปได้จริง ชนิดเป็นขั้นเป็นตอนตามทฤษฎีของพุทธ ตามหลักเกณฑ์ของพุทธ อย่างมี "สัมมาทิฏฐิ" แท้จริง และสามารถเรียนรู้พร้อมทั้ง ปฏิบัติได้จน "จบกิจ"
ผู้ "จบกิจ" ถือเอาการหมดกิเลสที่ยึดติดเป็น "ตัวตน" (อัตตา) และหลงติดเป็น "ของตัวของตน" (อัตตนียา) ชนิดไม่เหลือ เศษธุลีละออง ของกิเลส เพื่อตัวเพื่อตน แม้นิดแม้น้อย จึงจะเป็นผู้ "ไม่เห็นแก่ตัว" แท้ๆ จริงๆ มีแต่ "เห็นแก่ผู้อื่น" เป็นผู้สร้างสรรด้วยภูมิพุทธ (พระผู้สร้าง).. แล้วเสียสละอย่างบริสุทธิ์ (พระผู้ประทาน).. เพราะจิตวิญญาณของท่าน ปราศจากกิเลสแน่ๆ แล้ว (พระจิตวิญญาณบริสุทธิ์) จริง
ซึ่งความหมายของ "จบกิจ" ก็คือ สำเร็จแล้วไม่ต้องศึกษาอีก ไม่ต้องไปปฏิบัติซ้ำซากอีก จบแล้วจบเลยเป็นนิรันดร์ไปเลย เช่น "ดับกิเลส" ได้สนิทสมบูรณ์แล้วจริง จะไม่มีวนเวียนไปมีกิเลสอีก เพราะ "อมตชน" ทั้งหลายมี "ความเป็นได้จริง" (ตถตา) นั้น สำเร็จแล้วจริงๆ [ผู้สนใจดูพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๖๐-๖๓ ประกอบด้วยจะเข้าใจมากขึ้น]
"อมตชน" หรือ "อเสขบุคคล" คือ ผู้มุ่งมั่นจะมี "ความเป็น เช่นใด ก็สามารถมีความเป็นเช่นนั้น ได้แล้วโดยจริง" (ตถตา)
"อมตชน" หรือ "อเสขบุคคล" คือ ผู้ปฏิบัติแล้วจนเกิดผล สำเร็จของตนๆ กระทั่ง "พ้นอวิชชา" แล้วใน "ปฏิจจสมุปบาท" ทั้งสายอนุโลมและปฏิโลม หรือ ทั้งสายเกิด และสายดับ ด้วยความเป็นได้จริง (ตถตา) และมีปัญญาอันยิ่ง เห็นแจ้ง ในความเป็นได้จริงนั้นด้วยตนเอง ในตนเอง ของตนเองสมบูรณ์ จึงชื่อว่า "ผู้จบกิจ"
เพราะผู้ "จบกิจ" ได้สภาพเช่นนั้นเป็นอย่างนั้นเองแท้จริงแล้ว (ตถตา) ชนิดถาวรเด็ดขาด
เพราะรู้แจ้งเแทงทะลุความเป็นจริง (ตถตา) นั้นว่า เป็นความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น-ความไม่คลาดเคลื่อน จากความเป็นอย่างนั้น (อวิตถตา) แน่แท้สมบูรณ์แล้ว
เพราะรู้แจ้งความเป็นจริงนั้นในตนว่า เป็นความไม่เป็นอย่างอื่น-ความไม่เป็นไปด้วยประการอื่น (อนัญญถตา) แน่ๆ เด็ดๆ ในตัวเอง ที่เป็นเองอยู่
เพราะทั้งเป็นได้จริงเอง ทั้งรู้แจ้งแทงทะลุความจริงแท้ ยิ่งยอดนั้นถึงมูลเหตุอันแน่นอนในธาตุนั้นๆความที่เมื่อมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัย ในการเกิด สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ความที่มีสิ่งนี้ เป็นปัจจัยในการดับสนิท สิ่งนี้จึงดับสนิท (อิทัปปัจจยตา)
ดังนั้น เมื่อผู้ "จบกิจ" เป็นหรือมีสิ่งที่ตนมีตนเป็นได้แล้วจริง จึงสามารถเป็น "ต้นเชื้อ" หรือเป็น "ผู้มีสิ่งนั้นในตนจริง" (มีความเป็นอาริยะ) ก็สามารถ "แพร่เชื้อแท้" นี้ต่อและต่อไป ให้เกิดให้เป็น "เผ่าพันธุ์อาริยะแท้" แก่คนอื่นๆ ที่สามารถรับได้เป็นได้ต่อๆ ไป อย่างไม่ปลอม
นั่นคือ สามารถเป็น "ต้นเชื้อ" และแพร่เชื้อแท้ของความ เป็น "อาริยชน" และ "อมตชน" ให้เกิด ให้เป็น ต่อๆ ไป ได้จริงนั่นเอง
"อมตชน" หรือ "อเสขบุคคล" หรือผู้ "จบกิจ" นี้ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๓๖๗ แจกแจงไว้ ว่า ต้องมีคุณสมบัติ ๘ ประการ ได้แก่...
๑. อรหันต์ คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลส (อรหัง)
๒. ขีณาสพ คือ เป็นผู้หมดกิเลสถึงขั้นสิ้นอาสวะ (ขีณาสวะ)
๓. ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว คือ เป็นผู้ได้รับสภาพนั้นสมบูรณ์ และมีสภาพนั้น อยู่กับตนแล้วด้วย (วุสิตวันตะ)
๔. ผู้มีกิจที่ควรทำอันทำจบแล้ว สำหรับตนเอง (กตกรณียะ)
๕. ผู้มีภาระอันวางลงแล้ว สำหรับตนเอง (โอหิตภาระ)
๖. ผู้มีประโยชน์ของตน อันบรรลุโดยลำดับแล้ว (อนุปฺปัตตสทัตถะ)
๗. ผู้สิ้นเครื่องผูกพันให้ติดอยู่ในภพแล้ว (ปริกฺขีณภวสัญโญชนะ)
๘. ผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ (สัมมทัญญา วิมุตตะ)
ความเป็น "อมตชน" จึงคือ ผู้ที่รู้แจ้ง "ความเป็นตัวตน" (อัตตา) และจัดการกับ "ความเป็นตัวตน" อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ชนิดแทงทะลุ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ในการทำ "ความดับสนิท" และทำ "การเกิดวิเศษ" ได้สำเร็จจบด้วยวิชชา
ที่สำคัญคือ สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นถาวร หรือความเป็นนิรันดร์ ชนิดพิสูจน์ได้ ดุจเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ สามารถรู้แจ้งเห็นจริง ในความเป็น "กิเลส" อย่างจับมั่นคั้นตาย "ตัวตน" (อัตตา) ของมัน และสามารถฆ่ามันให้ตายได้ เป็นขั้นเป็นลำดับ ทั้งอย่างหยาบ (วีติกกมกิเลส) ทั้งอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) ทั้งอย่างละเอียดสุด (อนุสัยกิเลส) ชนิดไม่เหลือ แม้แต่เศษธุลี ถึงขั้นสิ้นเกลี้ยงสนิท "ไม่มีตัวตน" ที่เรียกว่า "อนัตตา" โดย มี "ญาณ" ของตนเองรู้เห็น "ความจริง" ทั้งหลายนั้นๆ เป็นอันติมะ
ที่สุดแม้แต่ "อาลัยวิญญาณ" ซึ่งเป็น "ที่พึ่งของโลก" (โลกนาถ) ว่า คืออย่างไร? เกิดอยู่อย่างไร? และจะดับสิ้นสูญ สนิทหมดวัฏฏสงสารอย่างไร?
สุดท้ายแห่งท้ายสุด สามารถรู้แจ้ง "อัตตา" ด้วยญาณทัสสนวิสุทธิ ชนิดไม่มีอะไรลึกลับอีกแล้ว สำหรับความเป็น "สมมุติสัจจะ" และความเป็น "ปรมัตถสัจจะ" ในอัตตาอย่างแจ่ม แจ้ง โดยสามารถอาศัยอัตตาสร้างสรร "ประโยชน์เกื้อกูลแก่ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย ด้วยพละ ๕" ตามภูมิของแต่ละท่าน (พหุชนหิตายะ) สร้างสรรค์ "ความเป็นอยู่สุข แก่มนุษยชาติทั้งหลาย ด้วยพละ ๕ " ตามภูมิของแต่ละท่าน (พหุชนสุขายะ) และ "อนุเคราะห์โลกอยู่ ตราบเท่าที่ตนจะมีวิภพแห่งพุทธชาติ ตามปณิธานของแต่ละท่าน ด้วยความสงสารจริงจัง" (โลกานุกัมปายะ)
ดังนี้เอง คือ ผู้ "จบ"ประโยชน์ตน เพราะรู้แจ้ง "สัจจะแห่งความรัก" อย่างสมบูรณ์ ผู้มี "ความรัก" ปานฉะนี้ หรือ คนชนิด "มิติที่ ๙" นี้ จึงเรียกว่า "นิพพานนิยม" หรือ "อรหันตนิยม"
ได้ทำความเข้าใจกับ "ความรัก" มาถึง ๙ มิติแล้ว โดยเฉพาะมิติที่ ๘-๙ ซึ่งค่อนข้างยืดยาว เพราะเป็นมิติที่จะต้องเจาะ ถึงเนื้อหาสำคัญ ให้ได้รับรู้ไว้พอสมควร หากศึกษา ไม่สัมมาทิฏฐิแท้ และไม่ปฏิบัติ จนบรรลุรู้แจ้งแทงทะลุ "กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม" อย่างละเอียดสมบูรณ์ ก็ใช่ว่าจะเข้าใจ "ความรัก" ตามทิฏฐิของพุทธ ถูกถ้วนสัจธรรม บริบูรณ์ได้ง่ายๆ
เมื่อได้รู้ได้เข้าใจ "ความรักมิติที่ ๘ และ ๙" มาแล้ว สำหรับ มิติที่ ๑๐ ก็คงจะเข้าใจตามได้ไม่ยากนัก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘