[646][211]ไม่ควรเรียนภาษาอังกฤษ แบบ ‘ยิ่งรีบ - ยิ่งช้า’

สวัสดีครับบ่อยครั้งที่ท่านผู้อ่านถามมาว่า ทำอย่างไรจึงจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลเร็ว ๆ, มีทางลัดในการเรียนอย่างไรหรือไม่, จะต้องทำยังไงที่จะพูดให้ได้เพื่อเอาไปสอบสัมภาษณ์เดือนหน้า, ทิ้งภาษาอังกฤษมานานแล้วทำอย่างไรจึงจะฟื้นได้เร็ว ๆ เพราะงานในตำแหน่งใหม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ, หรือคำถามอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้

อันดับแรกก็ต้องบอกว่า ผมชื่นชมทุกท่านที่ถามคำถามเหล่านี้ เพราะนี่แสดงว่าท่านใฝ่ใจที่จะทำให้ตัวเองเก่งภาษาอังกฤษ เพื่อให้ภาษาอังกฤษช่วยพัฒนาการงานและชีวิตของท่าน และท่านก็มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้เร็วที่สุด

พอมองแง่นี้ก็จะ เห็นว่า การเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ต่างจากสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต คือ เราต้องการจะมีหรือได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราจึงตั้งเป้าหมาย และพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ปัญหาก็คือ ในช่วงที่เราพยายามนี้เรามักจะไม่ค่อยมีความสุขนัก มันครั่นเนื้อครั่นใจ กระสับกระส่าย ยังไงก็ไม่รู้ ซึ่งหมายความว่าถ้าเราบอกตัวเองว่าเราจะพยายามฟิตภาษาอังกฤษสัก 1 ปี เราก็จะอยู่ในอาการ ‘เป็นไข้’ เพราะภาษาอังกฤษที่เราต้องการจะฟิตพ่นพิษใส่เราตลอดช่วง 1 ปีที่เราปล้ำกับมัน

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปถึงคำถามของครูสอนภาษาไทย สมัยเด็ก เมื่อครูถามว่า ‘ในภาษาไทย คำที่ อ.อ่าง นำหน้า ย.ยักษ์ มีอะไรบ้าง?’ เด็กก็จะตอบตามที่ท่องจำไว้ ‘มี 4 คำ คือ อย่า – อยู่ – อย่าง - อยาก

ผมกำลังจะบอกว่า ตามประสบการณ์ของผม ‘อย่า – อยู่ – อย่าง - อยาก’ นี่แหละครับ คือหัวใจของพุทธศาสนา, คือหัวใจของการดำเนินชีวิตทุกอย่าง, และก็คือหัวใจของการฟิตภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

ก่อนที่จะคุยกันต่อไป ผมอยากจะชวนท่านอ่านนิทานเซ็นเรื่อง ‘ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละจะยิ่งช้า’ ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้เล่าไว้ ค่อย ๆ อ่านนะครับ ไม่ต้องรีบอ่านเดี๋ยวเนื้อหาดี ๆ จะหกหมด ตอนอ่านก็ให้ทำในใจว่า เรากำลังนั่งอยู่หน้าธรรมาศน์ที่อาจารย์พุทธทาสกำลังเทศนาสอนธรรม
คลิกอ่านได้เลยครับ:http://www.buddhadasa.com/zen/zen09.html
อ่านจบแล้วนะครับ?

ผม คิดเลยไปว่า อาจจะมีบางอย่างที่นิทานไม่ได้เล่าไว้ เช่น การ lecture เทคนิคการฟันดาบให้ศิษย์ฟัง แต่นิทานเรื่องนี้ต้องการเน้นเรื่อง การทำทุกสิ่งด้วยจิตที่ว่างจากความรู้สึก ‘ตัวกู - ของกู’ หรือ ‘อย่าอยู่อย่างอยาก’ จึงเล่าเน้นเฉพาะบทสนทนาระหว่างศิษย์กับอาจารย์ตอนเปิดเรื่อง และเหตุการณ์ตอนลูกศิษย์รับมืออาจารย์ในครัว

พูดถึงเรื่องรู้สึกใจ ร้อนตอนเรียนนี่นะครับ ผมว่ามันเป็นกันทุกคน ผมก็เป็นครับ จึงต้องมีสติกำกับ, อย่างเช่นช่วงเวลา 30 นาทีแต่ละวันที่ผมอุทิศให้กับการฟังภาษาอังกฤษจากเว็บ ผมจะพยายามให้สมาธิทั้งหมด 100 % กับการฟังเสียงและทำความเข้าใจเรื่องที่กำลังฟัง(บางทีหลับตาขณะฟังด้วยซ้ำ) ถ้าฟังไม่ค่อยรู้เรื่องและเริ่มจะหงุดหงิดหรือรำคาญตัวเอง ผมก็ต้องรีบเตือนตัวเองว่า: อย่าไปเสีย % ของสมาธิให้กับการหงุดหงิด, ทุ่มสมาธิทั้งก้อน 100 % ให้กับการฟังดีกว่า, การ ‘ไม่รู้เรื่อง’ ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่ได้เรื่อง’, และถ้าเราใจเย็น ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ มันก็จะค่อย ๆ รู้เรื่องมากขึ้นเอง, แต่ทั้งนี้จะต้องไม่แบ่งสมาธิไปให้กับความรู้สึกใจร้อน – หงุดหงิด – รำคาญ ซึ่งเป็นเรื่องไร้ประโยชน์

ผมหวังที่จะให้ผู้อ่านของผมทุกคนฟิตภาษาอังกฤษอย่างได้ผลและมีความสุข คือมีทั้งความพากเพียรและความพอใจ มีทั้งวิริยะและสันโดษ ในการเรียนภาษาอังกฤษ ในเมื่อการเรียนภาษาอังกฤษเป็นการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง เราก็ต้องอย่าเรียนอย่างใจร้อน หรืออย่าอยู่อย่างอยากนั่นเอง

บางท่านอาจจะบอกว่า ทำไมเราเรียนได้ช้าจัง แต่บางคนเขาเรียนได้เร็วจัง ผมขอบอกเหมือนเดิมว่า ให้ตั้งเป้าหมายที่ดีเอาไว้ และก็พยายามไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ต้องร้อนใจ – ไม่ต้องใจร้อน และ การที่คนเราเรียนได้เร็วช้าต่างกัน นอกจากเกิดจากความพยายามในปัจจุบันแล้ว มันก็คงจะเกิดจากกรรมเก่าในอดีตด้วย คำว่า ‘อดีต’ ในที่นี้ ก็รวมหมดเลยครับ ทั้งอดีตสมัยอยู่ชั้นอนุบาล-ประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย-เรียนจบแล้ว หรืออาจจะย้อนไปไกลถึงชาติที่แล้ว ถ้าในอดีตเราเคยฟิตไว้ดีปัจจุบันก็คงได้อานิสงส์ดีจากอดีตที่เราอุตส่าห์ เพียรไว้

แต่... แต่... แต่อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้วและ แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ทำในปัจจุบันนี่แหละครับให้มันดีและก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง เพราะเหตุดีย่อมนำไปสู่ผลที่ดี
ท่าน ผู้อ่านเคยเดินขึ้นภูกระดึงไหมครับ ผมเองอายุขนาดนี้แล้วเพิ่งเดินขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ระยะทาง 9 กิโลเมตร บางช่วงก็เดินสบาย แต่บางช่วงก็ขรุขระมาก ชันมาก ผมใช้เวลาเดินขึ้น(รวมเวลาพักกินข้าวกลางวันริมทางด้วย) ประมาณ 6 ชั่วโมง

ผมอยากจะเปรียบเทียบการฟิตภาษาอังกฤษเหมือนกับการเดินขึ้นภูกระดึง แน่นอนครับ มันไม่ใช่ของง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินความพยายาม บางคนมีเวลาแต่ก็ไม่กล้าไปเดินขึ้นภูกระดึงเพราะเคยได้ยินคนพูดไว้ว่าเส้น ทางโหดเลยไม่กล้าไปเดิน ส่วนบางคนที่ใจกล้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุเยอะแล้ว หลายคนใจร้อน เดินจ้วงเอา ๆ จะให้ถึงยอดภูเร็ว ๆ บางคนถึงขั้นเดี้ยงเดินไปไม่รอดต้องเดินกลับตีนดอย ส่วนบางคนก็เดินไปบ่นไป เมื่อไหร่จะถึงสักที ถ้าบ่นด้วยปากก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าบ่นด้วยใจก็ต้องถือว่าเป็นการเดินขึ้นภูที่ผิดวิธี

เพราะจริง ๆ แล้ว เมื่อเราไปเที่ยวภูกระดึง เราต้องพิชิตให้ได้ทั้งเส้นทางภายนอกและความสุขภายใน และภูกระดึงก็คือภูทั้งภู มิใช่เพียงยอดภูที่ปลายทาง เพราะฉะนั้นตั้งแต่ก้าวแรกที่เราออกเดินเราก็ถึงภูกระดึงแล้ว ถึงทีละน้อย ถึงทีละก้าว และความสุขจากการเดินภูก็มิใช่ได้รับเมื่อไปถึงยอดภูเท่านั้น แต่ล้วนมีอยู่ทั้งสองข้างทางที่ค่อย ๆ ก้าวเท้าเดินขึ้นไป ถ้าไม่รีบเกินไป ไม่ใจร้อนเกินไปก็จะเห็นว่า ดงไม้ป่าเขาตลอดเส้นทางก็ล้วนมีความงามให้ชื่นชม เราจึงได้รับทั้งความสำเร็จและความสุขทุกย่างก้าวของการเดินขึ้นภูกระดึง

การ เรียนภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกันครับ เราไม่ควรจะใจแคบมองความสำเร็จและความสุขเฉพาะเมื่อเราสามารถพูดได้คล่อง ปรื๋อเหมือนคนไทยที่ไปเกิดเมืองนอก, หรือสามารถเขียนได้คล่องเหมือนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ฝรั่ง เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถเรียนภาษาอังกฤษอย่างพากเพียร-ใจเย็น-และเป็นสุข ได้ทุกวัน และพบความสำเร็จที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน เช่นกัน
นี่เป็นวิธีเรียนภาษาอังกฤษที่ผมใช้ฝึกตัวเองและต้องการแบ่งปันกับท่านผู้อ่านทุกท่าน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘