วิชาการพูด 41

เสน่ห์ในการพูด
สำนวนที่ว่า “คารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง”เป็นสำนวนที่ยังใช้ได้เสมอแต่ดูเหมือนว่า ความหมายที่เราเข้าใจกันจะเป็นว่าเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีผู้หญิงเสียส่วนมากแต่ถ้ามองจริง ๆ จะรู้ว่าที่เราเข้าใจนั้นอาจจะดูแคบไปสักหน่อยและในที่นี้จะมองสำนวนนี้ให้กว้างออกไปอีกนิดคือหมายรวมเอาถึงการใช้คารมหรือคำพูดในสถานการณ์อื่นๆ  ที่นอกเหนือจากการเกี้ยวพาราสีผู้หญิงด้วย
มนุษย์เราเสน่ห์เมื่อแรกพบกันก็คือ รูปร่างหน้าตา แต่ว่าคนเราใช่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอันมีเสน่ห์ชวนมองเสมอทุกคนไปดังนั้นคนเราก็จะต้องพยายามสร้างเสน่ห์ในจุดอื่นให้กับตัวเอง และสิ่งที่เป็นเสน่ห์ต่อมาก็คือ“การพูดจา”เราเองสามารถที่จะสร้างเสน่ห์จากการพูดจาได้ไม่น้อยไปกว่ารูปลักษณ์ภายนอกเลย
ลักษณะการพูดแบบมีเสน่ห์จึงได้รับความสนใจและศึกษาจากผู้ที่ต้องการพูดเอง จุดประสงค์ในการโฆษณาตัวเอง แต่ก็ไม่ได้เสียหายเลยกลับเป็นการดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยากโฆษณาตัวเอง ที่จะนำไปใช้
หลักที่จะกล่าวต่อไปนี้ รวบรวมมาจากหนังสือที่มีชื่อเป็นไทยว่า “พูดลิงหลับ”ซึ่งเป็นงานเขียนของ ดอกเตอร์ไต้ชาวไต้หวันเป็นการพูดเพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะพูดต่อหน้าคนหมู่มาก เช่น การปราศรัย การบรรยายหรือแสดงปาฐกถา หรือไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์อื่นใดก็ตามในที่นี้สรุปได้ทั้งหมด 6 ข้อ ก็คือ
1. การอารัมภบท
ในการบรรยายหรือปราศรัยทั่วไปการกล่าวอารัมภบท จะเป็นเครื่องตัดสินว่าจะเรียกความสนใจของผู้ฟังและกลายเป็นความดึงดูดใจ และยังช่วยขจัดบรรยากาศที่ “แปลกหน้า”หรือความไม่คุ้นเคยระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เป็นการย่นระยะห่างระหว่างทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดกว่าเดิมในช่วงอารัมภบทจะต้องพยายามเรียกเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือจากผู้ฟังให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วไม่ถือว่าเป็นนักพูดมืออาชีพ
2. การมีอารมณ์สุนทรีย์และคำพูดติดตลก
นักจิตวิทยาชื่อก้อง “ซิกมันด์ ฟรอยด์”บอกว่า “คนเรามีแนวโน้มแสวงหา สุนทรีย์นิยม ชื่นชมต่อบุคคลเรื่องราว และสิ่งของที่สร้างความสุขสันต์ สวยงามและหรรษา ระหว่างการสื่อสารทางถ้อยคำคำพูดที่แฝงอารมณ์ขัน และคำสัพยอกที่ไม่หลู่เกียรติจะสร้างความประทับใจเป็นพิเศษ”ลองดูสิครับเมื่อเราพูด เมื่อผู้ฟังเต็มใจที่จะฟังเราพูดแล้วคงไม่มีใครปฏิเสธที่จะยิ้มเวลาพูดติดตลกหรอกจริงไหม
3. จดจำชื่อและเรื่องราวของผู้ฟังให้ได้
ไม่ว่าใครก็ตาม “ชื่อ”เป็นเสียงที่ไพเราะที่สุด ทุกคนภาคภูมิใจในชื่อของตัวเองเราจะดีใจหรือว่ามีความรู้สึกดีเสมอที่มีคนจำชื่อเราได้เพราะนั่นแสดงว่าผู้พูดให้ความสนใจในตัวเรา และนอกจากจะต้องจดจำชื่อ เรื่องราวให้ถูกต้องแล้วยังต้องเรียกขานหรือใช้ในจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยมีผู้กล่าวว่า การจำชื่อสกุลของผู้อื่นได้เป็นวิธีสร้างความรู้สึกที่ดีได้ง่ายที่สุด
4. การเปิดเผยจุดด่างเล็กน้อยของตน
การเปิดเผยจุดด่างเล็กน้อยของตน เป็นการเพิ่มพูนภาพลักษณ์ความ “สมบูรณ์พร้อมอย่างมีตำหนิ”เพราะคนที่เก่งหรือว่าสมบูรณ์พร้อม ถ้ายอมเปิดเผย “จุดด่างความเป็นมนุษย์”ออกมาจะน่านิยมกว่าผู้ที่สมบูรณ์พร้อมไร้ที่ติทำให้ดูสูงจนสุดเอื้อม อย่างเช่น ถ้าหากรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกทีวีรายการสดแต่บังเอิญพูดผิดจนหน้าแดง หรือนายกชวนลื่นล้มในห้องน้ำจนหัวแตกอาจเป็นเหตุให้คุณผู้หญิงทั้งหลาย คลั่งไคล้ในตัวท่านทั้งสองมากขึ้น เพราะว่ายังไงท่านทั้งสองก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นธรรมดาเหมือนกับพวกเราเช่นกัน
5. ไม่ใช้คำพูดต้องห้ามและการเปลี่ยนปมด้อยให้เป็นคำชม
คำพูดต้องห้ามอย่างเช่น คำสบถสาบาน คำพูดเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์และกายภาพคำพูดเยาะเย้ยถากถางและคำพูดเปิดโปงตัวเอง เป็นต้น หรือคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ควรหลีกเลี่ยง
การเปลี่ยนปมด้อยของผู้ฟังให้เป็นคำชมนอกจากจะไม่เป็นการทำร้ายน้ำใจของผู้อื่นแล้ว ยังทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้นอีกด้วยเช่น คนตัวเล็กควรพูดว่า สันทัดทะมัดทะแมง หรือเห็นคนอ้วนกว่าเดิมจะพูดว่า สมบูรณ์พูนสุข อยู่ดีกินดี หรือไม่ก็ราศีเถ้าแก่จับอะไรทำนองนี้จะฟังดูดีขึ้นเยอะ
6. อย่าเป่าลมให้ตัวเองพองขึ้น
ตามหลักจิตวิทยา “ทฤษฎีเรียกร้องขั้นพื้นฐาน”แต่ละคนตั้งเกณฑ์เรียกร้องต่อเกียรติและศักดิ์ศรีไม่เท่ากันมีคนมากมายต้องการให้คนอ่นชื่นชมความสามารถและความสำเร็จของตัวเอง จึงประโคมอวดอ้างจุดเด่น ปมเขื่องบางอย่างเพื่อเสริมคุณค่าของตัวเอง หรือทำให้คนอื่นยอมรับและยกย่องแต่ถ้าบางครั้งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองลมที่พองอยู่อาจถูกปล่อยออกมาได้เหมือนกันฉะนั้นการพูดสื่อสารกับคนอื่น พยายามใช้ถ้อยคำเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการอัดลมให้ตัวเองพองขึ้นผู้อื่นจะได้ไม่เกิดความรู้สึกว่า “คุยโม้มากไป”
ที่กล่าวมาทั้งหมด 6 ข้อคือ
1. อารัมภบทแปลก ๆ เรียความสนใจ
2. มีอารมณ์สุนทรีย์พูดติดตลก
3. จดจำชื่อเรื่องราวของผู้ฟังให้ได้
4. การเปิดเผยจุดด่างเล็กน้อยของตน
5. ไม่ใช้คำพูดต้องห้าม
6. อย่าอัดลมให้ตัวเองพองขึ้น
ทั้ง 6 ข้อ เมื่อวิเคราะห์ทางจิตวิทยาแล้ว นับว่าใช้ได้ผลกับการพูดและก่อให้เกิดเสน่ห์กับผู้พูดได้อย่างดีทีเดียว เชื่อว่านักพูดทุกคนต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้ฟัง ต้องการที่จะให้ผู้ฟังสนใจทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะนำหนักนี้ไปปฏิบัติและปรับปรุงการพูดตัวเอง เพราะแต่ละข้อจะเปรียบได้เหมือนส่วนผสมในการปรุงยา เมื่อรวมจนครบทุกส่วนผสมแล้วเราก็จะได้ยาเสน่ห์การพูดที่ให้ผลดีอย่างน่าอัศจรรย์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘