วิชาการพูด 48

พูดอย่างไรให้ผู้ฟังไม่เบื่อ
เพื่อน ๆ เคยนึกเบื่อไหมคะที่ต้องทนนั่งฟังผู้พูดบางคนที่มีแต่สาระพรั่งพรูออกจากปากโดยไม่ได้ใยดีว่าสาระเหล่านั้น  ผู้ฟังจะเข้าในหรือได้ยินหรือไม่  ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายทอด  เนื้อหาหรือประเด็นที่หนักอึ้ง ดิฉันเป็นคนหนึ่งนะคะ ที่อยากจะวิ่งหนีหรือลุกเดินออกมาซะดื้อ ๆลำพังเนื้อหาอย่างเดียวล้วน  ไม่สามารถจูงใจดิฉันให้คล้อยตามได้หรอกนะคะ
มีนักพูดหลายคนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทภายใต้  "กรอบข้อมูล" ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับตัวเลข พวกเขาจะพูดตามโน้ตย่อ ที่เตรียมมาอย่างดี  และสนใจอย่างเดียวคือเนื้อหาสาระ แต่สิ่งที่เขามองข้ามไปและสำคัญที่สุดในการนำเสนอ  คือ  ผู้ฟังการพูด  การนำเสนอที่เปรียบเสมือนกับเสียงปรบมือ  มีใครปรบมือข้างเดียวดังบ้างล่ะคะ เมื่อการปรบมือต้องใช้มือทั้งสอง ข้าง  ก็เปรียบเสมือนการนำเสนอ คือต้องใช้ทั้งเนื้อหา  สาระ  และวิธีการถ่ายทอดเชื่อมโยงเนื้อหาสาระควบคู่กันไป  วันนี้  ดิฉันมีเคล็ดลับที่ไม่ลับในความสำเร็จในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระตามวิธีของสานี  อาเร ดอนโด มาบอก เพื่อที่เราจะได้ปรบ มือ ในใจดัง ๆ  และได้รับเสียงปรบมือที่ดังสนั่นกันนะคะ
องค์ประกอบก็มีอยู่ ๔ ประการง่าย ๆ  คือ
องค์ประกอบแรก  คือ  การคาดหวัง  ก่อนที่เพื่อน ๆ  จะมาพูดหรือเมื่อใดก็ตามที่ผู้ฟังเริ่มฟัง  พวกเขาต้องการทราบว่า  จะได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องอะไร  และนี่ก็เป็นภาระของผู้พูดที่ต้องเตรียมการมาอย่างดี ลองนึกดูซิคะว่า ถ้าหากหนังสือที่เรากำลัง อ่านอยู่ไม่มีสารบัญ  ไม่มีชื่อของแต่ละบท  ยิ่งไปกว่านั้น  แต่ละบทก็ไม่ชัดเจนว่ากล่าวถึงเรื่องอะไร  การอ่านหนังสือ เล่มนี้ก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก  งง หรือ หงุดหงิด ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ  ผู้ฟังก็คือผู้อ่าน ซึ่งต้องการแนวทางบ้างพอ สมควร  แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร  ผู้พูดก็ต้องการอารัมภบทหรือแจ้งวัตถุประสงค์นั่นเอง  ดังนั้น ก่อนพูดสิ่งที่ควร ตรวจสอบเสมอก็คือ โครงร่างเรื่องที่จะนำเสนอ  ตรวจสอบบุคลิก  หน้าตาที่จะปรากฎแก่ผู้ฟังและถามตัวเองเสมอว่า  ผู้ฟังเขาคาดหวังจะได้ฟัง  และได้เห็นอะไรบ้างจากการพูดของเรา
องค์ประกอบที่ ๒  คือ  การให้เกียรติ  "มนุษย์"  ทุกคนต้องการความสนใจ ผู้พูดก็ต้องแสดงความสนใจต่อผู้ฟัง ด้วยการ แสดงว่าเราให้เกียรติเขา  โดยเริ่มต้นจากรู้จักผู้ฟังว่าเป็นใคร  ซึ่งจะช่วยให้เข้าสู่การนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ยังเชื่อมตัวเราและเนื้อหาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างกลมกลืนด้วย
การพูดเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต้องยึดเอามุมมองของผู้ฟังเป็นหลัก  เราต้องทำการบ้านเพื่อศึกษาองค์ประกอบสำคัญ ๆ  ให้ชัดเจนก่อนเสมอ  และจากจุดนี้เราก็สามารถกำหนดประเด็นหลักที่ จะนำเสนอให้มีผลกระทบตรงหรือโดนใจผู้ฟังมาก ที่สุด  เมื่อไรก็ตามที่เรานำเสนอเนื้อหา  สาระที่มีความหมายต่อพวกเขา  นั่นก็คือเรากำลังทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีความมั่นใจ อยู่ไม่น้อย  ผู้ฟังเองก็จะรู้สึกว่าเขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากเรา  เมื่อเราอาทรผู้ฟังมากกว่าตัวเราเอง
องค์ประกอบที่ ๓ คือ  การมีส่วนร่วม  การมีส่วนร่วมของผู้ฟังเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยเมื่อไรก็ตาม  ที่ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการ นำเสนอด้วยก็เชื่อแน่ว่า  เขาไม่เพียงแต่จะฟังอย่างเดียวเท่านั้น  แต่เขาพร้อมที่จะมีการตอบสนองด้วยอย่างแน่นอน วิธีที่จะ ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับเราก็คือ
- วิธีแรก คือ  ถามคำถาม  การใช้คำถามเป็นเครื่องช่วยดึงให้ผู้ฟังตามติดกับผู้พูดได้ตลอดเวลา  ในการตอบก็ต้องเว้นช่วง เวลาให้ผู้ฟังได้คิดด้วย  ไม่ใช่ถามไปแล้วเร่งให้ผู้ฟัง  ตอบทันที    ผู้ฟังไม่ใช่คอมพิวเตอร์นี่คะ    ถามปุ๊บจะได้ตอบปั๊บ   นอกจากนี้ตัวคำถามเองก็ต้องเป็นคำถามเปิด  ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบเพียง  "ใช่"  หรือ  "ไม่ใช่"  เท่านั้น  คำถาม เปิดก็จะเป็นคำถามที่เริ่มด้วยคำว่า  ใคร  อะไร  ที่ไหน เมื่อไร  เป็นต้น
- วิธีที่ ๒  คือ  ให้ผู้ฟังลองระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง  เหตุการณ์นั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่คุ้นเคยกับผู้ฟัง  แล้วก็ควรเป็น เหตุการณ์ที่ร่วมสมัยและสมวัยกับผู้ฟังพอสมควร เช่น  กลุ่มผู้ฟังที่มีอายุช่วง ๒๐- ๒๕ ปี  เราคงไม่ยกเหตุการณ์  "ท่านผู้ฟัง จำได้ไหมคะ  สมัยที่กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี  สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒"  ถ้าแบบนี้ก็หมดกัน  ใครจะไปนึกออกใช่มั้ยคะ  คงต้องโทรศัพท์ไปถามคุณยายที่บ้านก่อนแล้วกระมัง
องค์ประกอบที่ ๔ คือการนำไปใช้  เราคงเคยพบกับตนเองกันแล้วนะคะว่า  สถานีวิทยุบางแห่งที่มีคนนิยมฟังมากเหลือเกิน  เพราะเนื้อหามีประโยชน์หรือมีความหมายต่อผู้ฟังโดยตรง และถ้าหากลองไปถามผู้ฟังเหล่านั้นว่าทำไมเขาฟังรายการจาก สถานีวิทยุแห่งนี้ ก็คงจะได้รับคำตอบคล้ายคลึงกันว่า  "เนื้อหาสาระของรายการนั้น ๆ  ตรงกับความต้องการของพวกเขา"  ผู้พูดต้องถามตัวเองด้วยนะคะว่า อะไรที่จะช่วยหว่านล้อมและทำให้ผู้ฟังสนใจเนื้อหาของการนำเสนอ?  หรือ อะไรจะช่วย กระตุ้นผู้ฟังตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของการนำเสนอ?  คำตอบก็คือ  "คุณค่า"  นั่นเองค่ะ เพราะเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่จะซื้อหาสิ่งใดก็ต่อเมื่อเขามองเห็นว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า  คุ้มแก่เงินที่ต้องจ่ายไป  ทำนองเดียวกันถ้าผู้ฟังเห็นว่า เนื้อหาสาระ ที่เขาได้ยินนั้น  มีคุณค่ามีความหมายต่อเขา  แน่นอนคะที่เขาก็จะรับเอาและปฏิบัติตามการเน้นให้ผู้ฟังมองเห็น  คุณค่าของเนื้อหาสาระ  ที่เรานำเสนอต่อพวกเขา  จะช่วยให้ผู้ฟังพร้อมที่จะฟัง  และรับเนื้อหาสาระของเรามากขึ้น
เห็นไหมคะไม่ยากเลยใช่ไหมคะแค่เรารู้จัก  การคาดหวัง การให้เกียรติ  การมีส่วนร่วม  และการนำไปใช้ ลองนำไป ประยุกต์ใช้ดูสิคะ  แล้วจะพบกับความมหัศจรรย์ว่ามันช่วยในการนำเสนอ  การพูดของเราน่าสนใจยิ่งขึ้น  หากผู้ที่จะ พูดไม่ว่ามีอาชีพอะไร หรือพูดเรื่องอะไร  หากใช้หลัก ๔ อย่างนี้แล้วล่ะก็รับรองคะ  ดิฉันจะไปนั่งฟังแถวหน้าแน่นอน  จองบัตรล่วงหน้าอีกต่างหากค่ะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘