One Night Stand Discussion #5 (คุณสมบัติ 8 ประการสู่ความสำเร็จและ Do and Don’t ในการลงทุน)


สวัสดียามค่ำ ออกไปค่อนดึกครับมิตรสหายชาว S2M
เมื่อวาน ผมไม่เสบย (ไม่สบายนั่นแหล่ะครับ) ก็เลยหมดแรงที่จะมาโพสบทความ แง่คิดดีๆให้มิตรสหายชาว S2M ได้อ่านกันครับ แต่ก็คิดว่า คงไม่มีอะไร คงไม่มีใครคิดถึงเราแน่ๆ แหะแหะ ล้อเล่นน่ะครับ

ตอนนี้ก็ยังมีไข้อยู่ ก็ขอนำบทความที่เคยโพสใน blog ของผม มาให้พี่ๆ เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ
มีทั้ง 8 สิ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ และสิ่งที่ควรและไม่ควรทำในการลงทุนครับ อาจจะพิมพ์ออกมาแล้วไปแปะไว้ที่หน้าจอเทรดก็ได้ครับ จะได้ไว้เตือนสติ เพื่อที่เราจะได้มีสตางค์ ไม่ขาดมือครับ แหะแหะ

คุณสมบัติ 8 ประการสู่ความสำเร็จ


ในการที่จะเล่น กีฬาให้ชำนาญจนมีความสามารถเป็นที่ยอมรับกัน และจนถึงขนาดชนะได้รางวัลนั้น นอกจากผู้เล่นจะต้องมีทักษะพื้นฐานที่ดีแล้ว ยังต้องฝึกฝนตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จะเห็นว่าผู้ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ชนะมักจะมีสไตล์ในการเล่นที่แตกต่าง กัน ไม่มีสไตล์ไหนที่ชนะตลอดหรือแพ้ตลอด

ในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องพยายามหาสไตล์การเล่นที่เหมาะกับตัวเราและมีความเชื่อมั่นว่าจะทำ ให้เราชนะในเกมการลงทุน และค่อยๆ พัฒนาจนมีสไตล์ของตนเอง ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ใครจะรู้ สไตล์การลงทุนของตัวคุณเองอาจจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในอนาคตก็ได้ นักลงทุนระดับ “ปรมาจารย์” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีคุณสมบัติที่เหมือนๆ กันอยู่ 8 ประการด้วยกัน คือ

คุณสมบัติ #1 : มีความรอบรู้ (Breadth)

จากการศึกษาพบว่าผู้ประสบความสำเร็จในการ ลงทุนมักมีความกระตือรือร้น สนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นอกจากข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงแล้ว พวกเขายังให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆด้วย เช่น George Soros มีความสนใจเรื่องปรัชญาและได้เข้าไปทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการ เมืองระดับโลกด้วย นักลงทุนที่ดีต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจที่หลากหลาย ไม่ตีกรอบตัวเองอยู่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวาง แม้แต่ประเทศที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็อาจได้รับผลกระทบอย่างมากและรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง เช่น กรณีวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดกับประเทศไทยปี 2540 นั้นได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบการเงินไปทั่วโลก เป็นต้น

คุณสมบัติ #2 : ช่างสังเกต (Observation)

นักลงทุนที่ดีควรจะสวมวิญญาณนักสืบ เป็นคนที่ช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียด รวมทั้งต้องจดจำข้อมูลที่สำคัญๆ ของหุ้นต่างๆ ได้ ยิ่งคุณจำรายละเอียดได้มากเท่าใด คุณจะยิ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะ รวมทั้งประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น กล่าวกันว่า Warren Buffet นั้น เป็นคนช่างสังเกตและสามารถในการจดจำรายละเอียดของข้อมูลต่างๆ ของบริษัทที่เขาไปลงทุนได้มากมายอย่างน่าทึ่ง ราวกับว่าตัวเขาเป็นเหมือน “สารานุกรมเคลื่อนที่” ทีเดียว

คุณสมบัติ #3 : ไม่มีอคติ (Objectivity)

นักจิตวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นเป็น “สัตว์สังคม” เมื่อได้มารวมกลุ่มกันเข้าแล้ว เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมกับผู้อื่น จึงมีความโน้มเอียงที่จะตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ ในลักษณะที่คล้อยตามกระแสที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรม “สัญชาติญาณฝูงสัตว์” (herd instinct) เหมือนกับสัตว์ต่างๆ ที่มักจะคล้อยตามจ่าฝูง นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีความคิดที่เป็นอิสระ และไม่ยอมให้ความคิดของตัวเองถูกครอบงำโดยกระแสของคนส่วนใหญ่ เพราะว่าความผิดพลาดเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นพฤติกรรมที่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้า

คุณสมบัติ #4 : รักษาวินัย (Discipline)

นักลงทุนจะต้องมีความอดทนในการรอคอย เพราะโอกาสดีๆ หรือความคิดดีๆ สำหรับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน เช่น Warren Buffet นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวินัยในการลงทุนสูงมาก เขาเคยบอกว่าเคล็ดไม่ลับของความสำเร็จในการลงทุนของเขาก็คือต้องรู้จักอดทน อดกลั้น รอคอยโอกาส ไม่ตัดสินใจตามกระแส และเมื่อโอกาสนั้นมาถึงต้อง “หวดให้สุดแรง” (ภาษานักเบสบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่คนอเมริกันชอบมาก) เพราะโอกาสดีๆ ที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเรานั้น มีไม่บ่อยครั้งนัก

คุณสมบัติ #5 : มีความลึก (Depth)

โดยปกติ “ความลึก” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเรามีสมาธิ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพ่งความคิดให้แน่วแน่อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (focus) และสามารถคิดได้อย่างมีอิสระ Soros จะไม่ยอมให้มีใครรบกวนเลย เวลาที่เขาทำการซื้อขายอยู่ แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเพราะมีข่าวใหญ่บางอย่างเข้ามากระทบ เขาก็ยังไม่ยอมให้ใครคนไหนเข้าพบเพื่อมาสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบให้ ฟัง จนกว่าเขาจะได้ “จัดการ” กับการลงทุนของเขาให้เรียบร้อยเสียก่อน

คุณสมบัติ #6 : มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ในการลงทุน นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมของไทย เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สำคัญต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันด้วย มิฉะนั้นเขาจะไม่สามารถคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อลดทอนความเสียหายได้

คุณสมบัติ #7 : มีฉันทะในสิ่งที่ทำ (Passion)


นักลงทุน ระดับปรมาจารย์ทุกคน “รัก” อาชีพการลงทุน พวกเขามีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ทำมากกว่าจะคิดเรื่องของผลตอบแทนที่ได้ Warren Buffet เคยพูดว่าตัวเขาเอง...Enjoy the process rather than the proceeds… รู้สึกสนุกกับการทำให้ “ได้ผล” มากกว่าจะคำนึงถึง “ผลได้”

คุณสมบัติ #8 : มีความยืดหยุ่น (Flexibility)

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการ ลงทุนนั้น ต้องเปิดใจพร้อมที่จะยอมรับข้อมูลใหม่ๆ และโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขารู้ดีว่าการที่ยึดติดกับความคิด/ความเชื่อบางอย่างตายตัวเกินไปอาจ เป็นการโยนทิ้งโอกาสดีๆ ที่ผ่านเข้ามา (“ตกเครื่องบิน”) หรือทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อการลงทุน (“เครื่อง บินตก”) ก็ได้ ประเด็นก็คือ นักลงทุนที่ประสบกับความสำเร็จจะต้องกล้าที่จะยอมรับความจริง ถ้าหากพบว่ามีการตัดสินใจผิดพลาด ก็ต้องยอม “ตัดขาดทุน” (cut losses) เสียแต่เนิ่นๆ แต่เมื่อตัดสินใจถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้จักปล่อยให้ “กำไรเพิ่มพูน” (run profits) ด้วยการไม่รีบขายหุ้นนั้นทิ้งไปด้วย

Do and Don’t ในการลงทุน

1.ควรลงทุนอย่างมีความรู้ เพราะความไม่รู้ คือความเสี่ยง ความรู้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการลงทุน

2.ควรพิจารณา Return และ Risk คู่กันเสมอ เพราะผลตอบแทนและความเสี่ยงจะเกิดขึ้นคู่กันเสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า High Return (always come with) High Risk การวิเคราะห์ผลตอบแทนเพียงด้านเดียวโดยไม่สนใจความเสี่ยง จะทำให้เข้าใจผิด หลงไปกับผลตอบแทนสูงที่ดูน่าลงทุน

3.ควรกระจายการลงทุน (Diversification) อย่างเหมาะสม การกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์หลายประเภทและหลายรายการ ยังคงเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างดีในระดับหนึ่ง เพราะจะลดความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละหลักทรัพย์ลงได้

4.ควรจัดองค์ประกอบ ของหลักทรัพย์ที่ลงทุน (Portfolio) หรือ พอร์ต ให้เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งด้านการเงิน lifestyle แผนการในอนาคต การวิเคราะห์และทำความเข้าใจตนเองอย่างรอบด้าน เพื่อจัดพอร์ตการลงทุนของตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ควรลงทุนตามคนอื่น เพราะแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวและมีความต้องการแตกต่างกัน

5.ควรตัดสินใจ ลงทุนอย่างสมดุล ไม่โลภและไม่ประมาทเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่กลัวจนเกินไป ความโลภและความประมาทมักทำให้เราเสี่ยงมากเกินไป ในขณะที่การกลัวไม่ยอมลงทุนก็อาจทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนเพียงพอตามที่ควรจะได้

เป็นอย่างไรบ้างครับ พอจะได้แง่คิดและประโยชน์กันบ้างรึเปล่าครับ ภาษาการสื่อสารอาจจะไม่สนุกเท่ากับภาษาพ่อมดน้อยน่ะครับ แหะแหะ ไว้ผมหายป่วยและฟิตเต็มร้อย รับรองครับ บทความสนุกๆ จะกลับมาให้มิตรสหายได้อ่านกันอีกแน่นอน

คืนนี้งดกลอน สมองไม่แล่นเลยครับ T___T

ช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน รักษาสุขภาพด้วยน่ะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘