วิชาการพูด 51

พูดได้พูดเป็น
เรียนอาจารย์ที่เคารพ สวัสดีค่ะเพื่อนๆทุกคน
 
อะไรเอ่ยอยู่ใต้จมูก เหนือคางระหว่างแก้ม  สิ่งนั้นก็คือ ปากปากเป็นอวัยวะที่ทำให้ใบหน้าของมนุษย์ไม่สมดุล เพราะมันไม่ได้อยู่เป็นคู่อย่างหูและตาแต่ก็โชคดีนะคะที่ปากอยู่ตรงกลางของใบหน้า จึงทำให้เราดูสวยและหล่ออย่างเพื่อน ๆ ใน sectionนี้
ดิฉันเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ผลจากการที่เค้าได้ทำการศึกษาและมีผลเป็นที่แน่นอนแล้วว่า เพศหญิงเรามีพัฒนาการ ทางปากมากกว่าเพศชายพูดง่าย ๆ ว่าผู้หญิงเราพูดไวมาตั้งแต่เกิด อันนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันใช่ไหมคะ คุณผู้หญิงทั้งหลาย แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นปากของใครก็ตามแต่ คำพูดที่ออกมาจากปากนั้นย่อมสามารถชี้อนาคตให้กับเจ้าของ ของมันได้อย่างแม่นยำกว่าคำพยากรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นเหมือนกับคนที่เราชอบเขาเพราะว่าเขาพูดเก่ง เราก็สามารถบอกได้เลยว่า เขาต้องประสบความสำเร็จด้านนี้แน่ ๆ อาจจะเป็นนักพูดเป็นฑูตหรือทำงานที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว
ทีนี้ลองย้อนกลับมาดูที่ตัวเราบ้างทุกคนมีปากปากทำให้เราทุกคนผลิตคำพูดได้แต่จะมีสักกี่คนล่ะคะที่พูดเป็นเวลาที่เราเห็น อ.จตุพลชมพูนิชโน้ต อุดมดร.เสรีวงมณฑาและนักพูดระดับแนวหน้าของเมืองไทยอีกหลายคนที่เรานึกชื่นชอบอยู่ในใจ แล้วเคยคิดไหมคะที่จะนำวิธีของพวกเขามาใช้พิชิต A กับวิชา 304 นี้ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่เราจะได้ A ยกห้องกันสักทีเหนึ่งให้ ตื่นตะลึงรับปี 2000
ได้มีคนให้ความหมายของการพูดไว้ว่า “การพูด คือ กระบวนการสื่อสารความคิดจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง โดยมีภาษาน้ำเสียง และอากัปกิริยาเป็นสื่อ”
หากทุกคนได้อ่านหนังสือ พูดได้พูดเป็น ของคุณทินวัฒน์  มฤคพิทักษ์ ฟังดูแล้วอาจจะยากนะคะ ต้องใช้ทั้งภาษาน้ำเสียง แล้วก็ยังต้องประกอบท่าทางอีกด้วย แต่เราทำให้มันเป็นเรื่องง่ายได้ค่ะ แค่อ่านหลักการพูดของเขาที่ได้นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิควิธีการพูดของใครก็ตาม แต่เราน่าจะลองจดจำมาเป็นคำพูดของเราเองจะทำให้จำง่าย ทำได้ และยังไม่น่าเบื่อ เรามาลองทำกันนะคะ
อย่างของดิฉันที่ได้อ่านของคุณทินวัฒน์  มฤคพิทักษ์อ่านตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ทำยังไงก็ทำไม่ได้อย่างเขา แต่ก็พอมี เทคนิคการจดจำหลักการพูดเบื้องต้นสำหรับนักพูดมือสมัครเล่นดังนี้ค่ะ
1. ต้องเป็นลูกคุณนายมั่นจิต  เราต้องมีความมั่นใจ คือ มั่นใจในเรื่องที่เราจะพูด มั่นใจในตัวเอง และมั่นใจว่า การพูดของเราต้องประสบความสำเร็จ ความมั่นใจเป็นยาที่ฆ่าความประหม่าได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเรามั่นใจการพูดของเรา ก็จะเปื่ยมไปด้วยพลังทำให้คนฟังเกิดความศรัทธา
2. เปิดฉากสะกิดคนฟัง  คือมีการใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ฟังสนใจฟังตั้งแต่วินาทีแรก เพื่อให้ต่อมทะยานอยาก ของผู้ฟังทำงานเกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากฟังมากขึ้น และที่สำคัญการขึ้นต้นที่ดีนั้นจะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเป็นมิตร มีทัศนะคติที่ดีต่อเรื่องที่เราจะนำเสนอ และสนใจฟังเราตั้งแต่เริ่มพูดจนเราพูดจบ
3. เนื้อหาหลั่งเหมือนเขื่อนแตก หมายถึงการนำเสนอเนื้อหาที่พรั่งพรูทั้งสาระความคิดเห็น ซึ่งจะประสบ ความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้พูดมีการเตรียมตัวมาดีนอกจากจะพูดได้พรั่งพรูลื่นไหลแล้วสิ่งที่เราควรคำนึงถึงก็คือ การใช้ภาษาที่  สุภาพไพเราะถูกอักขระไวยากรณ์และเหมาะสมกับกาลเทศะ
4. สอดแทรกอรรถรส  นี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการพูดแต่ละครั้งอารมณ์ขัน ตัวอย่าง และสิ่งสอดแทรก ต่าง ๆ จะเป็นเหมือนหม่อมถนัดศรีที่จะปรุงรสพจนาหารของเราให้เข้าหูคนฟังและเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณ ไหวพริบ การใช้ภาษา และสื่อให้รู้ว่าผู้พูดมีความสนใจผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน
5. มีคำบดให้แสบแปลบหัวใจ นั่นคือตอนจบของการพูดแต่ละครั้งจะสำเร็จได้อย่างสวยงาม ก็ต่อเมื่อผู้พูดจบ เรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจอาจจบด้วยคำคมคำกลอนหรือคำถามก็ได้เมื่อเราเริ่มต้นดี ดำเนินเรื่องราวมาได้ดี ดึงดูดผู้ฟัง ให้สนใจฟังมาตลอดดังนั้นการจบก็ควรสรุปจบอย่างดีด้วยการพูดในครั้งนั้นจึงจะกำชัยชนะ
อย่าลืมนะคะ 5 ข้อ ที่ควรกระทำต้องเป็นลูกคุณนายมั่นจิต เปิดฉากสะกิดคนฟัง เนื้อหาหลั่งเหมือนเขื่อนแตก สอดแทรกอรรถรส มีคำบดให้แสบแปลบหัวใจ นอกจากสิ่งที่พึงกระทำทั้ง 5 ข้อนี้แล้วก็ยังมีอีก 5 ข้อที่ควรหลีกเลี่ยงละเว้น หรือละทิ้งมันไปซะเพราะว่าไม่สมควรนำมาอยู่ในคำพูดของเราเลยแม้แต่น้อยข้อที่ควรละเว้นเหล่านั้น ก็คือ
1. ยกตนข่มท่านการพูดเรื่องของตัวเองมากเกินไป หรือพูดโอ้อวดโฆษณาไม่มีใครอยากฟังหรอกค่ะ
2. ยืน-นั่ง ยังสั่นทะเล่อทะล่าอาการหลุกหลิกตัวสั่นขาสั่นเดินไปมาเสียงเบา
จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจทำให้บุคลิกของเราเสียที่สำคัญ คนฟังไม่เชื่อถือฉะนั้นหากไปในที่ที่จัดให้มีเก้าอี้นั่ง จะนั่งก็นั่งด้วยความมั่นใจ จะยืนก็ยืนได้ด้วยความสง่า หลังไม่ค่อม แม้กระทั่งการใช้อุปกรณ์ประกอบ เช่น สไลด์ ภาพ การวาดบนกระดานก็ต้องใช้อุปกรณ์ด้วยความมั่นใจใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็นโดยการศึกษาวิธีใช้ก่อนที่จะพูด
3. อย่ากระแดะไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาที่ผิด ๆออกเสียงเพี้ยน ๆ เพื่อความโก้เก๋ ที่สำคัญควรใช้ภาษา ที่ฟังแล้วสื่อสารกันได้รู้เรื่อง มรรยาททางสังคมยังเป็นสิ่งที่เราควรยึดถือ ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นกันเองไปเสียหมด และควรระมัดระวัง การใช้ภาษาต่างประเทศอาจทำให้คนฟังหมั่นไส้ได้เช่นเราจะทักเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเราไม่สนิท Hello how are yor to d-a-y? ถ้าลากเสียงผิดจาก to day เป็นto die รับรองผู้พูดตายก่อนวัยอันควรแน่ ๆ 
4. อย่าค่อนแคะต่อสาธารณะเพราะถือว่าเป็นการนินทาซึ่งผิดมรรยาททางสังคม
ข้อสุดท้ายคือ 5.อย่าเตรียมตัวน้อย
ที่เสนอไปเป็นเพียงแค่แนวคิดของเด็กหญิงตัวน้อย ๆ เท่านั้น หากชอบใจวิธีของดิฉันละก็ ลองเอาไปปรับเปลี่ยนทดลอง ทำในสิ่งที่ดิฉันเสนอไปทำแล้วได้ผลอย่างไรใครได้ A บ้าง ก็อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘