วิชาการพูด 53

ทีเด็ดเกร็ดการพูด
ทีเด็ดเกรดการพูด
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิต
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
คำกลอนของบรมครูสุนทรภู่  ได้กล่าวถึงการพูดไว้ว่าพูดดีก็มีแต่คนรักคนชอบ  หากพูดไม่ดีก็มีแต่สร้างศรัตรูแถมไม่ได้ ประโยชน์อะไรเลยอีกต่างหาก  เรื่องของวาจานี่พลาดไม่ได้เลยนะคะ   ด้วยสายเลือกของบรรณารักษ์ที่เต็มเปี่ยม  หลังจากที่อาจารย์ได้มอบหมายงานดิฉันก็ตรงไปที่ร้านหนังสือเลือกนังสือมาพิจารณาหลายเล่มด้วยกัน ทีแรกกะจะ ดูแค่หัวข้อแล้วนำมาเขียนแล้วท่องซะงานจะได้เรียบร้อย  แต่หนังสือเล่มนี้แหละค่ะที่ทำให้ดิฉันเสียเวลาในการอ่าน ถึงครึ่งวันเพราะในเล่มนี้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในเรื่องของการพูดไปหมด  อ่านแล้ววางไม่ลงจริง ๆ ค่ะ หนังสือเล่มนี้แต่ง โดย คุณเสน่ห์  ศรีสุวรรณ และ คุณถาวร  โชติชื่น  ไม่รู้ว่าแต่งยังไงสำนวนคนคนเดียวกันแต่งเลยแยก  ไม่ออกเลยค่ะ  มีหัวข้อหนึ่งได้กล่าวถึงหัวข้อคุณสมบัตินักพูดที่สะดุดใจดิฉันมาก  หัวข้อนี้ก็คือ  "กึ๋นของนักพูด" พูดถึงคำว่า  "กึ๋น"  นี่ดิฉันนึกไปโน่นเลยนะคะ  อวัยวะย่อยอาหารของสัตว์ปีกส่วนใหญ่เป็นของเป็ดหรือไก่  แต่คำว่า  "กึ๋น"  ก็มีอีกความหมาย ที่ใช้ในการแสดงความรู้สึกในหลายโอกาสด้วยกัน  เช่นคนที่มีความสามารถทำอะไรได้หลายอย่างเรียกว่าเป็นมิสเตอร์  เอวิรี่ติง  นั้นเราก็เรียกว่า  "คนมีกึ๋น"  แหมลองให้ความหมายมาอย่างนี้แล้วกึ๋นของนักพูดก็คงหมายถึงนักพูดที่เก่งนั่นเอง  ในที่นี้ได้ให้ไว้ สี่ ข้อด้วยกันนั่นก็คือปากไว  ใจกล้า  หน้าด้าน  และ  ขยันพูด  จำง่ายมากเลยนะคะ
1. ปากไว  คำว่าปากไว ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่ด่าเก่ง แต่หมายถึงคนที่พูดจาคล่องแคล่ว  ฉะฉานมีไหวพริบ  ปฏิภาณที่ฉับไว  สามารถพูดโต้ตอบกับคนอื่นได้อย่างฉับพลันทันที  ถึงกระนั้นคำว่าปากไวไม่ได้หมายความว่า พูดมาเป็นชุด  จนผู้ฟังรับไม่ทัน ประเภทการขยับปากไวพอ ๆ กับการกระพือปีกของฮัมมิ่งเบิร์ด อันนั้นก็เกินไป เรียกว่าปากมากค่ะ ไม่ใช่ปากไว
การพูดตะกุกตะกัด ยิ่งไปกันใหญ่เลยนะคะเพราะผู้ฟังจะเกิดอารมณ์หงุดหงิดอย่างมาก  เพราะฟังแล้วมันไม่รื่นหู ตัวผู้พูด เองก็คงรู้สึกว่าพูดไม่ดีเท่าไหร่นัก "เอ้อ...ค่ะ  วันนี้ดิฉันจะเล่า...เล่าถึง...ถึงตัวเองให้ท่านผู้ชม เอ๊ย ผู้ฟังฟัง...คือ  คือ  แบบว่า  ดิฉันเกิดในเดือนมกราคม  อ้า  ขอโทษค่ะ  เดือนมีนาคม  ปี 2000 เอ๊ย  ไม่ใช่ ปี 8521  ค่ะ"
  เฮ้อ  เหนื่อยค่ะนักพูดปากอาชีพอย่างดิฉันพูดแล้วเหนื่อยนะคะพูดไม่ค่อยเป็นค่ะ  อย่างนี้  การพูดในลักษณะข้างต้นนั้น ขาดความพรั่งพรูค่ะ  การพูดที่ดีควรพูดให้ต่อเนื่องเหมือนกับน้ำตกที่ไหลพร่างพรูไม่ขาดสาย  แต่ถ้าพูดเหมือนที่ดิฉันยก ตัวอย่างข้างต้นนี่เหมือนน้ำประปาของมอชอ  ตอนซัมเมอร์มากกว่านะคะ ปากไวแต่ก็ต้องถูกต้องด้วยนะคะ  ลืมไม่ได้เลยการพูดผิดถึงจะเกิดจากความไม่เจตนาหรือไม่รู้ก็ตาม  เมื่อพูดออกไปแล้ว ลบล้างลำบากค่ะ  ไม่เหมือนกับการเขียน  ไม่พอใจก็ลบแล้วเขียนใหม่ได้  ทำยังไงจะปากไว  อันนี้ก็ต้องฝึกฝน  ฝึกทักษะในการใช้ความคิด  จะพูดทุกครั้งต้องเตรียมลำดับการคิด  ฝึกคิดบทพูดอยู่เสมอ  จะช่วยได้ส่วนหนึ่งค่ะ
2. ใจกล้า   ความกล้าก็คือ  ความเชื่อมั่นนั่นเอง  คนที่ขาดความกล้าย่อมไม่มีโอกาสในการฝึกฝนการพูด เพราะไม่กล้าขึ้นพูดสักทีแถมยังผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย
              "เอาไว้คราวหน้าละกัน วันนี้ไม่ว่าจริงๆ"
              "ตัวเองวันนี้เขาปวดหัวเข่าจริงๆ คงพูดไม่ได้หรอก"
              "คุณพี่ขาวันนี้คุณน้องเจอมีดบาดที่นิ้วก้อยข้างซ้าย  เจ็บมากเลย  พูดไม่ได้แล้วละ" หลากหลายคำแก้ตัวนี่ยกให้ผู้ที่เป็นทาสของความกลัว  แต่คนที่กล้า ๆ  กลัว ๆ  ก็มีนะคะที่ทำเป็นปากแข็งประเภทที่ว่า ไม่มีปัญหา "อะไรนะคะ  จะให้เจ้าพูด 3 ชั่วโมงหรือคะ  ได้ค่ะเจ้ทำได้  แหมคุณน้องขาน่าจะให้เจ้าพูดสัก 3 วันนะคะ  เจ้ว่า 3 ชั่วโมงเนี่ยน้อยไป"   อันนี้น่ากลัวค่ะ  เพราะไม่ได้ถามอะไรเลย   พอให้พูดจริง ๆ  แล้วจะกลาวเป็นท่าดีทีเหลวซะเปล่า ๆ  นะคะ ทุกคนคงเคยมีความรู้สึกตื่นเต้น เวลาที่ต้องพูดต่อหน้าสาธารณชนถ้าจะให้มีความกล้า อย่างแรกต้องให้กำลังใจ ตัวเองก่อนว่าเราทำได้  จากนั้นก็ต้องเตรียมให้พร้อม  เรียบเรียงความคิด  ประเด็นไหนก่อน  หลัง  คิให้เป็นกระบวนการ  จาก 1 ไป 2  และ 3  เป็นเหตุเป็นผลนะคะ  จากนั้นก็หายใจลึก ๆ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ  ช่วงสำคัญที่สุดก็คือ ช่วงก่อนที่จะ ขึ้นพูดนี่แหละค่ะ ถ้าทำใจสู้ได้ก็ไปได้ดี  เรียกว่าเริ่มต้นดีก็ไปได้ดีไงคะ แต่ไม่ขอแนะนำให้เพิ่มความกล้าด้วยการเพิ่ม แอลกอฮอล์ในเลือดนะคะ  เดี๋ยวจะกลายเป็นเลอะเทอะซะเปล่าๆ
3. หน้าด้าน  คำว่าหน้าด้านนี้อาจจะฟังแล้วแรงไปสักนิดนึง แต่โดยความหมายก็คือคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลวและ
อุปสรรคง่าย ๆ  การพูดต่อหน้าสาธารณชนนี่ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายแต่ต้องวงเล็บไว้นะคะว่าอย่าบ่อยนัก  พึงระลึกไว้ เสมอว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรผิด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย  ฉะนั้น คนที่ไม่เคยพูดผิดมาก่อนนั้นไม่มี  ยกเว้นคนใบ้  กรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้น บางครั้งที่เราพูดแล้วเกิดความล้มเหลวบางคนเกิดความขยาดไม่ยอมพูดนั่นก็ขาดกึ๋นของนักพูดนะคะ  นักพูดที่พีต้องหน้าด้านเป็น  วิเคราะห์ให้ได้ว่าความล้มเหลวนั้นเกิดจากอะไร และต้องถือว่าความผิดนั้นเป็นครู ครั้งต่อไปก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ยังไงก็ตามนักพูดที่ดีต้องหน้าด้านตามความเหมาะสม  ไม่ใช่ด้านไม่ดูตาม้าตาเรือ  ขนาดคนเขาโห่ให้ลงจากเวที ก็ไม่ลง  ยังไม่รู้ตัว  อันนั้นเรียกว่าประเภทหลงตัวเองและถ้าถึงขนาดต้องให้เพื่อน ๆ มาช่วยกันลากลงจากเวที อันนั้นก็เรียกว่า หน้าด้านเกินขอบเขต  แหม...แต่คนอย่างนี้หายากนหะยกเว้นในสภาค่ะ
4. ขยันพูด  คำว่าขยันพูดในที่นี้คงต้องมามองหาความหมายกันใหม่นะคะ  ขยันพูดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพูดครั้งละมาก ๆ  อันนั้นเรียกว่าพูดมาก  ขยันพูด  คือ การพูดอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ปล่อยให้ร้างจากการพูดในที่ชุมชนเป็นเวลานาน และประโยคต้องห้ามก็คือ  "ไม่เอาละขี้เกียจพูด"  ขนาดนึกจะพูดยังขี้เกียจนี่ก็คงเป็นนักพูดที่ดีไม่ได้แล้วนะคะ เมื่อคิดจะเป็น นักพูดแล้วก็ควรจะเป็นโรคจิตพิศวาสไมโครโฟนหรือเวทีหน่อย ๆ  เห็นแล้วอยากขึ้นไปพูดเพื่อทดสอบความมั่นใจ  แต่ไม่ต้อง ถึงกับขนาดบ้าไมโครโฟนหรือบ้าเวที  ขนาดคนอื่นจัดงานไม่ยอมบอกกล่าวเพราะว่าจะเจอท่านขึ้นพูด  คนที่ขยันพูดย่อม มีโอกาสในการที่จะเป็นนักพูดที่มีความสามารถในอนาคต  ส่วนขยายที่จะพูด  ย่อมเสียโอกาสนั้นไป  แถมจะต้องเป็น คนฟังตลอดไปอีกต่างหาก
สี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ นะคะ  แต่ก็ไม่เกินความสามารถของเราที่จะฝึกฝน หากเราฝึกหัดอยู่ สม่ำเสมอ เราจะสามารถเป็นนักพูดที่มีกึ๋นได้  มาฝึกฝนการเป็นนักพุดเถอะนะคะ  เพราะมีแต่ผลดี  ไม่มีผลเสียหรอกค่ะ   สวัสดีค่ะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘