พระธรรมปิฎก

พระธรรมปิฎก

พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต หรือประยุตธ์ อารยางกูร) เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่ตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประาจันต์ จังหวัด สุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายสำราญ และ นางชุนสี อารยางกูล ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ขณะมีอายุ 13 ปี ที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สอบได้นักธรรมชั้นตรี โท เอก และเปรียญธรรม 3 ถึง 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งมีน้อยคนที่จะมีความสามารถจนได้รับโอกาสเช่นนี้
    ภายหลังจบการศึกษา ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งท่านได้สร้างความก้าวหน้าให้มหาวิทยาลัยทั้งด้านบริหารและวิชาการอย่างมาก  โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นบทบาทและภาวะทางสังคมที่เพิ่มขึ้นของสงฆ์รวมทั้งสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนไว้ ในหลักสูตรซึ่งเป็นที่ยอมรับมาจนปัจจุบัน สำหรับงานบริหารคณะสงฆ์ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ในปี พ.ศ. 2515 ปรับปรุงกิจการภายในวัดจนเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วได้ยื่นหนังสือลาออกใน พ.ศ. 2519 แต่ก็ยังช่วยเหลืองานของคณะสงฆ์ตลอดมา และมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
    นับจากอุปสมบทจนถึงปัจจุบันมากกว่า 30 ปีชีวิตของท่านเต็มไปด้วยการอุทิศให้กับงานเผยแพร่พระศาสนา ช่วยชี้นำสั่งสอนบุคคลในสังคมให้ปฏิบัติตน เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข สงบ โดยการใช้ปัญญาไตร่ตรองเรื่องต่าง ๆ บนพื้นฐานของเหตุผล ข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่ความมีสันติภาพในโลกมนุษย์ เป็นการทำงานทั้งภายในและต่างประเทศทุกรูปแบบ ตั้งแต่การสอน การบรรยาย การปาฐกถา การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการแสดงพระธรรมเทศนา เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ และงานนิพนธ์
    งานนิพนธ์ด้านเอกสารวิชาการและตำราต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันท่านได้นิพนธ์ไว้มากกว่า 150 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย และมีภาษาต่างประเทศบ้าง ซึ่งนับวันจะเพิ่มปริมาณขึ้น ทุกเรื่องล้วนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็นงานที่ดีเยี่ยมตามมาตรฐานของงานวิชาการ มีความถูกต้องชัดเจนทั้งด้านภาษาและหลักวิชาการทางศาสนา ตลอดจนความสมบูรณ์ของการอ้างอิง ประการสำคัญที่สุดคือเนื้อหาสาระให้ประโยชน์แก่การดำรงชีวิตในสังคมของมวลมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างมาก งานนิพนธ์ของท่านต้องเพิ่มจำนวนการพิมพ์เสมอ เนื่องจากท่านมีฉันทะในการสร้างงานวิชาการเพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ท่านได้มอบลิขสิทธิ์ในการพิมพ์แบบให้เปล่าทุกครั้ง รางวัลที่ได้รับจากงานนิพนธ์ทั้งหมดก็มอบให้เป็นทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรตลอดมา
    ในด้านการเผยแพร่ต่างประเทศนั้น ท่านได้รับนิมนต์ไปบรรยายที่ต่างประเทศหลายครั้ง เช่น บรรยายเรื่องพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย ที่ University Museum, University of Pennsylvania ไปสอนพุทธศาสนาครั้งละ 1 ภาคเรียนหลายครั้งที่ Swarthmore College ใน Pennsylvania เป็น Guest Lecturer  ที่ Faculty of Arts and Sciences, Harvard University เป็น Visiting Scholar ที่ Center for the Study of World Religions, Harvard University เป็น Research Fellow ที่ Facukty of Divinity, Harvard Universiyty, Cambridge, Massachusetts.
    นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระภิกษุที่ได้รับการอาราธนาระบุเจาะจงให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในการประชุมนานาชาติขององค์กรระดับโลกหลายครั้ง เช่น ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาเด็กและวัยรุ่นแห่งเอเชียครั้งที่ 6 และในการประชุมสภาศาสนาโลก ปี พ.ศ. 2536 ได้จัดทำสารบรรยายเรื่อง “A Buddhist Solution for the Twentyfirst Century” มอบให้ที่ประชุม เนื่องจากท่านอาพาธด้วยโรคสายเสียงอักเสบ  Dr. Jim Kenney ประธานในที่ประชุมจึงได้เป็นผู้อ่านแทน
    ในปัจจุบัน ชีวิตที่อุทิศต่องานพระศาสนา สังคมของมนุษยชาติของพระธรรมปิฏก มีความสงบ เรียบง่าย มีวัตรปฏิบัติที่อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความสำคัญและความสนใจต่อบุคคลที่เข้าพบโดยไม่เลือก ชาติ ศาสนา ผิวพรรณ  และเพศ เป็นพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงวิชาการพระพุทธศาสนา และสังคมของมวลมนุษย์อย่างหาที่เปรียบได้ยาก นับเป็นแบบอย่างที่ดีของพระสงฆ์และมวลมนุษย์โลก ได้รับการยกย่องกล่าวถึงในฐานะนักปราชญ์เป็นผู้มีวิริยะและฉันทะ ต่อการสร้างงานวิชาการที่เป็นรากฐานสำคัญต่าง ๆเพื่อสื่อสารให้คนยุคใหม่เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ให้เยาวชนเล็งเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา ทั้งในองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา และในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตของสังคมไทย จึงทำให้มีบุคคลสนใจศึกษาประวัติและแนวคิดของท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Dr. Grant Olsen จากมหาวิทยาลัยคอรืแนล สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยประวัติของท่านในฐานนะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าสูงสุดคนหนึ่ง กล่าวได้ว่า ท่านเป็นตัวแทนด้านสติปัญญาของประชาชาติที่ชาวโลกสามารถอ้างอิงได้ด้วยความภูมิใจ
    แม้ท่านจะทำงาน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทน สถาบันอุดมศึกษาต่างๆจึงได้เล็งเห็นถึงความเป็นเลิศทางด้านวิชาการของท่าน ก็ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขา คือ
1. ทางด้านพุทธศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2525 เนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ผลงานนิพนธ์ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ การบรรยายธรรมในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ และการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดองค์กรการบริหารของคณะสงฆ์
    2. ทางด้านปรัชญา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2529 เนื่องจากผลงานด้านการบรรยายธรรมทางพระพุทธศาสนา และผลงานนิพนธ์ของท่าน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้นำมาเป็นหนังสือให้นักศึกษาได้เรียน
    3. ทางด้านการศึกษา จาก
-    -          มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530
-    -          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2530
-    -          มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2533
-    -          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2537
เนื่องจากความเป็นผู้นำทางปัญญาในหารวิเคราะห์ปัญหาสังคมของประเทศ การวิเคราะห์ปัญหาด้านการศึกษาของท่าน ประกอบด้วยความรอบรู้อย่างลึกซึ้ง และกว้างขวาง ทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิทยาการในปัจจุบัน โดยไม่ละเลยแนวคิดที่มีคุณค่าของพุทธปรัชญา
4. ทางด้านภาษาศาสตร์
-    -          จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2531
-    -          มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2532
เนื่องจากความสามารถเข้าใจแก่นแท้และธรรมชาติของภาษา ได้ส่งเสริมให้การประกอบภารกิจด้านการศาสนาของท่านประสบผลสำเร็จในหมู่ชนเป็นวงกว้าง ทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจเรื่องภาษาศาสตร์สังคมอย่างลึกซึ้งถึงความแตกต่างของคนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชุมชนและสังคม ผลงานของท่านจึงเข้าถึงกลุ่มผู้รับได้อย่างดีทุกประเภท เพราะท่านสามารถเลือกใช้รูปแบบภาษาได้อย่างเหมาะสม หลักฐานทางรูปธรรม คือท่านได้จัดทำพจนานุกรมพุทธศาสนา เป็นฉบับประมวลศัพท์และฉบับประมวลธรรม
    นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลอื่น ๆ อีก คือได้รับพระราชทานโล่รางวัล “มหิดลวรานุสรณ์”  พ.ศ. 2532 และรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาเผยแพร่พระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ. 2533 ล่าสุด ยูเนสโก ได้ถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพให้ ในปี พ.ศ. 2537 นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นการสร้างเกียรติประวัติและชื่อเสียงให้ประเทศไทยอย่างมาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘