สัมภาษณ์ อ.จตุพล

จตุพล  ชมภูนิช  ทำไมนักพูดจึงต้องมีอารมณ์ขัน
วงการนักพูดบ้านเราในขณะนี้ ถ้าเอ่ยชื่อ “จตุพล ชมภูนิช” หลายคนต้องร้องอ๋อ (แต่ไม่ใช่ อ๋อ…เหรอ) เพราะหลายคนบอกว่าเขาเป็นนักพูด นักเขียน นักฝึกอบรม และล่าสุดเป็นพิธีกร แต่เชื่อหรือไม่ว่า อาชีพทั้งหมดที่บอกไปนั้น เริ่มต้นจากการ “พูด” แทบทั้งสิ้น”
นักพูดไม่จำเป็นต้องพูดเก่งมาตั้งแต่เกิด และนักพูดก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้ใครรู้ว่าตัวเองพูดเก่ง เขาผู้นี้ก็เช่นกัน เขาเริ่มการพูดเป็นทางการครั้งแรกในชมรมโต้วาทีในมหาวิทยาลัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็ต้องเริ่มต้นจากความชอบก่อนเป็นอันดับแรก และจากนั้นเราจะมาดูว่าเขาเริ่มต้นเป็นนักพูดมืออาชีพได้อย่างไร
“…ก็ฝึกตัวเองก่อนนะ เวลาเดินเข้าบ้านก็พูดเสียงดัง ๆ ตะโกนไปเลย เพราะซอยแถวบ้านไม่ค่อยมีคน ก็เดินเข้าไปก็พูดไปด้วย พอสักพักก็ได้เริ่มฝึกฝนวิธีคิด วิธีการพูดโดยไม่ต้องเตรียมตัว มันก็ได้ประสบการณ์ขึ้นมาส่วนหนึ่ง
จากนั้นก็มาฝึกพูดในรั้วมหาวิทยาลัย ครั้งแรกนี่ไม่ประสบความสำเร็จ คือไม่มีคนฟัง ไม่มีคนชอบ อะไรก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ)… นี่คือในช่วงแรก ๆ ทำไม่ได้ แต่ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ยิ่งพยายามขึ้น ไม่ใช่ว่าเลิก ก็แสดงว่าความพยายามของเรายังไม่ถึง เรายังไม่ให้เวลาเต็มที่ ความสามารถเรายังไม่พอ ก็ต้องเพิ่มสิ่งเหล่านี้เข้าไปให้มันด้วย เลยกลับมาฝึกใหม่…”
ตอนนั้นใครเป็นนักพูดในดวงใจ?
“…ตอนนั้นรุ่นพี่ ๆ ในมหาวิทยาลัยที่พูดเก่ง ๆ ก็มีหลายคน เราก็ดู ๆ แล้วก็ลองศึกษาว่าเขามีวิธีการพูดอย่างไร ทำไมคนถึงสนุก คนถึงฮาเฮ ก็มีหลายคนนะ แต่ว่าแต่ละคนก็หยิบมาอย่างละเล็กละน้อย อย่างคนนี้พูดเสียงหนักแน่นดี คนนี้มีลูกเล่นลูกฮาดีนะ
จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ผมก็คอยสังเกตการณ์ตลอด เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะหยิบยกของแต่ละคนมา บางคนมีไหวพริบปฏิภาณดี บางคนก็มีวิธีการพูดดี สำนวนดี ผมก็พยายามศึกษา เราจับเอามาอย่างละเล็กละน้อย ไม่ได้ถึงขนาดเลียนแบบหรือไปเอาของใครมาเป็นแบบอย่าง…”
ทุกวันนี้อาจารย์มีแบบฉบับในการพูดของตนเองอย่างไร?
“…ผมว่าเป็นตัวของผมเองนะ คือจะนำสิ่งร่วมสมัยมาใช้ เช่น เพลงโฆษณา ละคร อะไรต่าง ๆ เอามาประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ แล้วก็นำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันที่เราอาจมองข้ามไป มาหยิบยกให้เห็นเด่นชัดขึ้น คงจะเป็นอย่างนี้ คือให้มันทันสมัยมากขึ้น เข้ากับความสนใจของคนฟัง…”
อาจารย์เคยเบื่อการพูดบ้างไหม?
“…ถ้าพูดนี่ คงไม่เบื่อนะครับ เพราะปรกติอาชีพผมนี่ จริง ๆ คืออาชีพฝึกอบรม ต้องไปสอนคน ต้องไปบรรยายตามคอร์สต่าง ๆ ทีนี้คนมันเปลี่ยนตลอด พอบรรยายเรื่องนี้ไป สมมติว่า พูดเรื่องการทำงานอย่างไรให้มีความสุขสนุกกับงาน วิธีการบริหารอย่างเหนือชั้น วิธีการขายอย่างมืออาชีพ คนฟังจะเปลี่ยนเข้ามาเรื่อย ๆ ถ้าไม่เปลี่ยนคนฟัง เราก็เปลี่ยนหัวข้อ คือ เปลี่ยนข้อมูลในการบรรยายให้ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ทีนี้ถ้าสอนในชั้นเรียน เจอนักเรียนหน้าเดิม มันก็มีโอกาสเบื่อ แต่ว่าอาชีพนี้มันเปลี่ยนเรื่อย ๆ มันสบายใจ ไม่มีโอกาสเบื่อ…”
มีการเตรียมตัวในการพูดแต่ละครั้งอย่างไร?
“…นักพูดจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูด และต้องศึกษาหาความรู้ทุกวิถีทาง ผมอ่านหนังสือเยอะ อ่านเพียบเลย แล้วก็คุย ถาม เขียน คิด ฟัง แล้วจึงมาประยุกต์ ประมวล คือรวบรวม ประยุกต์ก็คือการปรับใช้ให้เกิดความน่าฟัง น่าคิด น่าเชื่อในสิ่งที่เราพูด เรานำเสนอไป หัวข้อเดียวกัน วิชาเดียวกัน คนอื่นพูดอาจเบื่อ แต่พอเราพูดคนอยากฟัง ติดตามฟังต่อ อย่างนี้มันก็คือการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้มันเกิดความทันสมัย…”
จากวันนั้นถึงวันนี้ ๑๐ กว่าปีแล้ว อาจารย์มีพัฒนาการในการพูดอย่างไร?
“…ก็ทนทานขึ้นเยอะ (หัวเราะ)… ก็เมื่อก่อนพูดแล้วคนไม่ขำ เรารู้สึกว่าชีวิตไม่ควรมีค่าแก่การอยู่ต่อ แต่หลัง ๆ นี่ไม่ฟังไม่เป็นไร จะแยกแยะดูว่าปัจจัยของการให้คนฟัง คนขำ นี่มันมีหลายอย่าง ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว ถ้าเขาหิว เขาก็ไม่ขำแล้ว เขากินข้าวกันอุตลุด คุยกับเพื่อน เขาก็ไม่ฟังอย่างนี้… เราก็รู้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ผมขึ้นไปพูด ผมจะวิเคราะห์ว่าวันนี้ต้องการขนาดไหน ถึงขนาดลงไปหัวเราะกลิ้งเกลือกลงกับพื้น มันกำหนดได้ บอกได้เลยนะ ถ้าเป็นบรรยายนี้ไม่มีอะไรน่าห่วงเพราะเขาเตรียมกระดาษคนละแผ่นเตรียมจดสุดชีวิต แต่ที่ลำบากที่สุดคือ การทอล์คโชว์ อย่างดินเนอร์ทอล์ค กินโต๊ะจีนนี่ ถามว่าเขากำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารข้างหน้า แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้เขาทิ้งช้อนทิ้งตะเกียบหันมามองเรา หันมาฟังได้ ๔๐ นาที หรือ ๑ ชม. เป็นไปได้ยากมาก
เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมต้องวิเคราะห์ทุกครั้งก่อนขึ้นพูดว่า เราควรจะต้องทำอย่าไรให้เขากลับมาฟังเรา แล้วงานนี้นะ โอ้โอ! คนจีนทั้งนั้น ฟังกันไม่รู้เรื่อง ก็ขอแค่หึหึก็พอ บางที่ขอแค่รอยยิ้ม บางที่ต้องเฮนะ ไม่เฮไม่ได้ กำหนดได้เลยครับ…”
ขณะพูดเคยหมดมุขบ้างไหม?
“…ไม่มีครับ ก็คือ เราจะสังเกตงานส่วนหนึ่งว่าควรจะหยิบอะไรมาเล่นบ้าง แบบฉากที่วิลิศมาหรา หรือไฟมันมืดตะคุ่ม ๆ ก็หยิบเอามาเล่นได้ เพื่อให้ใกล้ตัวเขา และเขาก็จะได้สนุกไปด้วย แล้วก็ถามสมมติไม่ไหวจริง ๆ มันก็จะมีที่เขาเรียกว่า ซูเปอร์แก๊ก คือ แก๊กที่โยนทีไร เฮทุกที ทุกที่เสมอมา แต่ต้องเอาไปปรับใช้ในแต่ละงานนะ จะใช้ในกรณีที่หินจริง ๆ ก็ต้องลองดูเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์…”
ในการพูดแต่ละครั้ง สิ่งที่นักพูดไม่ควรพูดคืออะไรบ้าง?
“…สิ่งที่ไม่ควรพูดคือ เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องลามกอนาจาร ถ้ามันโจ่งแจ้งเกินไป ความจริงทุกคนชอบนะ แต่มันโจ๋งครึ่มเกินไป จนกระทั่งไม่เหลือไว้ให้คิด ถ้าเราไปทะลึ่งตึงตัง มันก็ไม่ถูกกาลเทศะ รวมไปถึงการพูดที่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจหรือเอาปมด้วยคนอื่นมาเป็นอารมณ์ขัน อย่างหัวล้าน ตัวเตี้ย ตัวดำ ก็ไม่ควรพูด…”
มีความคิดเห็นอย่างไรที่นักพูดยืมมุขตลกมาใช้?
“ถ้านักพูดยืมมุขตลกมาใช้ เข้าใจว่าเป็นการล้อเลียน ผมยังยืมมาเลย เพราะอย่างที่บอกว่าเราต้องดึงสื่อที่มันร่วมสมัยมาใช้ในสไตล์การพูดของผม เช่นคำว่า ท้อแท้… ไม่สบาย ซึ่งหยิบมาแค่นั้นเอง ซึ่งไม่จำเป็นที่เป็นแค่ตลก นักร้อง ดารา ใครที่ดัง ๆ แม้แต่นักการเมืองที่ชี้นิ้ว ชี้อะไรต่างๆ เขาดังเราก็หยิบยกเข้ามาประกอบการพูด ตลอกกับนักพูดนี่คนละอย่างและห่างไกล สาเหตุเพราะว่าตลกเขาใช้โจ๊ก โจ๊กแปลว่าตลก ส่วนนักพูดจะมี Sense of Humor แปลว่ามีอารมณ์ขัน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเอาถาดมาตี มาตบกัน เพียงแต่ใช้คำพูดของเราสร้างให้เกิดมุมมองที่สนุกสนานขึ้นมาได้ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องหัวเรากลิ้ง Sense of Humor แค่อมยิ้มก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว คือพูดแล้วไม่เครียด ฟังแล้วสบาย ๆ ๑ ชั่วโมงผ่านไปอย่างไม่รู้ตัวก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องหัวเราะกลิ้งไปกลิ้งมา ไม่ต้องตลกโปกฮาแบบทะลึ่งตึงตัง แต่เป็น Sense of Humor ซึ่งนักพูดไม่ได้มีทุกคน แต่ว่านักพูดจะใช้แล้ว ต้องเป็น Sense of Humor ไม่ใช่ตลก ไม่ใช่โจ๊ก…”
ถ้าไม่มี Sense of Humor แล้ว เป็นนักพูดไม่ได้หรือ?
“…เป็นได้ครับ แต่นักพูดแบ่งเป็นนักพูดเชิงวิชาการ นักพูดเชิงสนุกสนาน จริง ๆ นักพูดเชิงวิชาการพูดง่าย คือเรามีวิชาการอยู่กับตัว เรามีความรู้เราก็ถ่ายทอดไปตามนั้น หนังสือว่าอย่างไร เขาว่ากันอย่างไร ว่าไปตามนั้นก็จบ แต่การพูดแล้วนั้นมีมุมมองแปลก ๆ มีแง่คิด มีความสนุกสนานเจือปนอยู่บ้าง ก็เป็นอีกขั้นที่ยาก คือคนฟังฟังแล้วได้อะไรและได้อย่างไม่รู้ตัวด้วย ได้แบบเพลิดเพลินด้วย…”
คุณสมบัติของนักพูดที่ดีควรจะเป็นอย่างไร?
“…นักพูดที่ดี ผมว่าต้องพูดให้จริง เรื่องไม่จริงไม่ควรพูด นับตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพราะการพูดเรื่องไม่จริงเพื่อใช้วาทศิลป์แปลงให้ดูแล้วให้เกิดความเชื่อถือนั้น ผมว่าไม่ถูกต้องเพราะบางทีบางคนใช้วิธีการพูดโน้มน้าว หว่านล้อม ชักจูงให้คนฟังมีความรู้สึกว่าอย่างนั้นจริง ๆ นี้ไม่ควร นี่คือข้อแรก…
ข้อสองคือ ต้องจริงจังกับการพูด ถ้าการพูดทุกครั้งหมายถึงการขาย เพราะฉะนั้นทุกครั้งเราต้องรับผิดชอบกับผลงานของตนเอง ต้องพูดให้ดี แล้วจริงใจด้วย ออกมาจากใจจริง ๆ คิดอย่างไรพูดออกมาอย่างนั้น…”
กับการที่นักพูดผันตัวเองเข้าสู่วงการแสดงหรือพิธีกร มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?
“…ถ้าเรื่องพิธีกรนะ ผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามากเลย เพราะนักพูดก็ต้องพูดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งของการเป็นนักพูด มีสูตรหนึ่งคือ เทคนิคการเป็นพิธีกร ซึ่งพิธีกรจริง ๆ อาจจะยังไม่เคยเรียน แต่นักพูดเรียนมาแล้วทุกคน เขาจะรู้ว่าการสยบม็อบหรือการปลุกคนฟังให้เขาวางช้อนวางตะเกียบฟังหน้าเวทีทำอย่างไร วิธีการถาม วิธีการจะตามมุข วิธีการหักแง่หักมุมที่ทำให้เกิดความสนุกสนานทำอย่างไรบ้าง
นักพูดทุกคนมีอยู่แล้ว แต่เพียงว่าบางคนทำได้ดี บางคนทำได้ไม่ดี บางคนหน้าตาดี อะไรหลายอย่างที่เป็นส่วนประกอบในการเป็นพิธีกร รวมทั้งโอกาสด้วย ซึ่งผมถือว่าถ้าในกรณีที่นักพูดมาเป็นพิธีกร ธรรมดามากและควรเป็นด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นนักแสดงนี่บอกไม่ได้ เพราะทุกคนแสดงได้ไม่เหมือนกัน…”
แล้วชอบเป็นพิธีกรไหมคะ?
“…โอ้โฮ! ผมเป็นได้สบายมากเลยครับทั้งในทีวีและข้างนอก ข้างนอกนี่ถือว่าเป็นยากกว่าในทีวีเยอะ เพราะเราต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ถ้าบนเวทีต้องใช้ฝีมือเยอะ เช่น ช่วงนี้ใครยังไม่มาเราจะทำอย่างไร ผมสามารถยืนบรรยายได้ทั้งวันสบายอยู่แล้ว แต่เราสามารถจะทำอะไรได้มากกว่าโยนเข้าเพลง…”
เรื่องหน้าแตก?
“…มีครับ อย่างอ่านชื่อผิด ประเภทที่ไม่ควรเกิดเลยคือ ประเภทหลุด บางทีเคย มีอยู่ครั้งไปอัดรายการสดของช่อง ๙ นานแล้วละ ใช้คำพูดไม่สุภาพออกไป ผมพูดว่าม้วนหางซิลูก และเผอิญมันเพี้ยน เพราะข้างล่างเราเล่นหยอกล้อกันติดปาก และวันนั้นมันเป็นรายการสดด้วย ตัดก็ไม่ได้ ปรากฏว่าพลั้งปากออกไป แต่มันก็ไม่น่านะ…”
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพูดของเด็กไทย ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินรายการโต้คารมมัธยมศึกษา?
“…ยอมรับว่าเขาเก่งนะครับ เพราะเขามีเวลาเยอะ อย่างคนทำงานเช่นผมนี่ เวลาจะน้อยเพราะจะต้องแบ่งแยกความคิดไปอย่างอื่นอีกเยอะ ด้านธุรกิจ ด้านการงาน ด้านแก้ไขปัญหาชีวิตและสุขภาพ อะไรต่าง ๆ แต่เด็กนี่ ก็ผมเคยเป็นเด็กมาก่อน ตอนเป็นนักศึกษานี่สามารถแปลงเพลงได้วันหนึ่งตั้ง ๕-๖ เพลง เพื่อจะมาร้องในแซววาที แปลงกลอนแปลงสุภาษิต มานั่งคิดมุขได้เพียบเลย เพราะเวลาเยอะ เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจว่าคนที่เป็นนักเรียนนักศึกษานี่ ถ้าเก่งก็คือเก่งไปเลย มีความสามารถเยอะเพราะเขามีเวลาฝึกฝน…
ถ้าเราให้เวลากับอะไรมาก สิ่งนั้นก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เด็กสมัยนี้เก่ง ซึ่งผมชื่นชมและอยากให้เขามีโอกาสแสดงออกอย่างนี้ ไม่ใช่ไปยืนแย้ว ๆ อยู่ข้างเวที คอยไปซับเหงื่อซับน้ำลายให้ใครเขา มันไม่มีประโยชน์กับชีวิต ว่าไหม อย่างการพูดนี่มันยังได้ใช้กับการงานอาชีพส่วนตัวได้เยอะ
คำแนะนำสำหรับคนที่จะเป็นนักพูด?
“…คนที่จะเป็นนักพูดต้องมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นจริง ๆ เพราะอุปสรรคมันเยอะกว่าจะไปถึงเส้นทางนั้น มันสะสมนานเพราะมันไม่ได้เป็นภายในวันเดียว บางทีเราพูดดี คนเขาก็นึกว่าฟลุคอยู่ ยังไม่คิดว่ามันเป็นผลงาน เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีความอดทนกับระยะทางอันยาวไกลเพื่อที่จะไปรอคอยความสำเร็จนั้น ต้องใจรักครับ…
สำหรับวงการนักพูดในปัจจุบันนี้ เนื่องจากการพูดเข้าไปอยู่ในวงการต่าง ๆ เยอะ เพราะว่าการพูดผมถือว่าเป็นศิลปะที่เยี่ยมเลยนะ คิดดูคน ๆ หนึ่งพูดแล้วทำให้คนเป็นร้อยเป็นพันฟังคน ๆ เดียวได้ หัวเราะตาม ร้องไห้ตาม คิดตามได้ เพราะฉะนั้นมันต้องมีอะไรมากกว่าเป็นเพียงเสียงที่เปล่งออกมา บางทีเสียงหัวเราอะไรต่าง ๆ ที่เป็นตลกจบแล้วคือจบ แต่การพูดมันไม่จบ จบแล้วยังไปนั่งคิดต่ออีกว่า เออ… มันจริงไหมที่เขาพูด เราน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันได้แง่คิดมุมมองไปช่วยผลักดันพลังในตัวเอง หรือว่าได้ประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาได้เยอะ ดังนั้นทางที่ดีถ้ามีการพูดเข้าไปเจือปนในสิ่งต่าง ๆ ก็จะทำให้ดูมีสาระประโยชน์มากขึ้น…”
ทุกวันนี้ในวงการนักพูดก็ยังคงเปิดโอกาสให้นักพูดรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทุกเมื่อ แต่ทว่าคุณจะมีพลังความสามารถเพียงพูดที่จะยืนอยู่ในระดับแนวหน้าได้หรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าผู้ชายคนนี้กล้าท้าทาย แต่ความสามารถของคุณพิสูจน์ได้ เพราะประชาชนเป็นคนตัดสิน
และวันนี้ นอกจาก “จตุพล ชมภูนิช” ยังไม่เบื่อที่จะพูดแล้ว เขายังเปิดสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจ (Progress Business Training Institute) ขึ้นที่ลาดพร้าว ๗๑ เพื่อฝึกอบรมด้านธุรกิจและฝึกให้ทุกคนที่อยากพูดได้มีโอกาสพูด เพราะตราบใดที่คนเรายังพูดได้ทุกเมื่อเชื่อวัน เราก็ควรที่จะรู้จักวิธีการพูดให้ดีมีสาระด้วยเช่นกัน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘