ศ.ดร.ป๋วย อึ้ง

ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
    แผ่นดินไทยของเรานับตั้งแต่อดีตสมัยที่บ้านเมืองเริ่มก่อร่างสร้างตัว ได้มีบรรพชนผู้กล้าหาญ สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่แผ่นดินด้วยความเสียสละ เป็นผู้นำทางด้านความคิด กำลังกาย กำลังใจของคนในชาติมาช้านาน ย้อนยุคไปตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน บุคคลผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมเช่นนั้นก็ยังคงปรากฏมีอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมามิได้ขาด
    ปัจจุบันเมื่อบ้านเมืองพัฒนาก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ สภาพการณ์ของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ แต่กระนั้นสังคมไทยของเราก็ยังมีบุคคลผู้ยืนหยัดอยู่ในความดี เสียสละ กล้าหาญเป็นผู้นำทางความคิด สติปัญญาชี้นำสังคมให้ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้องเรื่อยมามิได้ขาดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ท่านรัฐบุรุษ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์  ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น
    นับจากที่ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์จำต้องอำลาจากบ้านเมืองไทยไปด้วยเหตุการณ์วิปโยคในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และประสบกับปัญหาสุขภาพ จนต้องพักวางภารกิจแห่งการพัฒนาสร้างสรรค์สังคมไปอย่างน่าเสียดาย ประเทศไทยก็ดูจะร้างนักคิด ผู้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนหนึ่ง “วิศวกรสังคม” ดังเช่นอาจารย์ป๋วยไปด้วย
    แต่”กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”สิบกว่าปีมานี้ สังคมไทยได้เริ่มรู้จักและยอมรับนามของนักคิดท่านหนึ่ง ซึ่งก้าวออกมาจากแวดวงที่คนโดยทั่วไป มักรู้สึกว่าไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมแต่อย่างไร นั่นก็คือวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ท่านผู้นั้นก็คือ  “ศ.นพ.ประเวศ วะสี”หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า”อาจารย์หมอประเวศ”
    อาจารย์ประเวศเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นแพทย์ผู้ได้ทำหน้าที่มากกว่าเพียงการตรวจรักษาโรคดังเช่นแพทย์ทั่ว ๆ ไป แต่ท่านนับเป็นแพทย์ผู้เสนอแนะแนวคิด อันจะช่วยบำบัดความเจ็บป่วยของสังคมโดยรวมและบุคคลอันมีความทุกข์จากการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันด้วยความโดดเด่นที่สุดของนักคิดท่านนี้คือ ฐานความคิดทั้งหมดของท่านมาจาก”แก่นพุทธธรรม”อันเป็นรากฐานของภูมิปัญญาไทยในอดีต โดยอาจารย์ประเวศได้ประยุกต์พุทธธรรมมาอธิบายสมุฏฐานของโรค และเขียนใบสั่งยาให้แก่ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและชีวิตยุคใหม่ ท่านมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชนร่วมสมัยตระหนักและยอมรับในคุณค่าของการประยุกต์ใช้พุทธธรรม
    นอกเหนือจากการให้ข้อคิดอันเป็นปัญญาแล้วท่านยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในวงการพัฒนาสังคมหลายด้าน ทั้งการพัฒนาเด็ก พระสงฆ์ ครู การพัฒนาสาธารณสุข ชุมชน ศาสนา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ บทบาทที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือบทบาทของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการอย่างจริงจัง และอย่างกล้าหาญทางจริยธรรมดดยการว่ากล่าวตักเตือนและให้สติแก่ผู้มีอำนาจ ในขณะที่ผู้นั้นยังครองอำนาจอยู่นอกจากนั้นอาจารย์ประเวศยังมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยจากการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และได้ทุ่มเทความคิด เพื่อเสนอแนะแนวทางแห่งการเยียวยาบาดแผลของสังคมในครั้งนี้ รวมถึงแนวทางที่จะคลี่คลายและป้องกันวิกฤตการณ์อันจะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตด้วย
    อาจารย์หมอประเวศได้เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ถึงกับร่ำรวยมากนัก แต่ด้วยการที่ท่านมีพ่อแม่ที่นอกจากจะให้ความรักความอบอุ่นแก่ท่านอย่างดีแล้ว คุณพ่อของท่านก็ยังได้ปูพื้นฐานการศึกษาให้แก่ท่านโดยสอนหนังสือให้ท่านเป็นคนแรกก่อนที่จะเข้าโรงเรียนเสียอีก ด้วยการปลูกฝังให้รักการเรียนรู้และรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้คุณหมอเป็นคนที่มีโลกทัศน์กว้างไกล ชอบใช้ความคิดในการแสวงหาคำตอบเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ในวัยเรียนคุณหมอเป็นผู้มีผลการเรียนดีอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเรียนจบเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้วยรางวัลเหรียญทอง และไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้วยทุนมหิดลสาขาโลหิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
    ตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการเป็นแพทย์ของอาจารย์หมอประเวศ ท่านได้ใช้วิชาชีพแพทย์ในการรักษาคนไข้ด้วยความวิริยะอุตสาหะและตั้งใจอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นท่านยังได้ทำวิจัยเสนอความรู้ที่มีประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขใหม่ๆ อยู่เสมอ ประกอบกับอาจารย์หมอประเวศมีบทบบาทในการร่วมกิจกรรมด้านต่าง ๆ ในสังคม เป็นต้นว่าการเป็นแรงพลังสำคัญในการก่อตั้งโครงการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลง จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ "Tabacco and Health" ขององค์การอนามัยโลก(WHO)และได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการรัฐปี พ.ศ.๒๕๒๔ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติสาขาการแพทย์ รางวัลนักวิจัยดีเด่น จนกระทั่งเกษียนอายุราชการท่านก็ได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนว่าเป็นราษฎรอาวุโสอีกด้วย   
    ความโดดเด่นของอาจารย์ประเวศที่ปรากฏแก่สังคมก็คือท่านจะปฏิบัตตนเป็นแบบอย่างพร้อมทั้งสื่อความคิดที่มีประโยชน์ต่อสังคมออกมาเป็นการพูด การเขียนบทความมากมาย ซึ่งสื่อเหล่านั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของบ้านเมืองทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งประยุกต์ให้เข้ากับสภาวะทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการตีความธรรมะให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เห็นผลปรากฎประโยชน์ได้จริง
    ความประทับใจที่คนส่วนใหญ่มีต่อคุณหมอประเวศนั้นก็คือถ้าเราศึกษาแนวคิดของท่านที่เน้นในเรื่องของการใช้ภูมิปัญญาดั่งเดิมคือหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประสานเข้ากับความรู้หรือวิทยาการสมัยใหม่ คือ การจัดการเพื่อให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่คนไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังเกิดภาวะความสับสนในทิศทางที่ควรจะดำเนิน เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่แต่เดิมเราเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่จะต้องปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งนานาประการเกิดขึ้นในสังคม อย่างที่คุณหมอประเวศบอกว่าสังคมไทยในขณะนี้กำลังเกิดวิกฤติแห่งการทำลายตัวเอง หรือเป็นการต่อสู้ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงมาก อาจารย์หมอประเวศได้ชี้ถึงปัญหาสังคมและการเมืองที่ประเทศไทยเราประสบอยู่ขณะนี้ว่ามีปัญหาใหญ่ ๆ อยู่ ๖ ประการด้วยกันคือ ปัญหาเรื่องความยากจน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ปัญหาการเมือง ปัญหาระบบราชการ และปัญหาการศึกษา
    แนวความคิดในการแก้ไขปัญหาสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ของอาจารย์หมอประเวศในตอนเเรกไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำในสังคมมากนัก เพราะมองเห็นว่าเป็นเรื่องการถอยหลังเข้าคลอง และเป็นแนวคิดที่เน้นเรื่องของนามธรรมเรื่องของจิตใจซึ่งไม่สามารถเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมได้ แต่เมื่อเวลาล่วงไป ความคิดเห็นและแนวทางการแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ ของอาจารย์หมอได้มีกลุ่มผู้ที่สนใจและนำไปทดลองปฏิบัติซึ่งปรากฎว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งเมื่อมีการวิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้งแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่คุณหมอประเวศพยายามชี้นำสังคมตลอดมานั้น เป็นสิ่งที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาสังคมหมดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่สำคัญก็คือเป็นภูมิปัญญาของชาติไทยที่มีมาแต่เดิม แต่ถูกเหตุปัจจัย ค่านิยมอื่นมาบิดเบือนและบิดบังกลบเกลื่อนไว้ไม่ได้นำออกมาใช้ หรือใช้ไม่ถูกต้องและจริงจัง ดังเช่นหลักการมองและแก้ปัญหาด้วยพุทธธรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
    อาจารย์หมอประเวศมองว่าปัญหาทุกอย่างในสังคมมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด การเเก้ไขจำเป็นต้องกระทำไปพร้อม ๆ กันทุกจุด ด้วยสิ่งที่เรียกว่า"ปัญญาและการจัดการ"โดยเน้นเรื่องของการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาน  โดยมุ่งประเด็นไปสู่การศึกษาของประเทศไทยที่ต้องมีการปฏิรูป เพื่อให้เป็นหารศึกษาที่สร้างปัญญาแก่ผู้เรียน และสร้างมนุษย์ที่พัฒนาพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นเบื้องต้นก่อน และการพัฒนาประเทศควรจะเป็นการพัฒนาเพื่อประโชน์ของคนส่วนใหญ่ของสังคม ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการรวมตัวกันของชุมชนในการแก้ไขปัญหา และรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองเอาไว้ได้
    ในส่วนของปัญหาการเมืองการปกครองของไทยนั้นอาจารย์หมอประเวศท่านจะเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและปรับบทบาทจากการเป็นผู้ลงมือกระทำเองมาเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ในการทำงาน และการปรับปรุงระบบการทำงานให้สะดวกต่อการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อป้องกันการทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวง และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานแก่ข้าราชการ ระบบราชการควรจะลดบทบาทการควบคุมและตัดสินใจ หันมาส่งเสริมการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้แก่ข้าราชการในท้องถิ่น เพื่อประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคม และการพึ่งพาตัวเอง
    ตลอดชีวิตราชการของคุณหมอประเวศกระทั่งเกษียนจนถึงทุกวันนี้ ท่านได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยโดยการถ่ายทอดภูมิปัญญาอันทรงคุณค่ามาตลอดมิได้หยุดยั้ง แม้อายุท่านจะมากแล้วก็ตาม ด้วยความรู้ความสามารถที่ผ่านการฝึกปฏิบัติและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน กอปรกับท่านมีหลักสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตก็คือ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นฐานอันมั่นคงยิ่งใหญ่ให้การคิด การพูด การกระทำของท่านได้รับการกรั่นกรองออกมาด้วยความตั้งใจจริงและเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีมอบให้สังคมไทยของเราได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของจิตใจอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทั้งปวง จึงทำให้อาจารย์หมอประเวศเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ นักปกครอง ปัญญาชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปของไทย ในฐานะนักคิด ปัญญาชนคนสำคัญระดับแนวหน้าที่ความดีของท่านประดับอยู่ในใจของหลาย ๆ คน เหมือนดั่งที่ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า  “เกียรติยศศักดิ์ศรีและความสุขของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่แท้จริงนั้นก็คือการได้รู้จักตัวเอง การได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักให้มีคุณค่า ให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและสังคมด้วยความสุข สงบและสู่อิสรภาพอันสูงสุด”นั่นเอง
            เปลวเทียนละลายเเท่ง    เพื่อเปล่งแสงอันอำไพ
            ชีวิตมลายไป            เพื่อสิ่งใดให้โลกฤาฯ
            เพื่อกิน กาม เกียรติ ก้อง    หลอกชนผองเอายศชื่อ
            แค่เพียงเท่านี้หรือ        หวังยึดถือเมื่อเกิดมาฯ
            แท้จริงเราควรคิด        หนึ่งชีวิตนั้นมีค่า
            คืนวันผ่านเวลา        อนิจจาพลันล่วงเลยฯ
            ก่อนจบฉากละคร        พึงสังวรณ์เถิดเพื่อนเอ๋ย
            เตรียมพร้อมก่อนลงเอย    อย่าละเลยเรื่องความดีฯ
            ดีชั่วเพียงสองสิ่ง        เหลือละทิ้งก่อนเป็นผี
            ฝากไว้ในโลกนี้        ให้คนเขาเฝ้าคำนึงฯ
            อัปยศและชั่วช้า        เขาเบือนหน้าไม่คิดถึง
            หากความดีมีตราตรึง    เขาคำนึงด้วยอาลัยฯ
            เปลวเทียนละลายเเท่ง        เพื่อเปล่งแสงอันสดใส
            ก่อนจากโลกนี้ไป        ฝากดีไว้ให้โลกเอยฯ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘