ความรัก ๑๐ มิติ 01

ความรัก คือ อาการทางจิตชนิดหนึ่ง อาการนั้นได้แก่ "อาการชอบใจผสมความยินดี" ถ้าหากชอบ ถึงขั้นผูกพัน ก็เป็นความติดยึด นั่นคือ เริ่มเห็นแก่ตัว และถ้าหากติดยึด ถึงขั้นดูดดึงเข้ามา เป็นของตัว ของตน เท่าใดๆ ก็เป็นความเห็น แก่ตัวมากขึ้นเท่านั้นๆ ที่สุดหากถึงขนาด ดึงดูดมาเพื่อตัวเอง แต่ผู้เดียว และหวงแหน ไม่เผื่อแผ่ให้ใคร ความรักที่มีลักษณะปานฉะนี้ ก็คือ "ความเห็นแก่ตัว" สุดๆ เต็มๆ แล้วนั่นเอง
         
แต่ถ้าหาก "อาการชอบใจผสมความยินดี" นั้น ลดความเห็นแก่ตัว ลดความหลงใหลคลั่งไคล้ ลดความหวงแหน ลดความดูดดึง ความติดยึด ความผูกพันลงไปๆ ตามลำดับ คุณค่าของความรัก ก็จะสูงขึ้นๆๆ และถ้าหากผู้ใด สามารถลดอาการ ดังกล่าวนี้ด้วย และทั้งตน ก็สามารถเสริมสร้าง ความเสียสละ เกื้อกูลช่วยเหลือ เผื่อแผ่ออกไป แก่ผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ได้กว้าง ได้ลึกซึ้ง สูงส่งครบคุณภาพ และปริมาณ มากขึ้นๆ อีกด้วย ก็ยิ่งเป็นความรัก ที่ประเสริฐ มีคุณค่าสูง มีประโยชน์มากยิ่งๆขึ้น
คนที่มีอาการชอบใจผสมความยินดีแต่เฉพาะตัวเอง มีแต่ความปรารถนามาให้แก่ตน ไม่มีแก่คนอื่นเลย คนชนิดนี้คือ คนผู้มีแต่ "ความเห็นแก่ตัว" ถ่ายเดียว จึงเท่ากับ คนที่ไม่มี "ความรัก" เลย เพราะ "เห็นแต่แก่ตัวเอง" เป็นคนที่มีแต่ "ตัวเอง" หรือมีแต่ "อัตตา" แท้ๆ เท่านั้น เต็มๆ โดดๆ เดี่ยวๆ หนึ่งเดียว ไม่มีอื่นเลย จึงไม่ใช่ "ความรัก"
หนึ่งเดียวเป็น "ความรัก" ไม่ได้ "ความรัก" ต้องมีสองขึ้นไป ยิ่งเผื่อแผ่กว้าง มากกว่าสอง ทวีมากขึ้นเท่าใดๆ ก็ยิ่งเป็น "ความรัก" ที่ประเสริฐยิ่งๆ ขึ้น เท่านั้นๆ
"อวิชชา" หรือ "กิเลส" มักจะทำให้คน "เห็นผิด" ไปว่า ความรัก คือ ความผูกพันไม่ห่างเหิน ความหวงแหน เพื่อตัว เพื่อตน ความติดยึด ไม่ปล่อยไม่วาง ความดูดดึง ให้เหนียวให้แน่น ความเห็นแก่ตัว ให้แคบ ให้จัดจ้าน ความหลงใหลคลั่งไคล้ ปรารถนาเป็นของตัวของตน หากใครมีอาการผูกพัน .. หวงแหน ..ติดยึด .. ดูดดึง .. เห็นแก่ตัว และหลงใหล คลั่งไคล้ ปรารถนาเป็นของตัวของตน ได้มาก ได้หนัก ได้แน่น ได้แรง ยิ่งๆ เพียงใดๆ ก็คือผู้ "มากไปด้วยความรัก" หรือผู้มี "ความรัก" ที่น่าเชิดชูยกย่อง เลิศลอยเพียงนั้นๆ
แท้จริงแล้ว อาการดังกล่าวนั้น มิใช่ "ความรัก" เลย "เห็นผิด" (มิจฉาทิฏฐิ) กันไปชนิดตรงกันข้ามทีเดียว มันเป็น "ความโลภ" ต่างหาก ซึ่งโลภจัดชัดแจ้ง ยิ่งแรงยิ่งเป็น "ตัวกูของกู" (อัตตา,อัตตนียา)
ตามสารสัจจะที่ถูกต้องนั้น ความรักไม่ใช่ความชั่ว ที่มีลักษณะ "เห็นแก่ตัว" ความรักเป็นความดี ที่มีลักษณะ "เมตตา หรือ ปรารถนาให้ผู้อื่นได้สุข" ความรักมิใช่ลักษณะของ "ความเป็นอัตตา หรือ อัตตนียา" ที่มีลักษณะแคบ เพื่อตัวกูของกู โดยเนื้อแท้แก่นจริงแล้ว "ความรัก" มีลักษณะ ตรงกันข้ามกับ "อัตตา หรือ อัตตนียา" ด้วยซ้ำ ความรักที่สูงส่ง ที่ประเสริฐยิ่ง มีคุณลักษณะ ถอดตัวถอดตน สู่ "ความเป็นอนัตตา" ยิ่งมีอาการเอื้อมเอื้อ เผื่อแผ่ออกไป จากตัวจากตน จนหมดตัว หมดตน นั่นแหละ จึงจะเป็นความรัก ที่วิเศษสุด ความรักตามสัจจะนั้น ทวนกระแสกับอัตตา ความรักไม่ใช่ลักษณะ "เอกพจน์ หรือ เอกเทศ" แต่มีลักษณะ "พหุพจน์ หรือ พหุภาค" "ความรัก" ไม่ใช่ "ความโลภ" ที่จะกอบโกย เข้ามาหาตน เข้ามาบำเรอตน หรือ มีแต่แคบเข้ามา เป็นตนเป็นตัวเอง แต่เป็น "ความเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล" ออกไปหาผู้อื่นมากขึ้น ยิ่งขยายกว้างขึ้นๆ ก็ยิ่งเป็นความรัก ที่ประเสริฐ สูงส่งยิ่งๆ ขึ้น
ขอยืนยันว่า โดยสัจจะนั้น "ความรัก" ไม่ใช่ "ความเห็นแก่ตัว" "ความเห็นแก่ตัว" จึงไม่ใช่ "ความรัก"
เพราะ "ความเห็นแก่ตัว" ก็ประกาศลักษณะของ มันเอง อยู่ชัดๆโต้งๆ ว่า เป็น "กิเลสโลภมาให้แก่ตน"
คนที่กล่าวว่า "ความรักคือความเห็นแก่ตัว" นั้น กล่าวผิด อวิชชา หรือกิเลสต่างหาก พาให้เขากล่าวเช่นนั้น "ความรัก" ที่แท้ที่บริสุทธิ์จริง ไม่ใช่ "ความเห็นแก่ตัว" เลย ทว่าเป็น "ความเมตตา หรือปรารถนา ให้ผู้อื่น ได้สุข" เป็น "ความภาคภูมิที่พากเพียร ขยันเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เสียสละต่อผู้อื่น" เป็น "อาการเอื้อมเอื้อ เผื่อแผ่ออกไป จากตัวจากตน" จนกระทั่ง "หมดตัว หมดตน" นั่นต่างหาก จึงจะเป็นความรัก ที่วิเศษสูงสุด
สรุป ความรัก คือ อาการชอบใจผสมความยินดี ที่พร้อมกับมีความปรารถนาดี อย่างสัมมาทิฏฐิ หากใคร ปฏิบัติพัฒนา "อาการชอบใจ ผสมความยินดี ที่ไม่เห็นแก่ตัวเลย มีแต่เต็มไปด้วยความเมตตา หรือ ปรารถนา ให้ผู้อื่นได้สุข" หรือ "มีแต่ความเผื่อแผ่ของตน เสียสละแก่ผู้อื่น" ให้เจริญสูงสุด จนเกิดจริง เป็นจริง ได้เท่าใดๆ ผู้นั้นก็คือ ผู้ได้สร้าง "ความรัก" ที่ใหญ่ยิ่ง ประเสริฐสุดๆ เท่านั้นๆ
คนผู้มี "ความรัก" ประเสริฐที่สุด สูงที่สุด จึงได้แก่ ผู้ที่ หมดตัวตน ชนิดไม่มีกิเลสถึงขั้น สิ้นอาสวะ เห็นแก่ผู้อื่น ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เสียสละเกื้อกูล ช่วยเหลือเผื่อแผ่ ออกไปให้ผู้อื่น อยู่อย่างภูมิใจ สุขใจ และยืนยาว หาประมาณมิได้ และเต็มไปด้วย ความปรารถนาดี ที่ตัวเรา จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ให้มากๆให้ยิ่งๆ ให้กว้างที่สุด เท่าที่จะให้ได้
ดังนั้น คำว่า "ความรัก" มิติที่ นี้ หากจะหมายเอาว่า เป็น "ความเห็นแก่ตัว" ก็ใกล้เคียงความจริงที่สุดแต่ถ้าหาก จะหมายเอาว่า เป็น "ความเผื่อแผ่-เสียสละ" ก็แคบและเล็กสุดๆ
ความรัก" ยังมีอีกหลายมิติ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปถึง ๑๐ มิติ ดังนี้

ความรัก มิติที่ ๑ กามนิยม


มิติที่ คือ ความรักที่เป็นเรื่องของความใคร่ เรื่องของ กาม เรื่องของการสมสู่ของผู้หญิงผู้ชาย เรื่องของคน คน หาก จะเห็นแก่กันและกันก็แค่อยู่ในวงวนของ"คนคู่"หรือคน คน ซึ่งเป็นความรักที่เผื่อแผ่แก่กัน อยู่แค่คน คน ความรักมิตินี้ ถ้ายิ่งรักมาก ติดใจในรสกามของคู่ตน สุขสมในรสใคร่ มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งแคบมากเข้าๆ เท่านั้นๆ มันเป็นวงแคบ ที่เห็นแก่ แค่คู่รัก คู่ใคร่ ของตนเท่านั้น ถ้าแม้นติดมากยึดมาก ดูดดึงมาก ก็ยิ่งหวงแหนมาก ผูกมัด รัดรึง ตรึงใจ เป็นอุปาทานแน่นขึ้นๆ และหากยิ่งมีแต่ความใคร่มากขึ้นๆ ก็ยิ่งจะมืดซ้ำ ดำกฤษณา เป็น ความหลงใหล คลั่งไคล้ และหึงจัด รัดรอบรุนแรง ไม่มีคนอื่น แทรกเข้าได้เลย มีอะไรก็ทุ่มโถมให้แต่แก่เธอ แก่ความรักที่หลงติด ผูกแน่นนี้เท่านั้น หนักเข้าๆ จะเห็นแต่แก่ตัว โดยอาศัยคู่ที่ตน รักสุดนั่นแหละ เป็นเครื่องมือ หรือ เป็นองค์ประกอบ ในการเสพสม สุขสม ให้แก่ตน ยิ่งหลงในรสสุขนั้น มากเท่าใด ก็ยิ่งยึด เป็นของตัวของตนสนิทเนียนเข้าเป็นตน กระทั่งถึงขั้น ใครมอง ใครแตะต้องไม่ได้ จะหึงแรงจนถึงขั้น ทำร้ายคนที่มากล้ำกรายได้ ถึงขั้นเอาตายกันทีเดียว
            อารมณ์ชนิดนี้ คือ ความเห็นแก่ตัวแท้ๆ คือ ความโลภเพื่อตัวเพื่อตนเต็มๆ คือ กามราคะสมบูรณ์แบบ หากจะ เรียกว่า "ความรัก" ก็เป็นความรักที่ต้องการ มาบำเรอตนนั่นเอง
การบำเรอตนเอง ไม่ใช่ "ความรัก" การได้มาสมใคร่ สมอยากแก่ตน เป็น "ความเห็นแก่ตัว"
ใครถ้าแม้นถึงขั้นปฏิบัติต่อคู่ของตนเยี่ยงทาสหรือเยี่ยง วัตถุบำบัดความใคร่ ไม่มีใจเผื่อแผ่เกื้อกูล ปรารถนาดีต่อคู่ ของตน แม้ด้านกายภาพ จะจ่ายวัตถุเข้าของเงินทอง ทรัพย์ศฤงคาร ให้ด้วยอากัปกิริยา ที่ดูเหมือนมีน้ำใจ เอื้อเอ็นดู เสียสละ ปานใดๆ ก็ตาม ก็เป็นเพียงค่าจ้าง ทุกอย่างเพื่อ "ตัวเอง" แท้ๆ คนผู้นี้ยังไม่ชื่อว่า "มีความรัก" เป็นแค่ผู้ "ให้" หรือผู้ "จ่าย" ค่าจ้าง เพื่อ บำเรอความใคร่ของตน
จนกว่าคนผู้นี้ จะมี "การเผื่อแผ่การเสียสละ" ให้แก่ "คู่" ของตน อย่างบริสุทธิ์ใจไม่ว่าจะ "ให้" วัตถุธรรม ให้รูปธรรม หรือ ให้นามธรรม ถ้าให้มาก ใจสะอาดมากก็ "รัก" มาก ให้น้อย ใจสะอาดน้อยก็ "รัก" น้อย เพราะการ "ให้" หรือ "สละ" ที่ออกไปจาก "ความรัก" เกิดจาก "ความรัก" นั้น จะมิใช่เพื่อแลกอะไร อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เป็นอันขาด
"ความรัก" ไม่ใช่ "ความโลภ" หรือ "ความแลก" มาให้ตน
หากยังมีความโลภใดๆที่เหลือเป็นเศษเป็นส่วน อันต้องการแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตน "ให้" หรือตน "สละ" อยู่เท่าใดๆ ก็ลด "ค่า ของความรัก" ลงตามจริงเท่านั้นๆ ยิ่งเป็นการ "ให้" หรือ "สละ" เพื่อแลกเอามา "เป็นของตนคนเดียว" หรือ "เป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ ต่อตน" ที่ตนจะได้ทาสนั้น ไว้บำเรอประโยชน์ แก่ตนแต่เพียงผู้เดียว ก็ยิ่งมิใช่ "การให้-การสละ" เลย แต่เป็น "การซื้อ" แท้ๆ ตรงๆ ป่วยการกล่าวถึงคำว่า "ความรัก"
ยิ่งชอบมาก ติดใจมากในรสกามของคู่ตน สุขสมใน รสใคร่มาก ที่เห็นคู่เสพของตน เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ตนยิ่ง สุขสะใจ (sadist) นั่นยิ่งไม่ใช่ "ความรัก" แต่นั่นคือ การสุขสมอารมณ์ ที่ตนชอบความรุนแรงโหดร้าย ซึ่งฝังอยู่ส่วนลึก ในก้นบึ้งของจิตตนเอง เป็น "สัญชาตญาณหรืออนุสัย" (unconscious) ที่เจ้าตัวไม่สามารถ หยั่งลงไปล่วงรู้ ความจริงของ "จิตวิปริต" เหล่านี้ได้ เพราะมันเป็น "จิตไร้สำนึก" (unconscious) ที่เกิดจากตนเคย ยินดีในความรุนแรง และได้สะสม ความรุนแรง ใส่จิตตนมานาน
เช่น ชอบดูการแข่งขันที่เอาชนะคะคานกันอย่างถึงพริก ถึงขิง หรือชอบดูการต่อสู้ที่ฟาดฟันห้ำหั่นกัน ดูการทำร้าย เข่นฆ่า ยิ่งต่อสู้กันรุนแรง โหดเหี้ยมเท่าไหร่ ก็ยิ่งชอบ กระทั่งรุนแรงสูงขึ้น หยาบขึ้นๆ เป็นคนชอบความโหดร้าย จึงกลายเป็น "คนชอบในความรุนแรง ทุกข์ทรมาน เหี้ยมโหด ฝังลึกอยู่ในจิตไร้สำนึก" (sadist)
จิตที่ได้สั่งสม "ความชอบ หรือ รักรสชาติของความอำมหิต" เช่นนี้ เมื่อมาแสดงออกกับใคร ย่อมมิใช่ "ความรัก" แม้จะมี "การให้ การสละวัตถุธรรมรูปธรรมนามธรรม" กับคู่รักของตน มากเท่าใดๆ ก็ยังมิใช่ "ความรัก" แต่เป็นเพียง "สิ่งแลกเปลี่ยน" เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ความอำมหิต" หรือ "ความวิปริต" ที่ฝังลึกอยู่ใน "จิตไร้สำนึก" ของตนโดยแท้
ถ้า "จิตวิปริต" ในความอำมหิตได้สั่งสมใส่จิตร้ายหนัก ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ ก็ก้าวถึงขั้น "ตนสุขสะใจ เมื่อตนได้เจ็บเสียเอง ปวดเสียเอง ทุกข์เอง ทรมานเอง" (masochist) ไม่ว่าตนทำตนเอง หรือใครจะเป็นผู้กระทำให้ ก็สุขสะใจได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่า คนผู้อำมหิตถึงขั้น "ตนเองทำตนเอง" จึงจะสุขสะใจ นั้นแหละคือ ผู้มีจิตรุนแรงร้ายยิ่งกว่า ผู้ที่ "คนอื่นทำให้ตนเจ็บ" แล้วก็สุขสะใจ
          ความรักมิติที่ นี้ เป็นความรักแบบเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าเพศตรงกันข้าม หรือวิตถารเพศเดียวกัน เป็นความรัก ที่เห็นแก่กันและกันอยู่ แค่ฉันกับเธอเท่านั้น หรือเห็นแก่ผู้อื่น ก็แผ่ออกไปแค่คนๆ เดียว วงรักจึงแคบอยู่แค่คน คน คือ ให้แก่กันและกันก็แค่ คน ซึ่งถ้าจัดจ้าน ก็มีอารมณ์หึงหวง แก่งแย่ง รุนแรง ถึงขั้นฆ่ากัน ฆ่าตนเองสังเวยชีวิต เซ่น บูชารัก ก็เป็นได้
ขึ้นชื่อว่า "กาม" มีแต่ความขาดทุน เพราะได้เสพอารมณ์กามสุขนิดหน่อย แต่ทุกข์ยากมากหลาย ทำลายก็หนักหนา เปลืองชีวิต เปลืองใจ เปลืองเวลา เปลืองแรงกาย เปลืองแรงสมอง เปลืองทุนรอน วัตถุทรัพย์สิน เป็นความผลาญพร่า เสียหายที่สุดในโลก ความรักมิติที่ นี้ จึงต่ำต้อย ด้อยค่าที่สุด นับว่าไร้คุณประโยชน์ ยิ่งกว่าความรักชนิดใดๆ
อารมณ์ "กามสุข" ก็เป็นแค่ "รสอร่อยที่หลงติด" (อัสสาทะ) ซึ่งเป็นเพียง "อารมณ์หลอกๆ ไม่จริง" ( อลิกะ) เพราะแท้ๆ มันเป็น "ความยึดมั่นถือมั่น" (อุปาทาน) ที่คนสามารถจะเลิก จะศึกษาปฏิบัติ ละล้าง จนหมดเกลี้ยง ไปจากจิต ของผู้หลงติด หลงยึด ให้สำเร็จ เด็ดขาดสัมบูรณ์ (absolute) ได้จริง อันเป็นเรื่อง "เหนือธรรมชาติ เหนือความวนเวียน" (โลกุตระ) หรือเป็นเรื่อง "ล้างสัญชาตญาณ การสืบพันธุ์แห่งสัตวโลก" (โลกุตระ) กันทีเดียว เรื่องนี้ก็คงยาก ที่จะเชื่อกัน แต่ขอยืนยันว่า "เป็นไปได้" (possible) หรือ "สามารถ ทำได้" (practicable) จริงแน่แท้ ศาสนาพุทธขอท้าทายให้มา พิสูจน์ (เอหิปัสสิโก)
สรุปแล้ว "ความรัก" มิติที่ ๑ นี้ หากใครจะหมายเอาว่าเป็น "ความเห็นแก่ตัว" ก็ช่างเห็นแท้ดูจริงมากยิ่งเหลือเกิน เพราะ กิเลสพาให้เกิด สภาพเช่นนั้นจริง จนทำให้คนมากหลาย เข้าใจผิด ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นได้ แต่ถ้าหากหมายเอาว่าเป็น "ความเผื่อแผ่-เสียสละ" ก็เป็นแค่ "ให้" เพื่อแลกกับที่ตนจะได้เสพ "รสอร่อยที่ใคร่อยาก" (อัสสาทะ) เป็นการเกื้อกูล วนแคบอยู่แค่กับคนๆเดียว หรือเกื้อกูลแก่กันและกันอยู่แค่ "คน ๒ คน""
ความรัก มิติที่ นี้ จึงเรียกว่า "กามนิยม" หรือ "เมถุนนิยม"
หากใครยังกำจัดกิเลสของตนให้ลด "ความเห็นแก่ตัว" ที่เผื่อแผ่แก่กันและกันอยู่แค่คน คนนี้ ไม่ได้ เมื่อได้ก่อกรรม ผูกเวรขึ้น มีคู่จนเป็นภาระแท้จริงเสียแล้ว ก็ควรจะต้องเมตตา หรือปรารถนาดี แก่คู่ของตนบ้าง ควรจะต้อง พากเพียร แบ่งใจ แบ่งพลังงาน แบ่งเวลา แบ่งทุนรอน เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เสียสละให้คู่ของตน ควรจะต้องรับผิดชอบ ตามหน้าที่อันสมควร มิเช่นนั้น ก็จะได้ชื่อว่า ยิ่งต่ำเพราะเลวซ้ำเลวซ้อน
แต่นั่นแหละ อย่างไรมันก็เป็นความแคบ "ความรัก" อื่น ที่ประเสริฐกว่านี้ ยังมีอีกมาก ควรศึกษาเสริมสร้างความรัก ที่เป็นคุณค่าประโยชน์ เกื้อกูลต่อผู้อื่น พลังงานและเวลา แม้แต่ ทุนรอน ทรัพย์วัตถุ โดยเฉพาะจิตใจ ซึ่งคนอื่นๆ อีกมากหลาย ในโลกที่ควรได้ประโยชน์
"ความรัก" ไม่ใช่เรื่องแค่ "คน ๒ คน" เท่านั้นแน่ๆ ที่เราจะเกื้อกูลแบ่งใจแบ่งชีวิต แบ่งพลังงาน แบ่งเวลา แบ่งทุนรอน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ หรือเสียสละให้ เพราะผู้อื่นมีอีกมากมายในโลก ที่เราจะ เอื้อมเอื้อ เกื้อกว้าง ออกไป จากตัวจากตน ที่เป็นวงแคบเพียง ๒ คน หากได้ศึกษาพุทธธรรม ถึงขั้นโลกุตระ ประพฤติตน ให้บรรลุมรรคผล ดีขึ้นสูงขึ้น ลดกามลดกิเลส ที่ทำให้เห็นแก่ตัวอยู่ ออกไปได้อีก มากเท่าใดๆ "ความรัก" ก็จะเป็น "ความเกื้อกูลเสียสละ" ที่เจริญงอกงาม ไปสู่ความประเสริฐ ยิ่งๆ ขึ้น เท่านั้นๆ
หากใครสามารถลดความสูญเสียพลังงาน ทั้งพลังกาย พลังใจ ลดความสูญเสียเวลา ลดความสูญเสีย ทุนรอน เพื่อความรัก มิติที่ นี้ลงได้มากเท่าใดๆ หรือที่สุด ไม่ต้องสูญเสียอะไร เพื่อความรักมิตินี้เลย ก็นั่นแหละคือ ความหลุดพ้นจาก "ความรัก มิติที่ " นี้สำเร็จ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘