9ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านพุทธทาสภิกขุ

     ท่านพุทธทาสภิกขุเดิมท่านชื่อว่า เงื่อม เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ที่ตำบลพุงเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี บิดาและมารดาของท่านมีอาชีพค้าขาย และถือว่าเป็นตระกูลที่มั่นคั่งตระกูลหนึ่ง ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่หนักแน่นในพระศาสนามาก ชอบสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ตามวัดต่าง ๆ สนใจศึกษาในธรรมะ มีลูก 3 คนก็อบรมลูกให้เป็นคนดี ท่านพุทธทาสเองเป็นลูกชายคนโต และมีน้องชายคนกลางชื่อธรรมทาส และน้องคนเล็กเป็นผู้หญิงอีกหนึ่งคน
     เมื่อตอนเป็นเด็กท่านเรียนหนังสือที่วัดโพธารามวัดใกล้บ้าน ผลการเรียนดีมาก แต่ได้เรียนถึงแค่จบชั้นม. 3 แล้วก็ออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดาทำการค้า แต่ท่านก็ไม่เคยทิ้งการเรียน ในยามว่างท่านจึงมักจะหาหนังสือมาอ่านอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อท่านอายุครบ 20 ปี ก็บวชเพื่อทดแทนคุณมารดา ตอนแรกท่านคิดว่าจะบวชสัก 3 เดือน แต่เมื่อบวชเข้าไปแล้วท่านได้ศึกษาธรรมะและฝึกเทศน์จนประสบความสำเร็จ มีคนชอบเป็นจำนวนมาก จากความตั้งใจว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียวจึงกลายเป็นบวชตลอดชีวิต และท่านก็สามารถสอบได้นักธรรมโท นักธรรมเอก และเปรียญ 8 ประโยค
     เมื่อท่านอายุ 22 ท่านก็เข้ามาศึกษาเล่าเรียนต่อในกรุงเทพ โดยพักอยู่ที่วัดปทุมคงคา ต่อมาท่านเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายสภาพแวดล้อมในกรุงเทพและท่านคิดว่า ท่านควรจะทำอะไรสักอย่างให้แก่พระศาสนาจึงเกิดความคิดว่าจะหาที่สงบนอกกรุงเทพฯ สักแห่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยในระหว่างนี้ท่านก็ได้มีการติดต่อปรึกษาหารือกับท่านธรรมทาสน้องชายของท่านเสมอ
     ใน พ.ศ.2475 ท่านจึงเดินทางกลับมาที่พุมเรียง ซึ่งเป็นตำบลที่ท่านเกิด ท่านได้เข้าไปอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อวัดพังจิก ซึ่งเป็นสวนโมกข์เก่า ท่านได้ซ่อมแซมวัดให้พออยู่ได้โดยมีชาวบ้านคอยช่วยและท่านก็อยู่ที่นั้นเพียงคนเดียว อ่านหนังสือ ค้นคว้า อ่านพระไตรปิฎกคนเดียว โดยไม่เคยพูดกับใครเป็นเวลา 2 ปี จะออกมาพบผู้คนบ้างก็แค่ตอนออกมาบิณฑบาต จนชาวบ้านแถวนั้นพากันคิดว่าท่านเป็นพระเสียสติ
      อยู่ต่อมาท่านก็ได้ตั้งคณะธรรมทานขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะรื้อฟื้นการปฏิบัติธรรม ส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาของเด็ก นอกจากนั้นแล้วท่านก็ได้เขียนหนังสือชื่อว่า “พุทธศาสนา” ออกทุก ๆ 3 เดือนซึ่งนับว่าเป็นหนังสือทางพุทธศาสนาฉบับแรกที่ออกในเมืองไทยและต่อมาท่านก็ได้เขียนหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเล่มท่านอยู่ที่สวนโมกข์ พุมเรียงหลายปีจากนั้นท่านจึงได้ย้ายสวนโมกข์ไปอยู่ในที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ที่มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์และท่านได้ตั้งชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” ซึ่งแปลว่า สวนที่น่ารื่นรมย์ น่าพอใจ เป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งท่านได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรมตามธรรมชาติ และเผยแพร่การปฏิบัติธรรม มีทั้งการออกหนังสือ การเทศนา การค้นคว้า วิจัยโรงมหรสพทางวิญญาณ ตลอดจนตั้งองค์กรการกุศลคณะธรรมทาน เพื่อช่วยเผยแพร่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องและก้าวหน้า นอกจากนั้นแล้วท่านยังได้ตั้งโรงเรียนพุทธนิคม สอนวิชาพุทธศาสนาระบบทันสมัยอีกด้วย
     และนี่คืออัตชีวประวัติโดยย่อของท่านพุทธทาสภิกขุ พระสงฆ์รูปหนึ่งที่อุทิศชีวิตของท่านทั้งชีวิตเพื่อทำในสิ่งที่ท่านคิดว่าท่านพอจะทำได้เพื่อให้เกิดประโยชน์แกเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด.



ท่านพุทธทาสภิกขุ

     ท่านพุทธทาสเดิมชื่อว่า เงื่อม เกิดที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาและมารดาของท่านมีอาชีพค้าขาย และถือว่าเป็นตระกูลที่มั่นคั่งตระกูลหนึ่ง ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่หนักแน่นในพระศาสนามาก ชอบสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ตามวัดต่าง ๆ สนใจศึกษาในธรรมะ มีลูก 3 คนก็อบรมลูกให้เป็นคนดี ท่านพุทธทาสเองเป็นลูกชายคนโต และมีน้องชายคนกลางชื่อธรรมทาสและน้องคนเล็กเป็น ผู้หญิงอีกหนึ่งคน เมื่อตอนเป็นเด็กท่านมีผลการเรียนดีมาก แต่ได้เรียนถึงแค่จบชั้นม. 3 แล้วก็ออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดาทำการค้า แต่ท่านก็ไม่เคยทิ้งการเรียน ในยามว่างท่านจึงมักจะหาหนังสือมาอ่านอยู่เสมอ จนกระทั้งเมื่อท่านอายุครบ 20 ปี คุณแม่ก็ขอให้บวชในพระศาสนา ตอนแรกท่านคิดว่าจะบวชสัก 3 เดือน แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้วได้เรียนนักธรรมชั้นตรี เมื่อเรียนนักธรรมแล้วท่านก็คิดว่า ท่านมีความรู้พอที่จะสอนได้ ก็เลยเทศน์ให้คนฟังทุกคืนวันพระที่วัดที่ท่านพักอยู่ เทศน์เรื่อย ๆ ไป คนฟังก็พอใจฟัง ออกพรรษาแล้วไม่สึกเลยบวชต่อเรียน นักธรรมชั้นโท แล้วบวชต่อไปก็เรียนนักธรรมชั้นเอกได้ 3 ปี ในพรรษาต่อมา ท่านก็ได้มาช่วยสอนนักธรรมที่วัดพระธาตุไชยา นักเรียน 32 รูป สอบได้ 30 ตกไป 2 รูปเท่านั้น
ต่อมาท่านก็ได้เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯที่วัดประทุมคงคา แล้วท่านก็เรียนด้วยความตั้งอกตั้งใจจนสอบไล่ได้ 3 ประโยค แล้วก็เรียนต่อไปอีกจนสอบประโยค 4 แต่สอบไม่ผ่าน ท่านจึงหยุดเรียนเพียงเท่านั้น จากนั้นท่านจึงกลับบ้าน ในตอนแรกก็ไปพักที่วัดใหม่ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยอยู่ แต่เมื่ออยู่ได้สักเดือนท่านก็คิดว่าท่านควรจะทำอะไรสักอย่างให้แก่พระศาสนา จึงเกิดความคิดว่าจะหาที่สงบนอกกรุงเทพสักแห่งหนึ่งเพื่อค้นคว้า ศึกษา และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยระหว่างนี้ท่านก็ได้ติดต่อปรึกษาหารือกับนายธรรมทาสน้องชายของท่านอยู่เสมอ ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งที่พุมเรียง ชื่อวัดพังจิก ซึ่งเป็นสวนโมกข์เก่า ท่านได้ซ่อมแซมให้วัดพอจะอาศัยอยู่ได้โดยมีชาวบ้านคอยช่วย และท่านก็อยู่ที่นั่นเพียงคนเดียว อ่านหนังสือ ค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎกคนเดียว อยู่โดยไม่พูดคุยกับใครเป็นเวลาถึง 2 ปี เพราะไม่มีคนเข้าไปพูดด้วย แล้วท่านก็ไม่เคยเปิดประตูให้ใครเข้า มีประตูเข้าก็พอไปบิณฑบาต กลับมาแล้วก็ใส่กุญแจเลย ไม่ให้ใครเข้า แล้วก็อยู่คนเดียวเงียบ ๆ ศึกษาค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎก ชาวบ้านแถวนั้นเลยพากันคิดว่าท่านเป็นพระที่เสียสติ
ต่อมาท่านได้ตั้งคณะธรรมทานขึ้น มีจุดหมายเพื่อจะรื้อฟื้นการปฏิบัติธรรม ส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาของเด็ก นอกจากนั้นท่านยังออกหนังสือรายตรีมาส คือ 3 เดือนต่อครั้ง ชื่อว่า พระพุทธศาสนา นับว่าเป็นหนังสือทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกที่ออกในเมืองไทย โดยท่านเป็นผู้เขียนเองบ้าง ท่านธรรมทาสเขียนบ้าง ท่านได้สร้างหนังสือให้พวกเราอ่านหลายเล่ม เป็นหนังสือที่แพร่หลาย เช่นพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ เป็นต้น ซึ่งหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็ได้เขียนขึ้นที่นี่
ท่านอยู่ที่สวนโมกข์ พุมเรียงหลายปี ต่อมาท่านได้ย้ายสวนโมกข์ไปอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ และท่านก็ได้ตั้งชื่อว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่าสวนที่น่าพอใจ เป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น สวนที่น่ารื่นรมย์หรือน่าพอใจ เป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์ แล้วท่านก็ทำงานที่นี่มาเรื่อย ๆ เพียงคนเดียว
สวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาสอาจเรียกได้ว่าเป็นวนอุทยานก็ได้ เพราะท่านได้รักษาป่าไว้ตามธรรมชาติไม่แตะต้อง เพียงแต่ทำถนนผ่านเข้าไป แล้วก็ตัดเข้าไปสร้างกุฏิหลังเล็ก ไปซ่อนไว้ในป่า เรียงเป็นหลังห่าง ๆ กัน พระที่อยู่กุฏิก็รักษาป่าไปด้วยในตัวทำให้ตันไม้เจริญงอกงาม แล้วที่โคนมันก็รกทำให้เกิดความชุ่มชื้น ซึ่งวิธีนี้คือวิธีที่ท่านใช้ในการรักษาป่า
ที่ในวัดนั้นท่านได้สร้างอนุสรณ์ไว้แห่งหนึ่ง เรียกว่า ธรรมโฆษณานุสรณ์ ธรรมโฆษณานุสรณ์นี่เป็นที่เก็บศพของท่าน ทำเป็นบ่อกลม เป็นถังกลมเหมือนกับบ่อที่เราใส่น้ำ เมื่อเวลาที่ท่านสิ้นบุญก็เอาศพหย่อนลงไปในนั้น แล้วก็ปิดเสีย เสร็จแล้วข้างบนนั้นก็มีรูปปั้นวางไว้แล้วข้าง ๆ ห้องก็ทำเป็นตู้ ในตู้นั้นบรรจุหนังสือทั้งหมดที่ท่านเขียนเอาไว้ หนังสือที่พิมพ์แล้งมีจำนวนเท่าใด มีกี่เล่มก็นำมาวางไว้ เทปอัดเสียงมีเท่าไรก็นำเอามาวางไว้ข้างในนั้นพร้อมกับหนังสือ แล้วก็มีรูปภาพเกี่ยวกับความเป็นมา การทำงาน นำมาวางไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
งานที่ท่านพุทธทาสทำนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานในทางการศึกษา ค้นคว้าธรรมะลึกซึ้ง และก็มีการปฏิบัติด้วย ซึ่งท่านเคยกล่าวว่า ประเทศไทยเรานับถือพระพุทธศาสนามานานแล้ว แต่ว่าเรายังน่าละอายชาวต่างประเทศที่เขามาศึกษาทีหลังเรา เขากลับมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาแตกฉาน ลึกซึ้งกว่าซึ่งพวกเราเองไม่เคยมีการศึกษาค้นคว้าในส่วนลึกของธรรมะเลย.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘