ชีวประวัติของหลวงวิจิตรวาทการ

 “ ชีวประวัติของหลวงวิจิตรวาทการ”
กรุงรัตนโกสินทร์ได้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีนักปราชญ์หลายท่านที่ช่วยทำให้บ้านเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ หนึ่งในผู้มีพระคุณเหล่านั้น มีอยู่หนึ่งท่านที่เป็นสามัญชน แต่เป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาการเกือบทุกด้าน เช่น การฑูต การเมือง การปกครอง ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ เศรษฐ-ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ตลอดจนศิลปะ การดนตรี วรรณคดี และการละคร ซึ่งท่านได้รับใช้เบื้องยุคลบาทเป็นข้าราชการตลอดชีวิตของท่าน
ที่พูดไปแล้วนั้นไม่ใช่การยกยอจนเกินจริง แต่มีหลักฐานยืนยันความสามารถของท่านเป็นรูปธรรมมากมาย ทั้ง ๆ ที่ท่านมีโอกาสแค่เรียนชั้นมูลในโรงเรียนวัด และเรียนทางธรรม สอบเปรียญได้ห้าประโยคเป็นที่หนึ่งของประเทศไทย จากสำนักวัดมหาธาตุ ก่อนที่จะเป็นเริ่มทำงานครั้งแรกในตำแหน่งเสมียน กองกงสุล กระทรวงต่างประเทศ นอกจากทำงานประจำคือการรับราชการตลอดชีวิตแล้ว ท่านยังสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาลได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ บทประพันธ์นวนิยาย บทละคร บทเพลง บทปาฐกถาอันโด่งดัง หรือผลงานในชุดจิตวิทยา ล้วนเป็นเครื่องยืนยัน ความสามารถของท่านได้เป็นอย่างดื ไม่เพียงแต่ผลงานของท่านเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่ไพศาลยากที่จะหาใครเปรียบเทียบได้ ชีวิตส่วนตัวของท่านในการต่อสู้ชีวิตสร้างอนาคตก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ชีวิตการทำงานของท่านที่มุ่งมั่น จริงจัง มั่นคง เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คนเราจะก้าวหน้าและยังประโยชน์ให้สังคม ไม่จำเป็นต้องมีชาติกำเนิดอันสูงส่ง คนเป็นสามัญชนธรรมดาสามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีบันไดทองหรือปาฏิหารใด ๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความพยายามทั้งสิ้น หากท่านยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน รางวัลต่าง ๆ เกียรติบัตร โลห์ ถ้วยรางวัล คงจะเต็มบ้านอย่างแน่นอน บุคคลท่านนี้คือ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยมีชื่อเดิมว่า เด็กชายกิมเหลียง วัฒนปฤดา เป็นบุตรชองนายอินและนางคล้าย และกำพร้ามารดาเมื่อเกิดมาได้ไม่นาน ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนแพ ที่คลองตำบลสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ชีวิตการเรียนเป็นเด็กวัดและบวชเรียนมาตามลำดับ
จากการศึกษาประวัติชีวิตของท่าน ทำให้ทราบว่าท่านได้ปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะหลักของหนทางแห่งความสำเร็จ ที่พวกเรารู้จักกันดีคือ อิทธิบาทสี่ อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เราลองมาพิจารณาการใช้หลักการดำเนินชีวิตของท่านพร้อมๆกันนะค่ะ
ประการแรก ฉันทะที่แปลว่าความพึงพอใจ ท่านมีความพึงพอใจในความเป็นตัวของตัวเอง พอใจในชาติกำเนิดโดยไม่ปิดบังชาติกำเนิดภูมิหลังของตนเองว่าเกิดในแพไม้ไผ่ จากครอบครัวสามัญชนที่ฐานะไม่ดีนัก พร้อมและภูมิใจที่จะเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งที่ต่ำต้อยในสายตาของคนอื่น คือ เสมียน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้อาสาไปเป็นเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงโตเกียว และถูกจำคุกในฐานะอาชญากรสงคราม ท่านไม่ได้ทุกข์ร้อนเพราะได้ใช้เวลาทั้งหมดในคุกด้วยความพอใจในการเรียบเรียงไวยกรณ์ภาษาฝรั่งเศส เรียบเรียบปทานุกรมบาลี เรียงเรียงไวยากรณ์ภาษาอังกฤษอย่างละเอียด โดยไม่ยอมให้มีเวลาว่าง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส สามารถสร้างความพอใจได้เสมอ ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ ในสถานะ หรือในภาวะแวดล้อมใด
ประการที่สอง วิริยะที่แปลว่า ความเพียรพยายาม ตัวอย่างที่ดีในเรื่องความพยายามเห็นได้จากสมัยที่เป็นสามเณรได้ใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศถึงกับยอมละเมิดคำสั่ง โดยการแอบศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วยตนเอง โดยไม่กลัวถูกลงโทษ และคิดว่าโทษนั้นไม่สำคัญสำหรับผู้ที่ตั้งใจจริง และศึกษาจนสามารถอ่านออกเขียนได้ ความพยายามของท่านไม่ได้หยุดลงแค่นี้ ขณะเป็นเสมียนยังใช้เวลาไปศึกษาวิชากฎหมาย ในระหว่างทำงานที่สถานฑูตไทยในกรุงปารีส หรือที่อื่น ๆ ท่านได้ศึกษาวิชาการหลายแขนงเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา กฎหมาย และรัฐศาสตร์ จนแตกฉาน
ประการที่สาม จิตตะ คือการเอาใจใส่ ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร มีงานที่ท้าทายความสามารถของท่านหลายอย่าง ได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่าจะต้องเพิ่มพูนความรู้ของตนเองในทางหนังสือไทย และในด้านอื่น ๆ ท่านจึงได้เรียนรู้งานในขั้นพื้นฐานอย่างเอาใจใส่ โดยได้ตั้งกฎเกณฑ์ว่าอย่างน้อยต้องอ่านหนังสือได้วันละเล่ม เพื่อให้รู่เท่าทันผู้อยู่ในปกครองและสามารถปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างสง่างาม
ประการสุดท้าย วิมังสา คือการไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล ในระหว่างทำงานเป็นเสมียน อยู่กระทรวงต่างประเทศ ท่านได้คัดเลือกแฟ้มงานเก่า ๆ ของคนเก่ง ๆ มาศึกษาไหวพริบและความเฉลียวฉลาดในการทำงานของคนรุ่นก่อน เมื่อท่านอ่านมาก ๆ ก็ได้ความรู้และจากการไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของท่านเอง ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการในสถานฑูตไทยกรุงลอนดอน ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสันนิบาตชาติซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับบุคคลทั่วไป แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเปรียบเทียบการประชุมนี้เหมือนการได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยสูงสุด เพราะบรรดาคนที่นานาชาติส่งมาประชุมล้วนเป็นคนเก่งที่หนึ่งของประเทศ ทำให้ท่านมีโอกาสวิเคราะห์ตัวเองและเลียนแบบความเฉลียวฉลาดของบุคคลเหล่านั้นที่ใช้หลักวิชาการยกมาโต้ตอบกัน โดยท่านได้ทำหน้าที่จดรายงานการประชุมทุกครั้ง ท่านจึงได้ผ่านกระบวนการ สุ จิ ปุ ลิ คือ ฟัง คิด ถาม เขียน เป็นเวลานานถึง ๕ ปี การที่จากท่านเป็นคนพิจารณาสิ่งที่ได้ยิน ได้พบ ได้เห็น อยู่เสมอ จึงทำให้ท่านรอบรู้ โดยไม่ปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ผ่านมาและผ่านไปโดยไร้กระบวนการคิด และเมื่อไม่เข้าใจ ท่านก็ถามผู้รู้ พร้อมกับการเขียนรายงานการประชุม
จากหลักอิทธิบาทสี่ ที่ท่านปฏิบัติอยู่เสมอในทุก ๆ เรื่องเป็นผลให้เกิดความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตครอบครัว ผลงานหนังสือของท่าน เท่าที่รวบรวมได้มีทั้งสิ้น 219 เรื่องในจำนวนนี้เป็น วิชาการ นวนิยาย ที่ยังไม่ได้นับรวม บทความ สารคดี บทละคร บทเพลง ปาฐกถาและ คำบรรยาย อีกมากมาย ซึ่งมีน้อยคนที่ทำได้เช่นนั้น แม้ว่าหนังสือเหล่านั้นจะถูกเขียนไว้เมื่อประมาณห้าสิบปีมาแล้ว แต่ยังคงถูกพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและยังเป็นที่ต้องการของผู้อ่านอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะวิจารณญาณอันเฉียบแหลม วิสัยทัศน์ไกลของท่านนั้นเอง
สำหรับชีวิตการงานของท่าน ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานัปการ จากเสมียนต่ำสุดก้าวหน้าสูงสุดเป็นรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวงซึ่งถือว่าสูงสุด ด้วยหลักการของท่านในเรื่องคติของเวลาและความพยายามล้วนอยู่บนพื้นฐานที่เรียกร้อง จะพัฒนาตัวเอง จากหนึ่งไปสอง ไม่มีการก้าวข้ามขั้นตอน ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความมานะพยายาม จึงถึงจุดสูงสุดในชีวิต และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงทั้งในและต่างประเทศ และยังได้รับปริญญาบัตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศถึงสามแห่ง ถึง 3 แห่ง แม้กำเนิดของท่านจะเป็นสามัญชน แต่ท่านก็สามารถไต่เต้าถึงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงเป็นบุคคลชั้นนำของสังคมไทยและของประเทศไทยได้อย่างองอาจ
ท่านได้พบกับความสุขโดยตลอดชีวิตของท่านซึ่งพบในบทประพันธ์เรื่อง“ ความสุขของฉัน ” ตอนหนึ่งเชียนไว้ว่า
“ สุขของฉันอยู่ที่งานหล่อเลี้ยงจิต        สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า
คิดทำ โน่นทำนี้ทุกเวลา              เมื่อเห็นงานก้าวหน้าก็สุขใจ
งานยิ่งมากจริงยิ่งเป็นสุข        งานยิ่งชุกมันสมองยิ่งผ่องใส
เมื่องานทำได้เสร็จสำเร็จไป        ก็สุขใจปลาบปลื้มลืมทุกข์ร้อน
ฉันรักงานรักจริงยิ่งชีวิต        ถูกหรือผิดอยากจะทำให้ถ้วนทั่ว
ถ้าทำผิดก็เป็นครูอยู่กับตัว        ดีหรือชั่วขอแต่ให้ได้งาน ”
อยากจะสรุปชีวิตมหัศจรรย์ของนักปราชญ์สามัญชนผู้นี้โดยจิตวิญาณของท่านเอง ที่เขียนไว้ในหนังสือ “ ทางสู้ชีวิต ”ว่า
“ ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง อุปสรรคคือหนทางแห่งความสำเร็จอันดี
ชีวิตที่ไม่เคยประสพการต่อสู้ ย่อมเป็นชีวิตที่อ่อนแอ
บุคคลที่ไม่เคยมีศัตรู จะเป็นผู้เข้มแข็งไม่ได้ งานที่สำเร็จราบรื่นโดยไม่มีอุปสรรค ย่อมเป็นงานที่ไม่หนักแน่นถาวร  ขอให้เราทั้งหลาย พึงใจในการต่อสู้ ยินดีเผชิญหน้าศัตรู กล้าฟันฝ่าอุปสรรค ”
ในโอกาสนี้จึงนำมาเล่าสู่กันฟังว่าทำไมฉันจึงชอบท่านผู้นี้และเอามาเป็นแบบอย่างในชีวิตของฉัน และหากท่านผู้ใดสนใจและชอบเอกบุรุษนักปราชญ์ท่านนี้บ้าง ฉันก็ไม่ได้สงวนสิทธิ์แต่อย่างใด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘